กรุงเทพฯ--4 พ.ย.--โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
การมีชีวิตยืนยาวเป็นสิ่งที่หลายคนปรารถนา หากหัวใจสำคัญของชีวิตที่ยืนยาวนั้นอยู่ที่การดูแลรักษาช่วงชีวิตในยามสูงวัยของตนอย่างไรให้มีคุณภาพ ปราศจากโรคร้ายรุมเร้า ทั้งยังสามารถชะลอความเสื่อมของอวัยวะต่าง ๆ ให้ทำงานต่อไปได้นานที่สุด
ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จากสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า จากปี พ.ศ. 2503 ถึงปี พ.ศ. 2553 ประเทศไทยมีประชากรที่อายุมากกว่า 60 ปีเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า หรือคิดเป็น 13% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ทั้งจากอัตราผู้สูงอายุที่ยังคงเพิ่มขึ้นทุกปีจึงมีการประมาณการว่า ในปี พ.ศ. 2583 ประเทศไทยจะมีประชากรที่อายุมากกว่า 60 ปี มากถึง 20 ล้านคน หรือเท่ากับจำนวนประชากร 1 ใน 3 ของประเทศ
พญ.ลิลลี่ ชัยสมพงษ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อธิบายว่า การเพิ่มขึ้นเป็นลำดับของจำนวนประชากรสูงอายุมีแนวโน้มเกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากวิทยาการด้านต่าง ๆ ในการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุเจริญก้าวหน้าขึ้น อายุขัยเฉลี่ยของประชากรจึงยืนยาวกว่าในอดีต ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องคำนึงว่า ด้วยจำนวนประชากรวัยเกษียณอายุที่เพิ่มขึ้น ซึ่งพวกเขาต้องใช้ชีวิตต่อไปอีกประมาณ 20-30 ปี หรือคือเวลาอีก 1 ใน 3 ของชีวิต จะทำอย่างไรให้ชีวิตที่ยืนยาวนั้นเปี่ยมไปด้วยคุณภาพ รวมถึงส่งเสริมให้ผู้ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ช่วงวัยสูงอายุมีความพร้อมที่สุด เพราะความเสื่อมถอยของร่างกายคนแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน อันเป็นผลมาจากการดำเนินชีวิตในวัยหนุ่มสาว และถึงแม้ว่าหลาย ๆ คนจะดูแลตนเองได้เป็นอย่างดีแล้ว แต่เมื่อถึงวัยหนึ่งร่างกายก็จะต้องผจญกับโรคภัยที่มาพร้อมกับความชราภาพ
สำหรับหรับกลุ่มโรคในผู้สูงอายุแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มโรคทั่วไป โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน เส้นเลือดหัวใจ หรือสมองตีบตัน กลุ่มนี้ความเสี่ยงของโรคจะยิ่งเพิ่มขึ้นตามอายุ และ กลุ่มโรคที่เกิดขึ้นเฉพาะในผู้สูงวัย เช่น โรคกระดูกพรุนหรือภาวะสมองเสื่อม
สิ่งสำคัญคือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแต่ละช่วงในวัยผู้สูงอายุ จะส่งผลต่อเนื่องกับทั้งร่างกายและจิตใจของเขาไปตลอดช่วงชีวิต ดังนั้น การดูแลผู้สูงอายุในช่วงวัยที่ร่างกายต้องเผชิญกับปัญหาซับซ้อนทั้งจากความเสื่อมถอยและหลากหลายโรคที่เริ่มรุมเร้าจึงต้องออกแบบให้เหมาะสม และต้องไม่ลืมว่าแม้จะมีโรคประจำตัวที่แต่ละคนต้องประสบ แต่ผู้สูงอายุคนหนึ่งก็ไม่ได้ต้องการการดูแลจากแพทย์เฉพาะทางโรคใดโรคหนึ่งเพียงโรคเดียว แต่เขาจำเป็นต้องได้รับการดูแลในภาพรวมโดยมีผู้สูงอายุแต่ละคนเป็นศูนย์กลาง โดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ร่วมกับบุคลากรจากสหวิชาชีพที่ได้รับการอบรมเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุมาโดยเฉพาะ ซึ่งประกอบด้วยพยาบาล เภสัชกร นักโภชนาการ และนักกายภาพบำบัด โดยจะทำงานประสานกันในทุกขั้นตอน เพื่อให้ปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุได้รับการดูแลอย่างสัมพันธ์และครอบคลุมทุกด้าน
ทั้งนี้ การให้คำปรึกษาและการดูแลผู้สูงอายุโดยแพทย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุและบุคลากรจากสหวิชาชีพจะลงลึกในรายละเอียดตั้งแต่การใช้ชีวิตประจำวัน อาหารการกิน การออกกำลังกาย การใช้ยาชนิดต่าง ๆ รวมถึงสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุ โดยทีมเวชศาสตร์ผู้สูงอายุจะร่วมกันประเมินความเหมาะสมในการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ เพื่อป้องกันความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุ อาทิ ความลาดชันของทางเดินหรือบันไดในตัวบ้าน ราวจับในห้องน้ำ ห้องนอน เป็นต้น
