กรุงเทพฯ--3 พ.ย.--อพวช.
อพวช. จับมือองค์กรทั้งในและต่างประเทศ เชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงจัดสัมมนาและบรรยายพิเศษ ภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี พ.ย. นี้
นายสาคร ชนะไพฑูรย์ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กำหนดจัดงาน "มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ" ประจำปี 2558 ขึ้น ในระหว่างวันที่ 14 - 25 พฤศจิกายน 2558 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยที่ อพวช. เป็นกำลังหลักสำคัญในการดำเนินการจัดงานครั้งนี้ ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่จะได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังได้รับความสนใจจาก 16 องค์กรจากต่างประเทศเข้าร่วมจัดงานในครั้งนี้อีกด้วย และเพื่อให้เยาวชนและประชาชนคนไทยได้รับประโยชน์สูงสุด อพวช. จึงได้ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ เชิญผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงจากต่างแดนจัดสัมมนาและบรรยายพิเศษขึ้นถึง 3 หัวข้อด้วยกัน ดังนี้
1. การสัมมนาวิชาการเรื่อง "ความหลากหลายของสัตว์ทะเลไทยและเกาะฮอกไกโด กับการถ่ายภาพใต้ทะเล" ในวันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายน 2558 เวลา 10.00 – 13.00 น. ณ ห้องจูปิเตอร์ 11 อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งเป็นความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยฮอกไกโด (Hokkaido University) ประเทศญี่ปุ่น และมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ทะเลของไทยและเกาะฮอกไกโด พร้อมทั้งเรียนรู้เทคนิคการถ่ายภาพใต้น้ำ โดยมีคณะผู้เชี่ยวชาญและวิทยากรที่มีชื่อเสียง อาทิ ศาสตราจารย์ มะโมรุ ยาเบะ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การประมงแห่งเมืองฮาโกดะเตะ ประเทศญี่ปุ่น, ดร.ทาคาชิ ทานิ คณะวิทยาศาสตร์การประมง มหาวิทยาลัยฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น, ศาสตราจารย์ ดร.พิชัย สนแจ้ง คณะเทคโนโลยีทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี และอาจารย์สหรัฐ ธีระคัมพร คณะเทคโนโลยีทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี
ซึ่งภายหลังการสัมมนายังจัดให้มีพิธีเปิดนิทรรศการ "สัตว์ทะเลและภาพถ่ายใต้ทะเลของเกาะฮอกไกโด และทะเลไทย" โดยนายสาคร ชนะไพฑูรย์ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ อพวช. และศาสตราจารย์ มิตซุฮิโระ นาคะงาวะ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์แห่งมหาวิทยาลัยฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย
2. การบรรยายพิเศษเรื่อง "ใช้ชีวิตแบบนักวิทย์" (Life as a scientist) ในวันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2558 เวลา 10.00 – 12.00 น. ณ ห้องจูปิเตอร์ 13 อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องกระบวนการคิดและใช้ชีวิตแบบนักวิทยาศาสตร์ให้กับเยาวชน อันจะนำไปสู่การปลูกฝังจิตสำนึกและสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ให้กับอนาคตของประเทศชาติต่อไป ผ่านการบอกเล่าแลกเปลี่ยนประสบการณ์จาก Dr. Geraldine Richmond ผู้แทนด้านวิทยาศาสตร์สหรัฐอเมริกา (U.S. Science Envoy) กลุ่มประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขง กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
3. การสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง "STEM Education : Informal Learning Experiences" ในระหว่างวันที่ 19 - 23 พฤศจิกายน 2558 ณ ห้องจูปิเตอร์ 12 อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง อพวช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับสำนักงานที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศสหรัฐอเมริกา สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลีย ประจำประเทศไทย และหน่วยงานเครือข่ายระหว่างประเทศ ที่เล็งเห็นความสำคัญของการเรียนรู้แบบบูรณาการองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรม หรือที่เรียกว่า STEM Education ซึ่งเป็นแนวทางการเรียนรู้วิทยาศาสตร์รูปแบบใหม่ที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อเตรียมความพร้อมและสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องการเรียนรู้แบบบูรณาการ STEM Education โดยการสัมมนาเน้นการบรรยายด้านนโยบายการศึกษาและการเรียนรู้ตามอัธยาศัยผ่านการจัดกิจกรรมและนิทรรศการ ให้กับกลุ่มบริหารและผู้ปฏิบัติงานด้านนโยบายการศึกษาและการสื่อสารวิทยาศาสตร์สู่สังคมไทย อันจะนำไปสู่แนวทางการเรียนรู้วิทยาศาสตร์รูปแบบใหม่ และส่งเสริมให้เกิดการนำความรู้ไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันต่อไปได้อีกด้วย
โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงเฉพาะด้านจากต่างประเทศมาบรรยายให้ฟังในครั้งนี้ ดังนี้
· วันที่ 19 - 20 พฤศจิกายน 2558 โดย Mr. Christofer Nelson Director of Content, USA Science & Engineering Festival ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดกิจกรรมในรูปแบบของงานแสดงมหกรรมทางวิทยาศาสตร์และการศึกษาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดงานหนึ่งของประเทศสหรัฐอเมริกา
· วันที่ 21 - 23 พฤศจิกายน 2558 โดย Dr.Stuart Kohlhagen PSM General Manager, Strategy and Partnerships ของศูนย์วิทยาศาสตร์ Questacon-The National Science and Technology Centre และ ประธานเครือข่าย The Australian Science and Technology Exhibitions Network (ASTEN) ประเทศออสเตรเลีย
ทั้งนี้ การสัมมนาและการบรรยายพิเศษทั้งสามหัวข้อ จะมีการแปลสรุปเป็นภาษาไทยตลอดการบรรยาย ผู้สนใจสามารถเข้ารับฟังได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมและดาวน์โหลดแบบตอบรับเพื่อจองสิทธิ์ก่อนใครได้ที่ www.nsm.or.th/nstf2015 หรือสอบถามไปที่องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ โทร. 0 2577 9999 ต่อ 1473ใ
สื่อมวลชนสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ โทร 0-2577-9999