กรุงเทพฯ--3 พ.ย.--สคร.12 สงขลา
สคร.12 สงขลา คว้ารางวัลนวัตกรรมที่เป็นเลิศระดับดี "การพัฒนาระบบออกเอกสารรับรองการให้บริการฉีดวัคซีนผ่านระบบออนไลน์แก่ผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์" ในการประชุมวิชาการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ปี 58
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา (สคร.12 สงขลา) เข้ารับรางวัลผลงานวิชาการนวัตกรรมที่เป็นเลิศระดับดี ประจำปีงบประมาณ 2558 เรื่อง การพัฒนาระบบออกเอกสารรับรองการให้บริการฉีดวัคซีนผ่านระบบออนไลน์แก่ผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) โดย นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้มอบรางวัล ณ ห้งประชุมสโมสรกองทัพเรือ กรุงเทพมหานคร
ดร.นายแพทย์สุวิช ธรรมปาโล กล่าวว่า เนื่องจากการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ณ นครเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบียเป็นกิจกรรมที่สำคัญของชาวไทยมุสลิม ในประเทศไทยจะมีชาวมุสลิมจำนวน 12,000 คน เดินทางไปเพื่อทำกิจกรรมดังกล่าวทุกปี ซึ่งก่อนเดินทาง กรมควบคุมโรค กรมศาสนา และประเทศซาอุดิอาระเบียได้มีข้อกำหนดด้านสุขภาพที่สำคัญคือผู้เดินทางทุกคนต้องได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่นและโรคไข้หวัดใหญ่ และจะต้องบันทึกข้อมูลลงในสมุดเหลือง (สมุดรับรองการได้รับวัคซีน) ที่ออกโดยกรมควบคุมโรค ซึ่งที่ผ่านมาการลงบันทึกต้องใช้วิธีการเขียนด้วยลายมือเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้ไม่ได้มาตรฐาน อ่านยาก โอกาสผิดพลาดสูงมากข้อมูลที่ต้องบันทึกมีจำนวน 18 รายการได้แก่ ชื่อ-สกุล ที่อยู่ ชนิดของวัคซีน วันรับบริการ วันหมดอายุ ฯ
ระบบฐานข้อมูลเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนระหว่างประเทศมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศการรับรองการรับวัคซีนผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ซึ่งจะทำให้ประชาชนที่มารับบริการวัคซีนได้รับบริการที่มีมาตรฐาน ลดภาระเจ้าหน้าที่ และสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์และนำไปสู่การวางแผนการใช้วัคซีนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในส่วนของขั้นตอนการดำเนินการเริ่มโดยการประสานขอรายชื่อผู้เดินทางฯ จากกรมศาสนา ซึ่งจะมีอยู่แล้วในระบบข้อมูลประกอบด้วยหมายเลขบัตรประชาชน 13 หลัก ชื่อ-สกุล ที่อยู่ หมายเลขหนังสือเดินทาง เชื่อมโยงกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่จัดทำขึ้น ซึ่งจะมีรายละเอียดชนิดของวัคซีน Lot.number วันรับวัคซีน วัน Certificate valid วันหมดอายุ อยู่แล้ว เมื่อประชาชนมารับบริการวัคซีน ก็จะตรวจสอบข้อมูล ให้บริการวัคซีน และพิมพ์หมายเลขบัตรประชาชนลงไปในระบบเพียงอย่างเดียวข้อมูลทั้งหมดก็จะปรากฏขึ้น ผู้รับผิดชอบตรวจสอบข้อมูลและสั่งพิมพ์ ผู้ให้บริการเซ็นชื่อ ประทับตรา ผู้รับบริการเซ็นชื่อในสมุด เป็นอันจบกระบวนการ
และหลังจากได้บันทึกข้อมูลผู้รับบริการเรียบร้อยแล้ว ได้ดำเนินการตรวจสอบการบันทึกข้อมูลในสมุดเหลือง จำนวน 564 เล่ม ไม่พบข้อผิดพลาดในแต่ละรายการ การประเมินความพึงพอใจของผู้รับผิดชอบงานระดับจังหวัดโดยการสัมภาษณ์ พบว่า พึงพอใจมาก ที่สามารถการลดเวลาและภาระงาน จากระบบเดิมที่ต้องบันทึกโดยเจ้าหน้าที่ ที่มีประสบการณ์ใช้เวลาเล่มละ 10 นาที มีสมุดเหลืองผิดพลาดที่ต้องทำลายประมาณร้อยละ 15.0 ซึ่งต้องขออนุมัติในการทำลาย เนื่องจากเป็นเอกสารราชการ บางโรงพยาบาลต้องลงบันทึกวันละ 200 เล่ม เจ้าหน้าที่รู้สึกเหนื่อยล้าเนื่องจากต้องใช้สมาธิในการเขียนมาก สำหรับวิธีการนี้พบว่า ใช้เวลาเพียงเล่มละ 1-2 นาที สามารถให้ผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ดำเนินการด้วยตนเองได้รูปเล่มที่ออกมาได้มาตรฐาน สามารถเชื่อมโยงข้อมูลวัคซีนระดับจังหวัด/เขต ได้ ข้อมูลที่ได้สามารถนำมาวิเคราะห์ใช้ประโยชน์ในการดำเนินงานต่อไป
ดร.นายแพทย์สุวิช ธรรมปาโล กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางในการดำเนินการพัฒนาโปรแกรมระบบฐานข้อมูลเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนระหว่างประเทศควรมีการเพิ่มชนิดของวัคซีนสำหรับผู้เดินทางไปต่างประเทศให้ครอบคลุมทั้งหมดในระบบข้อมูล เช่น ไข้เหลือง อหิวาตกโรค เพื่อให้ได้การบันทึกเอกสารที่เป็นมาตรฐานของประเทศไทย และ ควรขยายผลไปใช้กับหน่วยงานที่ทำหน้าที่ออกสมุดรับรองการให้บริการวัคซีนผู้เดินทางไปต่างประเทศทุกหน่วยงานหากหน่วยงานใดต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อนำไปใช้ประโยชน์สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา โทรศัพท์ 074-336079-80 ต่อ 17.
ข่าวโดย อรรฆวรรณ สุขคล้าย
นักประชาสัมพันธ์
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา
โทรศัพท์ 0-7433-6079-81 ต่อ 29
อีเมล akawan.s12@gmail.com