เมื่อทีมแพทย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุได้รับรู้ข้อมูลที่ครอบคลุมเรื่องของผู้สูงอายุคนหนึ่งทั้งหมด การดูแลและสร้างเสริมก็จะทำได้อย่างตรงจุด เนื่องจากโดยมาก ผู้สูงอายุหลายคนมักไม่ได้รับสารอาหารเพียงพอ และขาดการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับวัย ทำให้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูกลดน้อยลง ดังนั้นจึงต้องได้รับการดูแลเรื่องอาหารจากนักโภชนาการและโปรแกรมการออกกำลังที่เหมาะสมจากนักกายภาพบำบัด เพื่อให้กล้ามเนื้อและกระดูกสามารถทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพต่อไปได้ยาวนานที่สุด
สำหรับผู้สูงอายุในกลุ่มอาการ Geriatric Syndromes ซึ่งมีภาวะหกล้มบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ นอนไม่หลับ ซึมเศร้า ฯลฯ ภาวะเหล่านี้ผู้สูงอายุหลายท่านอาจไม่ทราบว่าตนเองมีความผิดปกติ จึงละเลยการระมัดระวังและปล่อยทิ้งไว้จนเกิดเป็นปัญหาซ้ำซ้อนตามมา ส่วนในรายที่รู้ว่าตนเองมีปัญหาก็ตั้งต้นไม่ถูกว่าควรรับคำปรึกษาจากแพทย์สาขาใด ตรงนี้ถือเป็นอีกบทบาทหนึ่งที่การดูแลและให้คำปรึกษาจากบุคลากรจากสหวิชาชีพจะสามารถให้ความรู้ หาทางป้องกัน และประเมินความเสี่ยงก่อนปัญหาจะเกิดขึ้นได้
ยิ่งเมื่อผู้สูงอายุเริ่มสูงวัยขึ้น โรคภัยที่พบก็จะเพิ่มขึ้นและซับซ้อนตามมา ผู้สูงอายุหลายคนจึงจำเป็นต้องพบแพทย์เฉพาะทางมากถึง 3-4 คน ซึ่งแพทย์แต่ละคนจะมีหน้าที่ดูแลรักษาในส่วนของตนโดยไม่ได้คำนึงถึงองค์ประกอบอื่น ๆ จนเกิดเป็นปัญหาที่พบบ่อยว่า มีผู้สูงอายุส่วนหนึ่งได้รับยาหลายขนานจนยาตีกัน หรือยาของโรคหนึ่งไปบวกกับอีกโรคหนึ่ง เช่นได้รับยานอนหลับพร้อมกับยาแก้ปวด ทำให้คนไข้ง่วงซึมลุกไม่ขึ้น กลายเป็นนอนติดเตียง ผลที่ตามมาคือมีอาการข้อติดหรือกลายเป็นแผลกดทับ จะเห็นว่าจากเรื่องเล็กน้อยที่ถูกมองข้ามเหล่านี้ก็อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ตามมาได้ไม่รู้จบ
หรือมีกรณีที่โรคตีกัน เช่นแพทย์จำเป็นต้องให้ยาผู้ป่วยในโรคเฉพาะทาง แต่อาจไม่ได้มองว่าไตของผู้ป่วยไม่อยู่ในสภาพที่รับได้ ตรงจุดนี้แพทย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุจะทำหน้าที่คอยประสานงานและดูแลรักษาผู้ป่วยในภาพรวม โดยมีเภสัชกรคลินิกที่ได้รับการอบรมเฉพาะทาง ช่วยประเมินว่ายาทุกตัวที่ผู้ป่วยได้รับมีความเหมาะสมมากน้อยแค่ไหน และควรให้ในปริมาณเท่าไหร่
อย่างไรก็ตาม โดยธรรมชาติของผู้สูงอายุทุกคนล้วนอยากพึ่งพาตนเองให้ได้นานที่สุด ศาสตร์ของการดูแลโดยแพทย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุจึงต้องเริ่มจากสภาพร่างกายพื้นฐานของของผู้สูงอายุแต่ละคนเป็นหลัก และต้องดูแลต่อเนื่องกันไปตลอด เป็นต้นว่าปัญหาที่ผู้สูงอายุทุกคนต้องพบเช่นโรคกระดูกพรุนหรือสมองเสื่อม ทีมแพทย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุจะประเมินความเสี่ยงจากปัจจัยทั้งหมดของคนไข้ตั้งแต่การตรวจวินิจฉัยครั้งแรก แล้วทำต่อเนื่องไปทุกปีปีละครั้ง หรือปัญหาอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุโดยหาสาเหตุไม่ได้ เช่น เวียนหัว หกล้มบ่อย เดินติดขัด เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรือมีอาการเครียด ซึมเศร้า อาการเหล่านี้บางครั้งอาจทำให้ญาติผู้สูงอายุไม่แน่ใจว่าควรพาไปตรวจวินิจฉัยที่ไหนดี ตรงจุดนี้จึงควรเริ่มต้นที่การรับคำปรึกษาจากแพทย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุโดยตรง เพื่อตรวจหาสาเหตุของปัญหาผ่านภาพรวมในเบื้องต้น ก่อนจะส่งต่อให้แพทย์เฉพาะทางดูแลต่อไป เหล่านี้คือสิ่งที่แพทย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุให้การดูแลแตกต่างจากแผนกอายุร-กรรมทั่วไป โดยแพทย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุจะมุ่งเน้นการประเมินสาเหตุของความผิดปกติในผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิดทุกด้าน เพื่อป้องกันและรักษาแต่ละโรคที่เขาต้องเป็นแต่เนิ่น ๆ พร้อมให้คำปรึกษาว่าจะทำให้เขาดีขึ้นได้อย่างไร