กรุงเทพฯ--4 พ.ย.--
ระหว่างปลาเหงือกแดงตัวเย็นฉ่ำที่นอนสงบนิ่งอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำกับปลาชนิดเดียวกันที่วางบนถาดน้ำแข็งในตลาดนัด แถมสีเหงือกซีดแล้วต่างหาก คุณจะเลือกซื้อตัวไหน?
คำตอบก็คือไม่ทั้งคู่ ถ้าคุณรู้ว่าปลาสองตัวนี้ผ่านการเดินทางจากทะเลมาถึงเราอย่างน้อย 3 ทอด ระหว่างทางถูกตรึงความสดด้วยสารฟอร์มาลีน ก่อนถูกจับแยกกันที่ตลาดขายส่งย่านชานเมือง
เรื่องทั้งหมดนี้คนกินปลาอย่างเราไม่มีทางรู้ แต่คนที่รู้ดีที่สุดอย่างชาวประมง เขามีทางเลือกที่ดีกว่า ปลอดภัยกว่า ยั่งยืนกว่า มานำเสนอ ภายใต้ชื่อ "ร้านคนจับปลา (Fisherfolk)"
"ปลาจากร้านคนจับปลาเราจะทำให้การเดินทางสั้นที่สุด คือขึ้นจากเรือ แล้วเราก็จัดเก็บ แพ็คใส่ตู้แช่เย็นเพื่อรักษาความสดทันที จากนั้นก็ส่งเข้ากรุงเทพฯ แต่ถ้าเป็นระบบทั่วไปขึ้นจากเรือเขาก็ต้องส่งพ่อค้าคนกลางซึ่งตรงช่วงพ่อค้าคนกลาง ปลาแต่ละชนิดก็เดินทางมาเจอกันตรงนี้ การดูแลรักษาก็จะเกิดขึ้น เช่น ใส่สารเคมีเช่นฟอร์มาลีน แล้วค่อยเดินทางไปส่งอีกทีที่ท่าข้ามหรือมหาชัย ทั้งหมด 3 ต่อ เพื่อจะกระจายให้กับพ่อค้าแม่ค้าไปขายอีกที" เสาวลักษณ์ ประทุมทอง ผู้จัดการร้านคนจับปลาให้ข้อมูล
นอกจากเรื่องความสดและปลอดภัยแล้ว ภายใต้การบริหารจัดการของร้านคนจับปลา ยังเน้นให้ราคาที่เป็นธรรมกับชาวประมง จากเดิมที่ชาวประมงไม่มีสิทธิแม้แต่จะกำหนดราคาเอง
"เราซื้อในราคาสูงกว่าแพปลา 20% ดังนั้นชาวประมงจะได้ส่วนต่างตรงนี้ จากเดิมเคยพึ่งพ่อค้าคนกลางให้เอาไปขายตลาดข้างนอกว่าได้กิโลละเท่าไหร่ ถึงจะกลับมาตีราคาให้ชาวประมงอีกทีหนึ่ง สมมติว่าราคาตลาดกิโลละ 60 บาท แต่ถ้าพ่อค้าคนกลางบอกว่า 15-20 บาทก็ต้องเท่านั้น"
กว่า 5 ปีของการหารือเตรียมการ "ร้านคนจับปลา" จึงเกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีทีแล้วด้วยการชักชวนชาวประมงพื้นบ้านมาลงหุ้น โดยตั้งธงว่า จะลดการเดินทางของปลาให้สั้นที่สุด ให้ผู้บริโภคกินปลาที่ปลอดภัยที่สุด ทะเลก็ต้องได้ประโยชน์ด้วยจากการใช้เครื่องมือที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และคนจับปลาเองก็ต้องได้ผลตอบแทนที่เป็นธรรม
จึงเป็นที่มาของการจัดงาน "Fisherfolk in Bankgkok" ซึ่งมีภาคีร่วมจัดได้แก่ องค์การอ็อกแฟม แห่งประเทศไทย สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย สมาคมรักษ์ทะเลไทย และเครือข่ายกินเปลี่ยนโลก วันที่ 14-15 พฤศจิกายนนี้ ที่ Root Garden ทองหล่อซอย 3
