TMB จัดใหญ่ให้ภาพรวมเศรษฐกิจพร้อมชูกลยุทธ์การลงทุน ผ่าน บลจ.พันธมิตร เน้นกระจายการลงทุนทั่วโลกในปี 2559

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 5, 2015 16:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 พ.ย.--Chomchaviwan นายรูว์ ไฮซแมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้ารายย่อย ทีเอ็มบี หรือ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในวันนี้ทีเอ็มบีได้จัดสัมมนาสุดเอ็กซ์คลูซีฟ สำหรับลูกค้า TMB Wealth Banking ในหัวข้อ "TMB Open Architecture : The Economic Outlook 2016" เพื่อให้ข้อมูลสำหรับลูกค้าใช้ประกอบการตัดสินใจในการลงทุนเพื่อบริหารพอร์ตให้มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับความต้องการมากที่สุด โดยได้รับเกียรติจากนายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ก่อตั้งบริษัทหลักทรัพย์ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงจากพันธมิตรกองทุน ที่จะมาร่วมเปิดกลยุทธ์การลงทุนปี 2016 ของแต่ละบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ภายใต้แนวคิด "TMB Open Architecture กองทุนดี ยี่ห้อดัง ที่เดียวครบ" ที่ช่วยเปิดโลกการลงทุนทุกมุมโลกไว้ในที่เดียว ?นายวนา พูลผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ยูโอบี (ประเทศไทย) หนึ่งในวิทยากรในงานได้ให้มุมมองเกี่ยวกับภาพรวมการลงทุนในปี 2016 ว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังน่าสนใจเข้าลงทุนเนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ การปฏิรูปโครงสร้างธุรกิจและนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน ทำให้เงินเยนอ่อนค่า ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปญี่ปุ่นจำนวนมาก หนุนให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวเติบโตเฉลี่ยปีละ 29% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่มีรัฐบาลของนายชินโสะ อาเบะ โดยยอดขายบริษัททัวร์ในญี่ปุ่นเติบโตขึ้นกว่า 70% ในปีนี้ ขณะเดียวกันยังส่งผลให้ธุรกิจต่างๆ มียอดขายเพิ่มขึ้นและส่งผลดีต่อกำไรบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ? นอกจากนี้ บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) ยังมองว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังมีปัจจัยสนับสนุนอีกหลายเรื่อง เช่น การเป็นเจ้าภาพจัดงานโอลิมปิกในปี 2020 ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจโดยรวม โดยรัฐบาลญี่ปุ่นจะเริ่มทยอยการลงทุนในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานในปีหน้าจะทำให้การลงทุน และการบริโภคในประเทศญี่ปุ่นปรับตัวดีขึ้นได้ต่อไป ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวน่าจะเข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้น รวมทั้ง TPP การเซ็นสัญญากับประเทศคู่ค้า ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสการขยายธุรกิจและโอกาสที่ทำให้บริษัทญี่ปุ่นขายสินค้าได้มากขึ้น นายวนา กล่าวว่า สำหรับด้านการลงทุนมองว่าหุ้นขนาดกลางและเล็กมีความน่าสนใจ เนื่องจากเล็งเห็นศักยภาพในการเติบโตของหุ้นในกลุ่มดังกล่าว ซึ่งบริษัทขนาดกลางและเล็กทำธุรกิจที่ใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านหรือเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche market), ผลิตของที่มีคุณภาพ จึงมีโอกาสทำกำไรส่วนต่างได้สูง ทางบลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) จึงนำเสนอกองทุนเปิด เจแปน สมอล แอนด์ มิด แคป ฟันด์ (JSM) ซึ่งลงทุนผ่านกองทุนหลัก United Japan Small and Mid Cap Fund โดยร่วมมือกับ Sumitomo Mitsui Asset Management (SMAM) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีประสบการณ์ตรงในการลงทุนหุ้นกลุ่มนี้ โดยตั้งแต่เปิดขายกองทุนมาเกือบสองปีสามารถสร้างผลตอบแทนได้ 32% จากข้อมูล ณ วันที่ 21 ต.