กรุงเทพฯ--4 พ.ย.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผย ผลการศึกษาระบบโลจิสติกส์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 58 เส้นทางการค้าชายแดนไทย – เมียนมาร์ ผ่านด่านชายแดนแม่สอด-เมียวดี ระบุ ต้นทุนค่าขนส่ง แพงสุด เฉลี่ยร้อยละ 63 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด แจง ผู้ประกอบการนำเข้า ต้องการให้ภาครัฐปรับช่วงเวลานำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้สอดคล้องกับช่วงเวลาที่ผลผลิตเมียนมาร์ออกสู่ตลาด
นายคนิต ลิขิตวิทยาวุฒิ รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการศึกษาระบบโลจิสติกส์ การนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2558 เส้นทางการนำเข้าจากเมียนมาร์ผ่านด่านชายแดนแม่สอด–เมียวดี ภายใต้กรอบการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) อัตราภาษีนำเข้า 0% ในปี 2558 โดยได้ศึกษาเส้นทางการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตั้งแต่ผู้รวบรวมของเมียนมาร์ การขนส่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์โดยรถบรรทุกมายังริมฝั่งแม่น้ำเมยเป็นระยะทาง 8 - 15 กิโลเมตร เพื่อลงเรือข้ามแม่น้ำเมยจากฝั่งเมียนมาร์มายังฝั่งไทย และส่งต่อให้ผู้รวบรวม (พ่อค้า) และกลุ่มสหกรณ์ในพื้นที่จังหวัดตาก เป็นระยะทาง 4 - 20 กิโลเมตร ไปยังผู้รวบรวม โรงงานอาหารสัตว์ กลุ่มสหกรณ์ และผู้เลี้ยงสัตว์ในประเทศ ระยะทาง 450 - 600 กิโลเมตร
จากการศึกษาพบว่า ต้นทุนโลจิสติกส์มีค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมด 2.21 - 2.89 บาทต่อกิโลกรัม เป็นต้นทุนค่าขนส่ง 1.36 - 1.87 บาทต่อกิโลกรัม คิดเป็นเฉลี่ยร้อยละ 63 ต้นทุนการบริหารจัดการ 0.65 - 0.72 บาทต่อกิโลกรัม คิดเป็นเฉลี่ยร้อยละ 27 และต้นทุนค่าบริหารคลังสินค้า 0.20 - 0.30 บาทต่อกิโลกรัม คิดเป็นเฉลี่ยร้อยละ 10 ของต้นทุนโลจิสติกส์ทั้งหมด
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าต้นทุนค่าขนส่งมีค่าใช้จ่ายสูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนอื่นๆ เนื่องจากปัญหาเส้นทางและระยะทางรวมทั้งพาหนะที่ใช้ในการขนส่งมีไม่เพียงพอ นอกจากนี้สถานที่เปลี่ยนถ่ายสินค้าเพื่อรองรับสินค้ายังไม่มีความพร้อมทำให้ค่าใช้จ่ายแรงงานแบกขนสินค้าเพิ่มขึ้น
สำหรับปัญหาอุปสรรคทางการค้าในเรื่องระยะเวลานำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผู้ประกอบการค้าขอให้ภาครัฐพิจารณาปรับช่วงเวลานำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากกำหนดเดิมตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ - 31 สิงหาคม ให้เป็นวันที่ 1 มกราคม - 31 สิงหาคม ของทุกปี เพื่อให้สอดคล้องกับช่วงเวลาที่ผลผลิตฝั่งเมียนมาร์ออกสู่ตลาด และลดปัญหาด้านคุณภาพของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รองเลขาธิการ กล่าวในที่สุด