รูปแบบงานจะเป็นการออกร้านของร้านคนจับปลา 4 พื้นที่ คือ ประจวบคีรีขันธ์, นครศรีธรรมราช, สตูล และทะเลสาบสงขลา ที่มาพร้อมกับเมนูเด่นของแต่ละพื้นที่ อาทิ ผัดเผ็ดปลามีหลังหรือประดุกทะเล ปลาเฉพาะถิ่นของทะเลสาบสงขลา ที่เนื้อแน่น มันและกรุบ แกงคั่วหอยหลักไก่หรือหอยเจดีย์จากสตูลที่รสชาติคล้ายหอยขม ปลาทูต้มเค็มที่ชาวประจวบฯ เรียกว่าปลาทูหวานเพราะใส่สับปะรดลงไปต้มให้ก้างยุ่ยกินเนื้อมันๆ ได้ทั้งตัว ฯลฯ
ภายในงานยังมีวงคุยให้ความรู้และเคล็ดลับอาหารทะเลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น วงคุยระหว่างคนจับปลา vs คนกินปลา ถกกันให้รู้เรื่องว่าคนกินปลาอยากรู้อะไรบ้างจาก ทราย เจริญปุระ และพ่อหมอเจาะข่าวตื้นแห่ง SpokedarkTV และคำถามนั้นต้องตอบได้จริงและทุกเรื่องโดยคนจับปลา, การตรวจสอบหาสารฟอร์มาลีนระหว่างปลาซื้อทั่วไปและปลาจากร้านคนจับปลา, โชว์ทำอาหารโดย โตมร ศุขปรีชา กฤช เหลือลัย วรศักดิ์ มหัทธโนบล คมกริช อุ่ยเต็กเคง(เชฟหมี) เผยเกร็ดการแล่ เลือก และปรุงอาหารทะเลจากลูกทะเลแท้ๆ รวมถึงการเปิดตัว มาตรฐานสินค้าสัตว์น้ำสีฟ้า (Bluebrand) อาหารทะเลปลอดภัย ฯลฯ ภายใต้คอนเซปท์งาน คือ คลีน(Clean) กรีน(Green) แฟร์(Fair)
คลีน – อาหารทะเลสะอาด ปลอดสารเคมี
กรีน –การประมงที่ยั่งยืน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ทำให้ปลาหมดไปจากทะเล
แฟร์ –แฟร์สำหรับคนกินได้ของดีและปลอดภัย แฟร์สำหรับคนจับปลา ในราคาที่เป็นธรรม
ทั้งหมดนี้ถูกจัดอยู่ภายใต้บรรยากาศ Fish Folk ฟิน!!
"งานสนุก ถ้าไม่ได้กินของอร่อยไม่ได้กินของสดก็จะไม่ใช่งานนี้ นี่คือความฟิน ฟินได้จากอาหารทะเลคือ Fish รวมถึงหอย กุ้ง ปู ปลาหมึก อีกมากมาย ทั้งที่มาจากทะเลอ่าวไทย ทะเลสาบ และทะเลอันดามัน รวมทั้งได้สัมผัสบรรยากาศชาวประมงพื้นบ้าน คนจับปลา (Folk)จริงๆ ที่เขาจะมาเล่าเรื่องให้ฟัง มีกลิ่นไอของชายทะเล ของชุมชนประมงชายฝั่งมาอยู่ในบรรยากาศที่รื่นรมย์กลางกรุงเทพฯ…
"ความสุขที่เกิดขึ้นจึงจะไม่ได้มีเฉพาะในวันงานเท่านั้น แต่ว่าเรามีคำตอบวิธีการบริโภควิธีเข้าถึงอาหารแบบนี้ไปได้ตลอดทั้งปี" จักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานด้านนโยบายและรณรงค์ องค์การอ็อกแฟมประเทศไทย หนึ่งในภาคีร่วมจัด ทิ้งท้าย