กรุงเทพฯ--4 พ.ย.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 11 ร่วมเดินหน้าแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลและผลกระทบจากการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำ เตรียมบูรณาการร่วม ศึกษาผลกระทบทั้ง 6 ด้าน หวังแก้ไขปัญหาอย่างยืน ทั้งด้านการเกษตร พลังงาน การท่องเที่ยว และวิถีชีวิตของประชาชน
นายไพฑูรย์ สีลาพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 11 จังหวัดอุบลราชธานี (สศท.11) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการร่วมติดตามการดำเนินงานคณะทำงานติดตามประเมินผลการเปิด-ปิด ประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล ซึ่งโดยสภาพทั่วไปของพื้นที่ริมแม่น้ำมูล มี 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง วารินชำราบ สว่างวีระวงค์ พิบูลย์มังสาหาร ดอนมดแดง ตาลสุม สิรินธร และโขงเจียม และที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล ส่งผลให้ตลิ่งริมแม่น้ำมูลพังเสียหายในหลายพื้นที่ ระบบนิเวศในแม่น้ำมูลและ ลำห้วยสาขาเสียสมดุล
นอกจากนี้ ยังพบว่า ด้านเศรษฐกิจจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรมนั้นลดลง การผลิตน้ำประปาเพื่อการอุปโภคบริโภคแก่ประชาชนที่อาศัยลำน้ำมูลและลำน้ำสาขาไม่สามารถสูบน้ำดิบจากลำน้ำมูลเพื่อผลิตน้ำประปาได้ การแล่นเรือและการสัญจรทางน้ำของประชาชนมีสิ่งกีดขวางทางเดินเรือ โดยการปิดประตูระบายน้ำ ส่งผลกระทบ ต่อแหล่งท่องเที่ยวในลำน้ำมูล คือ แก่งต่างๆ (แก่งสะพือ แก่งไก่เขีย แก่งคันลืม แก่งดอนเลี้ยว แก่งยาว) ซึ่งอยู่ตามลำน้ำมูลเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญถูกน้ำท่วม
ดังนั้น คณะทำงานติดตามประเมินผลการเปิดและปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล จึงได้เตรียมการ ศึกษา รวบรวม ตรวจสอบ และสังเคราะห์ข้อมูลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง 6 ด้านเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ได้แก่ 1) ด้านการเกษตร เช่น ปัญหาผลกระทบต่อสถานีสูบน้ำ การขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร เป็นต้น 2) ด้านประมง เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับการอพยพของปลา การจับปลาหรือสัตว์น้ำของชาวประมง มูลค่าทางเศรษฐกิจของการจับปลา การเลี้ยงปลาในกระชัง 3) ด้านการท่องเที่ยว ได้แก่ ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนนักท่องเที่ยวในพื้นที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนปากมูล มูลค่าทางเศรษฐกิจของการท่องเที่ยวในช่วงการเปิดและการปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล 4) ด้านพลังงานข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตกระแสไฟฟ้าของเขื่อนปากมูลการใช้กระแสไฟฟ้าของประชาชน 5) ด้านวิถีชีวิตของประชาชน และระบบนิเวศ ข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นอยู่ และ 6) ด้านผู้ใช้น้ำ ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้น้ำในแม่น้ำมูล สำหรับการผลิตน้ำประปาของทั้งการประปาส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งหน่วยงานราชการอื่นๆ ตลอดจนผลกระทบข้องผู้ใช้น้ำประปา เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ยังไม่ได้เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลจนสุดบาน ทั้ง 8 บาน เนื่องจากจังหวัดอุบลราชธานียังเกรงปัญหาผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง และจากสภาพแวดล้อมของลำน้ำที่มี เกาะ แก่ง วัดบนเกาะ ที่สวยงามหลายแห่งมีทิวทัศน์ตามลำน้ำที่อุดมสมบูรณ์ สวยงามตามธรรมชาติ เหมาะส่งเสริมการท่องเที่ยวและ กระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้ สศท.11 จะร่วมประชุมในคณะทำงานการศึกษาข้อมูลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลและการติดตามการดำเนินงาน ในวันที่ 28 - 29 พฤศจิกายนนี้ ณ เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกันในแต่ละด้าน โดยจะรายงานความคืบหน้าให้ทราบเป็นระยะต่อไป นายไพฑูรย์ กล่าว