ค. 2558 นายกรวุฒิ ลีนะบรรจง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อเบอร์ดีน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีการฟื้นตัวอย่างชัดเจนจากการบริโภคภายในประเทศและการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งบลจ.อเบอร์ดีน มองว่าจะส่งผลดีต่อบริษัทขนาดเล็กในสหรัฐ ซึ่งมีรายได้หลักจากในประเทศ อีกทั้งได้รับผลกระทบจากแนวโน้มค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องน้อยกว่าบริษัทขนาดใหญ่ที่มีรายได้มาจากการส่งออกมากกว่า จึงนำเสนอกองทุน "อเบอร์ดีน อเมริกัน โกรท - สมอลเลอร์ คอมพานี ฟันด์" (ABAGS) ซึ่งเป็นกองทุนใหม่ที่เปิดขาย IPO ไปก่อนหน้านี้และจะเปิดขายอีกครั้งในวันที่ 6 พ.ย. 2558 ? ?สำหรับกลยุทธ์การลงทุนของอเบอร์ดีนจะเน้นลงทุนในบริษัทจำนวนไม่มาก ปัจจุบันลงทุนในบริษัทจำนวน 46 บริษัท โดยลงทุนในบริษัทที่มีรูปแบบธุรกิจที่มีคุณภาพ และมีงบการเงินพร้อมทั้งกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สร้างความเชื่อมั่นได้ในช่วงเวลาที่ตลาดมีความผันผวน ขณะที่บริษัทขนาดเล็กส่วนใหญ่ได้รับการวิเคราะห์น้อยกว่าที่ควร และนักลงทุนอาจไม่สามารถหาข้อมูลก่อนการลงทุนได้ง่ายนัก แต่อเบอร์ดีนมีทีมงาน Fund Manager ที่ทำหน้าที่วิเคราะห์และรู้จักบริษัทที่ลงทุนเป็นอย่างดีก่อนการลงทุน นอกจากนี้ราคาหุ้นของบริษัทขนาดเล็กมีการเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันน้อยลง ดังนั้นการเลือกบริษัทที่มีคุณภาพดีที่จะลงทุนจึงมีความสำคัญมากขึ้น ?ทั้งนี้ กองทุน ABAGS จะลงทุนผ่านกองทุนหลักชื่อ อเบอร์ดีน โกลบอล-นอร์ธ อเมริกัน สมอลเลอร์ คอมพานี ฟันด์ บริหารโดยทีมผู้จัดการกองทุนในฟิลาเดลเฟีย สหรัฐ และเป็นกองทุนที่ให้ผลตอบแทนอยู่ในลำดับต้นๆ ของกลุ่มกองทุนหุ้นสมอลแค็ปในสหรัฐอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องตลอดเวลา 1 ปี 3 ปี และ 5 ปี โดยกองทุนจะลงทุนในหุ้นที่มีขนาดมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดไม่เกิน 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ณ วันที่ลงทุนครั้งแรก ? นายวิน พรหมแพทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยยังได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทั้งมาตรการส่งเสริมการลงทุน การกระตุ้นภาคบริการ การท่องเที่ยว การลงทุนของภาครัฐ รวมถึงความมั่นใจในทีมเศรษฐกิจชุดปัจจุบัน ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยลบที่กระทบตลาด จากความล่าช้าของโครงการภาครัฐและนักลงทุนต่างชาติความเชื่อมั่นลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวช้าและปัญหาการขาดแคลนแรงงาน รวมถึงปัจจัยลบจากต่างประเทศ ทั้งราคาน้ำมันที่ผันผวน เศรษฐกิจโลกชะลอการฟื้นตัวและความกังวลเศรษฐกิจจีนชะลอและการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ ซึ่งล้วนส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยผันผวน ?บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จึงนำเสนอกองทุนเปิดซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล บาลานซ์ อินคัม (CIMB-PRINCIPAL iBALANCED) ซึ่งจะปรับสัดส่วนการลงทุนระหว่างหุ้นและตราสารหนี้อย่างสมดุลในสัดส่วนหุ้น 65% และตราสารหนี้ 35% เพื่อให้ทันสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา ที่ผ่านมาสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีแม้ตลาดผันผวน โดยตั้งแต่ต้นปี 2558 - 28 ต.ค. 2558 ให้ผลตอบแทน 2.50% เมื่อเทียบดัชนีตลาดหลักทรัพย์ผลตอบแทน -5.90% นอกจากนี้จุดเด่นของกองทุนซึ่งตั้งเป้าหมายจ่ายคืนผลตอบแทนทุกไตรมาส โดยรับซื้อคืนอัตโนมัติประมาณ 2-2.5% ต่อไตรมาส หรือประมาณ 8-10% ต่อปี ทั้งนี้นับตั้งแต่จัดตั้งกองทุนเปิดซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล บาลานซ์ อินคัม มีการจ่ายคืนผลตอบแทนอย่างต่อเนื่องทุกไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2556 จนถึงไตรมาส 3 ปี 2558 รวม 8 ครั้ง ผลตอบแทนรวม 1.53 บาทต่อหน่วย ?นายต่อ อินทวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แมนูไลฟ์ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า บลจ.แมนูไลฟ์ มองว่า ภูมิภาคเอเชียยังเป็นแกนนำการขับเคลื่อนและสร้างเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลกในอนาคตข้างหน้า ซี่งมีแนวโน้มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับที่สูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยกำลังซื้อของผู้บริโภคภายในประเทศจากจำนวนประชากรที่สูงมาก ประกอบกับการลดลงของราคาพลังงานและการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ช่วยให้แนวโน้มผลประกอบการของหลายธุรกิจปรับตัวดีขึ้น ล้วนเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย โดยประเทศหลักๆ ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ ได้แก่ จีน อินเดีย ไต้หวัน และเกาหลี เป็นต้น ? ?"กลยุทธ์การลงทุนที่สำคัญ คือ ต้องเข้าลงทุนก่อนคนอื่นเพื่อสามารถลงทุนในระดับราคาที่ยังต่ำและมีโอกาสในการทำกำไรสูงเมื่อราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นหลังจากเริ่มได้รับความสนใจในกลุ่มนักลงทุนสถาบันหรือนักลงทุนรายใหญ่ ซึ่งส่งผลให้ราคาหุ้นเริ่มวิ่งเข้าสู่ระดับเป้าหมายและเป็นจังหวะที่กองทุนจะเริ่มทยอยขายทำกำไรและหาหุ้นขนาดเล็กตัวใหม่เพื่อลงทุนต่อไป ทั้งนี้ การบริหารพอร์ตการลงทุนแบบเชิงรุกด้วยการใช้ข้อมูลเชิงลึกในการตัดสินใจลงทุนดังกล่าว จำเป็นต้องมีความพร้อมและความเชี่ยวชาญของทีมงานการ ลงทุนเป็นอย่างมาก ซึ่ง Manulife Asset Management มีความได้เปรียบทางด้านนี้ เนื่องจากเรามีทีมผู้เชี่ยวชาญตลาดตราสารทุนที่ประจำอยู่ทั่วภูมิภาคเอเชียเกือบ 80 ท่าน ซึ่งเป็นกลยุทธ์การลงทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่ม (Alpha) ให้แก่กองทุนได้อย่างต่อเนื่อง" นายต่อ กล่าว ปัจจุบันกองทุนเปิด แมนูไลฟ์ สเตร็งค์ เอเชียน สมอลแคป อิควิตี้ เอฟไอเอฟ (MS-ASIAN SM) มีนโยบายการลงทุนในหุ้นขนาดเล็กในเอเชีย แปซิฟิก (ไม่รวมญี่ปุ่น) ผ่านกองทุนหลัก คือ Manulife Global Fund-Asian Small Cap Equity Fund (Class I) โดยกองทุนเข้าลงทุนเมื่อเดือนพ.ค. 2556 ในราคาที่เข้าลงทุนครั้งแรก 1.93 ดอลลาร์ฮ่องกง และล่าสุดวันที่ 28 ต.ค. 2558 อยู่ที่ 10.54 ดอลลาร์ฮ่องกง โดยมีผลตอบแทนรวม +446% ?

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