กรุงเทพฯ--5 พ.ย.--มรภ.สงขลา
นักวิจัย มรภ.สงขลา ศึกษาปริมาณสารคลอโรฟิลล์เอในคลองหลวงที่เชื่อมต่อระหว่างทะเลสาบสงขลา พบสารอาหารมากเกินไป แพลงก์ตอนพืชเพิ่มจำนวนรวดเร็ว กระทบคุณภาพน้ำและสิ่งมีชีวิตอื่น
นายกมลนาวิน อินทนูจิตร อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงงานวิจัยศึกษาปริมาณสารคลอโรฟิลล์เอในคลองหลวงที่เชื่อมต่อระหว่างทะเลสาบสงขลาตอนล่างและทะเลสาบสงขลาตอนกลาง ว่า ทะเลสาบสงขลามีแนวโน้มที่จะประสบกับปัญหายูโทรฟิเคชัน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่แหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสารอาหารมากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งไนโตรเจนและฟอสฟอรัส เป็นเหตุให้แพลงก์ตอนพืชหรือพืชน้ำเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว จนส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำและสิ่งมีชีวิตอื่นในน้ำ จึงได้ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำออกเป็น 3 บริเวณใหญ่ๆ คือ บริเวณที่ 1 จุดเก็บตัวอย่างน้ำฝั่งตะวันออก บริเวณที่ 2 จุดเก็บตัวอย่างน้ำฝั่งตะวันตก และบริเวณที่ 3 จุดเก็บตัวอย่างน้ำที่เป็นจุดรวมของน้ำ ทั้งหมด 8 จุด นำมาวิเคราะห์คุณภาพทางกายภาพและคุณลักษณะทางเคมีคือ อุณหภูมิ ความเป็นกรด-ด่าง (พีเอช) ค่าความขุ่น ค่าการนำไฟฟ้า ฟอสเฟตรวม ปริมาณสารคลอโรฟิลล์เอ
ผลการวิจัยพบว่า พื้นที่บริเวณคลองหลวงที่เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างทะเลสาบสงขลาตอนล่างกับทะเลสาบสงขลาตอนกลาง มีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหายูโทรฟิเคชันและปัญหามลพิษทางน้ำอื่นๆ อย่างรุนแรงในช่วงต้นฤดูฝน (กรกฎาคม-กันยายน) เนื่องจากคลองหลวงที่เชื่อมต่อระหว่างทะเลสาบสงขลาตอนล่างกับทะเลสาบสงขลาตอนกลาง มีลำคลองสาขาย่อยเชื่อมต่อมากมาย รวมทั้งลักษณะของลำคลองมีความตื้นเขินส่วนใหญ่ จึงเหมาะสำหรับการเจริญเติบโตของแพลงก์ตอนพืช สาหร่าย และพืชน้ำขนาดเล็กต่างๆ รวมทั้งพื้นที่รอบๆ ทั้งสองบริเวณมีการใช้ประโยชน์ที่ดินของประชาชนในการทำการเกษตร เช่น การทำสวนปาล์มน้ำมัน การทำนา การทำนากุ้ง เป็นต้น จึงมีการใช้ปุ๋ยและสารเคมีต่างๆ มากเกินไป เมื่อเข้าสู่ช่วงต้นฤดูฝนน้ำได้มีการชะล้างนำพาตะกอนและธาตุอาหารจากหน้าดินไหลลงสู่คลองหลวง จึงเกิดการสะสมของตะกอนและธาตุอาหารในน้ำมีมาก ทำให้แพลงก์ตอนพืชและพืชน้ำขนาดเล็ก เช่น สาหร่าย และ ตะไคร่น้ำเจริญเติบโตและขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว จนทำให้สัตว์น้ำตายจำนวนมาก เกิดปัญหาทรัพยากรสัตว์น้ำลดลง ปัญหาน้ำเสีย จนส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในน้ำ และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจของชุมชนและประชาชนริมน้ำอีกด้วย
นายกมลนาวิน กล่าวว่า จากผลการวิจัยได้มีโอกาสบรรยายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้นในทะเลสาบสงขลา ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.สงขลา เสนอแนะแก่พื้นที่บริเวณรอบคลองหลวง ส่วนใหญ่จะเป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินในเชิงเกษตร จึงควรมีการนำมาตรการการอนุรักษ์ดินและน้ำที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ รวมทั้งควบคุมการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก เพื่อที่จะสามารลดผลกระทบได้ ซึ่งผลการวิจัยที่จัดทำขึ้นได้รับรางวัลบทความวิจัยดีเด่น ภาคบรรยาย ในการประชุมวิชาการระดับชาติ ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาครั้งที่ 3 ณ มรภ.สงขลา ไปเมื่อไม่นานมานี้