กรุงเทพฯ--5 พ.ย.--แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น
การให้กำเนิดลูกน้อยถือเป็นของขวัญที่ยิ่งใหญ่ของครอบครัว แต่คุณแม่ยุคใหม่จำนวนไม่น้อยกลับต้องเผชิญกับภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ต่างๆ ที่อาจมีผลต่อทารกในครรภ์ หรือสุขภาพของตัวคุณแม่เอง ซึ่งอาจทำให้ช่วงเวลา 9 เดือนของอายุครรภ์เต็มไปด้วยความ "เสี่ยง" มากกว่าที่คิด โดยเฉพาะปัญหาที่พบได้บ่อยเช่น "การคลอดก่อนกำหนด" เนื่องในวันที่ 17 พฤศจิกายนของทุกปี ถือเป็นวันทารกเกิดก่อนกำหนดโลก (World Prematurity Day)โรงพยาบาลกรุงเทพ จึงได้จัด "งานวันทารกเกิดก่อนกำหนดโลก รู้ทัน ป้องกัน ลดความเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด" เผยสถิติของทารกที่คลอดก่อนกำหนดมีสูงขึ้น จากรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปทำให้ผู้หญิงยุคใหม่มีแนวโน้มตั้งครรภ์เมื่ออายุมากขึ้น และโรคประจำตัวต่างๆ ที่อาจทำให้เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด พร้อมแนะวิธีปฏิบัติตนในการดูแลสุขภาพสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ พร้อมโชว์นวัตกรรมเทคโนโลยีช่วยดูแล เครื่องมือกู้ชีพ และเยี่ยมชมหออภิบาลทารกแรกเกิดวิกฤตที่ทันสมัย เพื่อให้คุณแม่และลูกน้อยแข็งแรง พร้อมหน้าครอบครัว
นายแพทย์ร่มไทร เลิศเพียรพิทยกุล แพทย์เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า โดยปกติแล้วคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ครบกำหนด (term labour) หมายถึง การเจ็บครรภ์คลอดที่เกิดขึ้นในช่วงอายุครรภ์ตั้งแต่ 37 สัปดาห์จนถึงอายุครรภ์ครบ 42 สัปดาห์ ในขณะที่ภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด (preterm labour)ทหมายถึง การเจ็บครรภ์คลอดที่อยู่ในช่วงอายุครรภ์ก่อน 37 สัปดาห์โดยมีการหดรัดตัวของมดลูกอย่างสม่ำเสมอ 4 ครั้ง ใน 20 นาที หรือ 8 ครั้ง ใน 1 ชั่วโมงร่วมกับมีการเปลี่ยนแปลงของปากมดลูก โดยมีการเพิ่มขยายของปากมดลูกมากกว่า 1 เซนติเมตร และปากมดลูกมีความบางตัว ตั้งแต่ร้อยละ 80 ขึ้นไป สำหรับสาเหตุหรือความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนดนั้น นายแพทย์ร่มไทรอธิบายว่า เกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด, รกเกาะต่ำ, ปัญหาเกี่ยวกับมดลูกและปากมดลูก, มีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ, มีภาวะโลหิตจาง ติดเชื้อต่าง ๆ เช่น ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ, มารดาอายุน้อยกว่า 20 หรือ มากกว่า 35 ปี, น้ำหนักก่อนตั้งครรภ์น้อยกว่า 50 กก., ครรภ์ที่แล้วคลอดก่อนกำหนด, มีประวัติการแท้งหลายครั้ง หรือภาวะผิดปกติที่มดลูก เช่น มีเนื้องอกที่มดลูก, ตั้งครรภ์แฝด และความผิดปกติของทารกในครรภ์ เช่น ทารกติดเชื้อ ทารกเจริญเติบโตช้า รกเกาะต่ำ ถุงน้ำคร่ำติดเชื้อ ซึ่งยังมีคุณแม่บางคนที่เผชิญภาวะคลอดก่อนกำหนด โดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
"อย่างไรก็ดี ภาวะนี้จะส่งสัญญาณเตือนหากคุณแม่เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด ได้แก่ การปวดบีบเกร็งคล้ายปวดประจำเดือน ปวดถี่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และมีอาการปวดหลัง ปวดหน่วงๆ ลงช่องคลอด พร้อมกับมีมูก หรือมูกปนเลือดออกทางช่องคลอด และ/หรือน้ำใสๆ คล้ายปัสสาวะไหลออกช่องคลอด" แพทย์เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ โรงพยาบาลกรุงเทพกล่าวพร้อมชี้ว่า เป็นการเตือนให้รีบพบแพทย์โดยทันที
ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกที่คลอดก่อนกำหนดนั้น แพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพกล่าวว่า ผลของการคลอดก่อนกำหนด 37 สัปดาห์อาจทำให้เด็กผิดปกติ โดยเฉพาะสมองเนื่องจากการทำงานของปอดที่ไม่สามารถแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ ทำให้สมองขาดออกซิเจน ซึ่งถ้าปล่อยทิ้งไว้สมองเด็กจะไม่พัฒนา เกิดเนื้อตายในสมอง เส้นเลือดในสมองแตกและเสียชีวิตในที่สุด ดังนั้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนด ควรฝากครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์น้อยๆ ซึ่งจะทำให้รู้ว่ามีตำแหน่งการตั้งครรภ์ผิดปกติหรือเป็นการตั้งครรภ์นอกมดลูกหรือไม่ รวมถึงกำหนดวันคลอดที่แน่นอน เพื่อให้การตั้งครรภ์เป็นไปอย่างราบรื่น หลีกเลี่ยงการผ่าคลอดก่อนกำหนด หรือคลอดช้าเกินไป ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเด็กในครรภ์
นอกจากนี้ ควรลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนด แจ้งแพทย์ในกรณีที่มีประวัติคลอดก่อนกำหนด เพื่อรับยาโปรเจสเตอโรนในการป้องกันการคลอดก่อนกำหนดในครรภ์นี้ หรือ วัดความยาวปากมดลูกในช่วงอายุครรภ์ 18 – 22 สัปดาห์ ให้ยาโปรเจสเตอโรนป้องกันภาวะคลอดก่อนกำหนด ในกรณีที่ปากมดลูกสั้นและรีบมาพบแพทย์ในกรณีที่มีสัญญาณเตือนดังที่กล่าวข้างต้น
แพทย์หญิงอรวรรณ อิทธิโสภณกุล กุมารแพทย์ ด้านทารกแรกเกิดวิกฤต โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า สถิติทารกแรกเกิดก่อนกำหนด ( อายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์) ของโรงพยาบาลกรุงเทพในระหว่างปี 2011-2014 พบอัตราร้อยละ 6.5 โดยพบทารกแรกเกิดก่อนกำหนดตั้งแต่อายุครรภ์ 25-36 สัปดาห์จำนวน 186 คน และเป็นอายุครรภ์ระหว่าง 25-34 สัปดาห์ จำนวน 74 คน ซึ่งทารกในกลุ่มนี้มีน้ำหนักระหว่าง 500 กรัม ถึง 2,499 กรัม การดูแลและรักษาทารกแรกคลอดก่อนกำหนด ต้องร่วมมือกันระหว่างทีมกุมารแพทย์ พยาบาล และคุณพ่อคุณแม่ในทุกช่วง ตั้งแต่ช่วงทารกวิกฤต (Critical care) ซึ่งทารกแรกเกิดก่อนกำหนดยังไม่พร้อมที่จะรับมือกับชีวิตได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นทารกจะได้รับการดูแลในห้องอภิบาลทารกแรกเกิด (NICU) ที่พร้อมด้วยทีมแพทย์และพยาบาลซึ่งมีความชำนาญในการดูแลทารกตลอด 24 ชั่วโมง เฝ้าติดตาม โดยมีอุปกรณ์ในการช่วยหายใจ อุปกรณ์กู้ชีพ และยาที่จำเป็น ที่สำคัญขณะที่ทารกยังดูดนมเองไม่ได้จะได้รับน้ำนมแม่ทางสายยาง ซึ่งมีคุณค่าสารอาหารดีที่สุด เสริมภูมิต้านทานพัฒนาการสมอง การเจริญเติบโต สำหรับระยะพ้นวิกฤต (Step down) เป็นช่วงที่ผิวกายสัมผัสกัน เนื้อแนบเนื้อ (skin to skin contact: kangaroo mother care) ช่วยทำให้ อุณหภูมิกาย การหายใจ ชีพจร และความดันโลหิตของทารกคงที่ น้ำหนักทารกเพิ่มขึ้นเร็ว
"นอกจากนี้ การเตรียมพร้อมก่อนกลับบ้าน ( Discharge plan) จำเป็นต้องให้พ่อแม่ฝึกเลี้ยง ฝึกอาบน้ำ นวดสัมผัส ดูดนมจากเต้า เพื่อเรียนรู้ซึ่งกันและกันและฝึกสังเกตอาการ รวมถึงฝึกป้อนวิตามินและธาตุเหล็กเพื่อเสริมให้ทารก เนื่องจากทารกเกิดก่อนกำหนดมีการสะสมอาหารและธาตุเหล็ก ไม่เพียงพอในช่วงที่มีการเจริญเติบโต" กุมารแพทย์ ด้านทารกแรกเกิดวิกฤต โรงพยาบาลกรุงเทพย้ำว่า ต้องไม่ลืมการติดตามต่อเนื่อง (Follow-up) ซึ่งจะเป็นการพบกุมารแพทย์ ตรวจสุขภาพ ประเมินการเจริญเติบโต และพบกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก เพื่อประเมินและส่งเสริมพัฒนาการทารก รวมทั้งรับวัคซีน เพิ่มภูมิคุ้มกันและป้องกันโรค และการตรวจจอประสาทตา และการได้ยิน
อย่างไรก็ตาม เมื่ออายุครรภ์ 28 สัปดาห์สิ่งที่คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ คือ การนับลูกดิ้น โดยสังเกตว่าลูกดิ้นเป็นปกติหรือไม่ โดยเฉพาะเวลาหลังอาหาร เด็กควรจะดิ้นมากกว่า 10 ครั้งใน 2 ชั่วโมง เพราะอาหารจะเป็นตัวกระตุ้นให้เด็กเคลื่อนไหว ในกรณีที่เด็กดิ้นน้อยหรือมีสัญญาณที่ผิดปกติ ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุและแก้ไขได้ทัน เพราะการที่เด็กดิ้นน้อยอาจเกิดจากรกลอกตัว รกเสื่อม พบการติดเชื้อในท้อง สายสะดือพันกัน หรือถูกกดทับ ซึ่งถ้าไม่รีบแก้ไขเด็กอาจขาดออกซิเจนตั้งแต่อยู่ในท้องซึ่งเป็นอันตรายต่อสมองเด็ก และอาจเสี่ยงทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดในที่สุด
โดย บริษัท แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น จำกัด 02-732-6069-70