กรุงเทพฯ--5 พ.ย.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม
ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยคำนึงถึงความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เพื่อช่วยให้การแก้ไขปัญหาเกิดผลเป็นรูปธรรม ตนได้เชิญกรมต่างๆ ในสังกัด วธ. และวัฒนธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาจัดทำแผนงานโครงการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปี 2559 เพื่อเตรียมการและวางแผนว่าแต่ละกิจกรรมจะมีการขับเคลื่อนในแต่ละไตรมาสให้ออกไปอย่างชัดเจน เพื่อให้การดำเนินงานเกิดประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดสันติสุขลดความขัดแย้ง ประชาชนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดำรงอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข และเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง โดยมีโครงการสำคัญ อาทิ การสร้างชุมชนศรัทธา (กัมปงตักวา) ตามโครงการทุ่งยางแดงโมเดล การจัดกิจกรรมเสริมสร้างชุมชนคุณธรรมตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ 162 หมู่บ้าน เช่น กิจกรรมเข้าสุนัต กิจกรรมละศีลอด กิจกรรมวันมาฆบูชา เป็นต้น โครงการอุดหนุนส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ โดยสนับสนุนการดำเนินงานของสภาวัฒนธรรมให้เกิดความเข้มแข็ง สามารถนำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ กิจกรรมค่ายเยาวชนร่วมสมัยสานสายใยชายแดนใต้ "เยาวชนรักถิ่นเกิด ปักษ์ใต้บ้านเรา" ตลอดจนผลิตสื่อวัฒนธรรมวิถีชีวิตเผยแพร่ผ่านสื่อท้องถิ่น สื่อกระแสหลัก และสื่อสังคมอย่างทั่วถึง เป็นต้น ซึ่งวธ. ได้รับการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 87.8454 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินกิจกรรมหลากหลายมิติ ทั้งมิติทางด้านศาสนา มีกิจกรรมการอบรมอุสตาสและผู้สอนด้านศาสนาอิสลาม ในหลักสูตรการเรียนการสอนคัมภีร์อัลกุรอานแบบกีรออาตี เพื่อนำความรู้ไปเผยแพร่แก่เยาวชนและประชาชนในพื้นที่ได้อย่างถูกต้องในจังหวัดนราธิวาสและขยายไปยังจังหวัดต่างๆ เพื่อสร้างวัฒนธรรมเชิงศรัทธา เนื่องจากการดำเนินงานในปีงบประมาณ 58 ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีประชาชนในพื้นที่ให้ความสนใจในการเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์คัมภีร์อัลกุรอานในจังหวัดนราธิวาส แหล่งเผยแพร่องค์ความรู้ของคัมภีร์สมัยโบราณที่เขียนด้วยลายมือ มรดกที่ล้ำค่าของประเทศไทยและโลกมุสลิม ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการพัฒนาพื้นที่พิพิธภัณฑ์ของกรมศิลปากร ขณะเดียวกัน ยังมีแนวทางจัดกิจกรรมให้พี่น้องมุสลิมจากจังหวัดต่างๆมาร่วมกิจกรรมกับพี่น้องมุสลิมใน 5 จังหวัดภาคใต้ด้วย อีกทั้งยังกำลังดำเนินการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ วัดช้างให้ และเตรียมเปิดพื้นที่ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ให้เป็นพื้นที่เชิงศรัทธาสู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
สำหรับมิติทางด้านศิลปวัฒนธรรม จะเชิญประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เคียงมาทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การแสดงดิเกฮูลู รวมถึงการให้ความรู้เรื่องของกริชหรือศาสตราวุธ ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะในหมู่ผู้คนในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย นอกจากนั้น อาจจะมีการเชิญให้เยาวชน และนักวิชาการทางด้านศิลปวัฒนธรรมในภาคใต้ออกนอกพื้นที่เพื่อเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ในเขตกรุงเทพมหานคร และศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน ตลอดจนมีแผนในการขับเคลื่อนโครงการศูนย์บันดาลไทยใน 5 จังหวัดภาคใต้ เพราะเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในเรื่องทุนทางวัฒนธรรมหลายด้าน โดยเฉพาะการออกแบบลายผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ การออกแบบชุดแต่งกาย เป็นต้น
ปลัด วธ. กล่าวอีกว่า ตนได้มอบหมายให้แต่ละหน่วยงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคบูรณาการทำงานร่วมกัน เพื่อให้ภาคใต้เป็นพื้นที่หลอมรวมด้านศิลปวัฒนธรรม และเป็นประตูเปิดไปสู่อาเซียนในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และร่วมกันดำเนินกิจกรรมทางวัฒนธรรม สำหรับการดำเนินงานในพื้นที่ 5 จังหวัดนั้นต้องจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการบูรณาการให้งานออกไปเป็นเนื้อเดียวกัน รวมทั้งบูรณาการกับหน่วยงานอื่นๆในพื้นที่ ตลอดจนวางแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับแผนงานที่ กอ.รมน. และสภาความมั่นคงแห่งชาติวางไว้อีกด้วย