กรุงเทพฯ--4 พ.ย.--กองเกษตรสารนิเทศ กระทรวงเกษตรและสกรณ์
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในโอกาสเป็นประธานและสักขีพยาน พิธีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการประสานความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินผ่านกิจการสหกรณ์ ระหว่าง 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ณ ห้องแคทลียา โรงแรมรามาการ์เด้นส์ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ ว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจ ของ 3 หน่วยงานในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เล็งเห็นถึงความสำคัญของหน่วยงานที่จะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินผ่านกิจการสหกรณ์ ซึ่งก็คือ กรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เนื่องจากเงินที่นำมาผ่านกระบวนการฟอกเงินมักเป็นเงินที่ได้มาจากอาชญากรรมร้ายแรง การก่อการร้ายข้ามชาติ หรือการทุจริต และเงินที่ผ่านการฟอกเงินแล้วอาจจะกลับไปสู่วงจรของการทุจริตอีก ดังนั้น หากระบบการเงินยังมีช่องโหว่ในการฟอกเงินก็จะกลายเป็นการเอื้อต่อวงจรทุจริตที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศการฟอกเงินจึงถือว่าเป็นความผิดทางอาญาที่ร้ายแรงและการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจังถือเป็นการตอบสนองนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องการกำจัดการทุจริตในทุกรูปแบบ
"การลงนามในครั้งนี้จะส่งผลให้มีการประสานความร่วมมือใน 3 ด้าน ได้แก่ 1) การให้ความร่วมมือซึ่งกันและกันในการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่สนับสนุนการทำงานของทั้ง 3 หน่วยงาน ตลอดจนสนับสนุนซึ่งกันและกันในด้านวิชาการ สถานที่ วัสดุอุปกรณ์ หรือการดำเนินการอื่นใดตามที่หน่วยงานร้องขอ 2) ให้การสนับสนุนนโยบายด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย 3) ร่วมมือกันตามสมควรในการพัฒนาบุคลากรของทั้ง 3 หน่วยงาน รวมถึงบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง"พลเอกฉัตรชัย กล่าว
"สหกรณ์ถือเป็นหนึ่งกลไกสำคัญในระบบสถาบันการเงิน โดยเฉพาะสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์อื่น ๆ ที่มีมูลค่าหุ้นตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป และมีการดำเนินการเกี่ยวกับการเงิน ทั้งการให้กู้การรับฝากเงิน การรับจำนองหรือรับจำนำทรัพย์สิน หรือจัดให้ได้มาซึ่งเงินและทรัพย์สินต่าง ๆ จำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน โดยต้องรายงานการทำธุรกรรมตามที่กฎหมายกำหนด คือ (1) ธุรกรรมที่ใช้เงินสดตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป หรือ (2) ธุรกรรมที่เกี่ยวกับทรัพย์สินมีมูลค่าทรัพย์สินตั้งแต่ห้าล้านบาทขึ้นไป และ (3) ธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยอื่น ๆ
ดังนั้น เพื่อป้องกันมิให้สหกรณ์กลายเป็นช่องทางการฟอกเงิน อันเป็นบ่อเกิดของการทุจริตและการทำผิดกฎหมายในเรื่องอื่น ๆ และป้องกันมิให้สมาชิกของสหกรณ์เป็นเหยื่อของความเสียหายจากการฟอกเงินที่อาจเกิดขึ้นกับสหกรณ์ สหกรณ์ต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลสหกรณ์ โดยได้เน้นย้ำกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ต้องเข้มงวดในการตรวจสอบโดยยึดมาตรฐานสากลของสถาบันการเงินอย่างเข้มข้น รวมถึงการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของสหกรณ์ การประเมินความเสี่ยงของสหกรณ์ในการปฏิบัติตามกฎหมายการฟอกเงินและการสนับสนุนแก่การก่อการร้าย และการประสานข้อมูล ตามที่หน่วยงานทั้งสามได้ตกลงกันไว้
อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติตามบันทึกความเข้าใจในวันนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในทุกระดับ ทั้งมิให้สมาชิกสหกรณ์ต้องรับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการฟอกเงิน ทั้งเพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่สหกรณ์ในฐานะสถาบันการเงินที่ต้องให้บริการแก่สาธารณะ ทั้งเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการกำจัดการทุจริตและการกระทำผิดกฎหมายและทั้งเพื่อรักษาประโยชน์ของประเทศในการประกอบการค้าและการลงทุนในระดับสากล.