กรุงเทพฯ--5 พ.ย.--PR STORY
THAC สถาบันอนุญาโตตุลาการ (Thailand Arbitration Center) ผู้ให้บริการด้านอนุญาโตตุลาการ และการประนอมข้อพิพาทด้วยมาตรฐานระดับสากล เปิดตัวครั้งแรกในประเทศไทย พร้อมเชิญ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดงาน THAC Open House The 1st International Dispute Resolution Center in Thailand ระบุสถาบันฯ เป็นทางเลือกใหม่ของนักธุรกิจ เน้นแก้ปัญหาด้วยการเจรจา ตามแนวทาง Save Time Save Cost และ Save Relationships
นายพสิษฐ์ อัศววัฒนาพร ผู้อำนวยการ THAC สถาบันอนุญาโตตุลาการ (Thailand Arbitration Center) เปิดเผยว่า THAC สถาบันอนุญาโตตุลาการ ถูกจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสถาบันอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๕๐ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมและพัฒนากระบวนการประนอมข้อพิพาท และอนุญาโตตุลาการ เป็นสถาบันที่ให้บริการด้านการประนอมข้อพิพาท และอนุญาโตตุลาการ ที่มีความเป็นอิสระได้มาตรฐานสากล โดยใช้วิธีการ Alternative Dispute Resolution (ADR) หรือ การระงับข้อพิพาททางเลือก ซึ่งการแก้ปัญหาข้อพิพาทแบบทางเลือกเป็นชุดของกระบวนการที่มีประสิทธิภาพ และสร้างสรรค์การแก้ปัญหาข้อพิพาท จะต้องได้รับการยินยอมร่วมกันจากทั้ง 2 ฝ่าย ผ่านการเจรจา เพื่อยุติข้อพิพาทที่เกิดขึ้น เป็นวิธีการที่ยอมรับจากภาคธุรกิจทั่วโลก
การให้บริการของ THAC ประกอบด้วย 1.บริการด้านอนุญาโตตุลาการทั้งในประเทศหรือระหว่างประเทศด้วยมาตรฐานระดับสากล 2.บริการการประนอมข้อพิพาทในทางแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศหรือระหว่างประเทศ ซึ่งบริการทั้งสองแบบนี้ THAC จะเข้าไปทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก และให้บริการในทุกเรื่องที่อยู่ในอำนาจของ THAC เพื่อระงับข้อพิพาทโดยไม่ต้องขึ้นศาล ทำให้ได้รับประโยชน์ ในเรื่อง Save Time ระยะเวลาที่ใช้ในกระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือกจะใช้เวลาน้อยกว่า เพราะถูกกำหนดด้วยข้อบังคับของ THAC ทำให้ได้รับผลชี้ขาดเร็วขึ้น Save Cost เนื่องจากผู้ที่อยู่ในตำแหน่งอนุญาโตตุลาการ และผู้ประนอมข้อพิพาทของ THAC เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ จากทุกสาขาวิชาชีพ และได้ผ่านการฝึกอบรมเพื่อเข้ารับตำแหน่ง ทำให้สามารถวิเคราะห์ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และแก้ไขข้อพิพาทที่ใช้ระยะเวลาอันสั้นส่งผลให้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย
สุดท้าย Save Relationships กระบวนการประนอมข้อพิพาท และกระบวนการอนุญาโตตุลาการที่จะเกิดขึ้น คู่ค้าทั้งสองฝ่ายจะต้องเลือกใช้การระงับข้อพิพาททางเลือกผ่านกระบวนการนี้ ส่งผลให้ความขัดแย้งที่อาจจะลุกลาม ได้รับการแก้ไขปัญหาด้วยทางออกเชิงสร้างสรรค์ ทำให้เมื่อเลือกใช้กระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือกนี้ เมื่อจบกระบวนการไม่จำเป็นจะต้องหยุดธุรกิจต่อกัน และยังสามารถรักษาความสัมพันธ์อันดีต่อกันได้
นายพสิษฐ์ กล่าวต่อว่า เพื่อให้การทำงานของ THAC สถาบันอนุญาโตตุลาการมีความคล่องตัว และเข้าถึงกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจ THAC ได้เสนอให้ปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรี เปิดทางให้ใช้อนุญาโตตุลาการในสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชนได้เกือบทุกประเภท ซึ่งแต่เดิมจะต้องมีการเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติเป็นรายๆ และเห็นชอบยกเลิกข้อกำหนดดังกล่าว แต่คงไว้เฉพาะที่ให้คณะรัฐมนตรีต้องอนุมัติเฉพาะการใช้อนุญาโตตุลาการ ในสัญญาที่ต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 และสัญญาสัมปทานที่หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ให้สัมปทาน ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของ THAC ในการที่เข้าไปมีบทบาทต่อภาคธุรกิจมากขึ้น