กรุงเทพฯ--5 พ.ย.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอ
ป่าชุมชนบ้านต่อแพ ตั้งอยู่ในตำบลแม่เงา อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นป่าชุมชนที่ไม่เคยขาดน้ำเพราะมีการรักษาป่าต้นน้ำไว้ ด้วยความเข้มแข็งของผู้นำชุมชนและชาวบ้านที่มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากร ล่าสุด ป่าชุมชนบ้านต่อแพได้รับรางวัลป่าชุมชนชนะเลิศระดับประเทศ ประจำปี 2558 รางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ของโครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน จัดโดยบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และกรมป่าไม้ เมื่อเร็วๆ นี้
ป่าชุมชนบ้านต่อแพ อยู่ห่างจากตัวอำเภอขุนยวมประมาณ 5 กิโลเมตร มีพื้นที่ป่าประมาณ 1,170 ไร่ มีลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบภูเขาสูงสลับกันไป ริมฝั่งแม่น้ำยวม พื้นที่ป่ามีความอุดมสมบูรณ์มาก เป็นป่าดิบเขา มีพืชสมุนไพร 200-300 ชนิด มีของป่าที่กินได้มากมายหลายชนิด เช่น หน่อไม้ เห็ดไข่เหลือง เห็ดไข่ขาว เห็ดลม กระชาย ผักกูด มะเขือพลวง บวบป่า กล้วยป่า เพกา น้ำผึ้ง ฯลฯ และมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่นานาชนิด
ก่อนจะได้ชื่อว่า "บ้านต่อแพ" พื้นที่แห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก โดยเฉพาะการทำนา เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้สามารถผลิตข้าวได้มาก แต่ไม่มีเส้นทางคมนาคมลำเลียงข้าวไปจำหน่าย ชาวบ้านจึงนำไม้ไผ่มาผูกเป็นแพเพื่อบรรทุกข้าวไปขายที่เมืองยม ซึ่งเป็นอำเภอแม่สะเรียงในปัจจุบัน ผ่านการล่องแพไปตามลำน้ำยวม วิถีชาวบ้านที่มีการต่อแพเพื่อใช้ลำเลียงสินค้าไปจำหน่ายยังที่อื่นๆ จึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน "บ้านต่อแพ" นับแต่ปี 2464 เป็นต้นมา
คนพื้นถิ่นในหมู่บ้านต่อแพส่วนมากเป็นชาวไทใหญ่ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทั้งนี้ ชาวบ้านได้เริ่มรวมตัวกันดูแลรักษาในพื้นที่อย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2550 และจดทะเบียนจัดตั้งป่าชุมชนกับกรมป่าไม้ในปี 2557 ซึ่งมี นายชัยเดช สุทินกรณ์ เป็นผู้ใหญ่บ้าน และเป็นประธานป่าชุมชน โดยชุมชนมีมติร่วมกันที่จะดูแลรักษาป่า และน้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้ในการอนุรักษ์ผืนป่า ชาวชุมชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่า ชุมชนได้จัดตั้งคณะกรรมการป่าชุมชนซึ่งจะประชุมกันอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง มีการจัดทำแผนชุมชนที่ชัดเจนและปฏิบัติเห็นผลเป็นรูปธรรม การจัดทำกฎระเบียบหมู่บ้าน เช่น การอนุญาตให้ขยายการเพาะปลูก เฉพาะในพื้นที่เดิมที่เคยทำ การห้ามบุกรุกป่าโดยมีการจัดเวรยามลาดตระเวนป่าวันละ 3 คน การห้ามเผาป่าเด็ดขาด หากเผาในพื้นที่ทำการเกษตรต้องทำแนวกันไฟ และต้องแจ้งผู้ใหญ่บ้านหรือกรรมการชุดดับไฟป่าของหมู่บ้านก่อนเผา การจัดตั้งศูนย์ระวังป้องกันไฟป่าและหมอกควันในระดับหมู่บ้าน การควบคุมการเผาขยะมูลฝอย ชุมชนยังประสบความสำเร็จในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันจากไฟป่า โดยมีการจัดการความเสี่ยงการเกิดไฟป่า เช่น การไม่เผาป่าเพื่อปรับพื้นที่ทำเกษตรในช่วงเวลาที่ทางราชการกำหนด และงดการเผาในที่โล่ง ทำให้ชุมชนบ้านต่อแพได้รับการยกย่องเป็นหมู่บ้านต้นแบบปลอดการเผา
ป่าชุมชนมีกิจกรรมพัฒนาชุมชนตลอดปี เช่นการบวชป่า ปลูกป่า สร้างฝาย สร้างแนวกันไฟ ซึ่งช่วยเสริมสร้างความสามัคคีและการอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติ ป่าชุมชนให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์พลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งการรักษาป่าต้นน้ำ และมีการจัดทำระบบประปาภูเขาเพื่อใช้ในหมู่บ้าน ทำให้บ้านต่อแพมีน้ำใช้ตลอดปี นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งธนาคารขยะโดยการแยกขยะจำหน่าย การนำเศษอาหารไปทำปุ๋ยหมัก-น้ำหมักชีวภาพ การผลิตถ่านอัดแท่งจากเศษใบไม้เป็นพลังงานทดแทน
ผู้นำป่าชุมชนมุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างจิตสำนึก โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการส่งเสริมอาชีพแก่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง มีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง การจัดตั้งกลุ่มเกษตรปลอดภัยที่ปลูกพืชโดยไม่ใช้สารเคมีซึ่งนำมาประกอบอาหารให้แก่นักท่องเที่ยว และการสนับสนุนภูมิปัญญาชาวบ้านในการผลิตผลิตภัณฑ์ เช่น การผลิตหมวกสานจากไม้ไผ่ที่เรียกว่ากุ๊บไต การสานใบตองตึงเพิ่มมูลค่าเพื่อนำมาทำเป็นแพมุงหลังคาและใช้คลุมแปลงปลูกสตอเบอรี่ การส่งเสริมการทำบรรจุภัณฑ์ นอกจากนี้ ป่าชุมชนมีการจัดทำโฮมสเตย์และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยมีแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ในป่าชุมชน คือ เส้นทางการเดินทัพญี่ปุ่น สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
ด้วยความมุ่งมั่นและทุ่มเทในการอนุรักษ์ธรรมชาติจนทำให้ป่าชุมชนมีความอุดมสมบูรณ์ อีกทั้ง การมีผู้นำที่เข้มแข็ง ชาวบ้านมีความรักใคร่สามัคคีปรองดองกัน และมีส่วนร่วมในการพัฒนารักษาป่าบนแนวคิดเพื่อการพัฒนาชุมชน พร้อมทั้งการปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรให้แก่เยาวชน ทำให้ป่าชุมชนบ้านต่อแพคว้ารางวัลป่าชุมชนสุดยอดระดับประเทศไปครอง เป็นป่าชุมชนตัวอย่างที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับคนในชุมชนทุกคนที่ได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ป่าชุมชนของประเทศ