กรุงเทพฯ--5 พ.ย.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
เมื่อเทคโนโลยี สังคม เศรษฐกิจ การศึกษา เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ย่อมส่งผลต่อการใช้ชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ของคนโดยเฉพาะกับผู้สูงอายุที่ปัจจุบันยังไม่มีผลิตภัณฑ์และบริการใดที่ออกมารองรับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุมากนักขณะที่ในอีก 20 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะมีจำนวนผู้สูงอายุสูงขึ้นถึงกว่า 14.4 ล้านคน จำเป็นที่ไทยต้องเตรียมตัวก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเพื่อให้ผู้สูงอายุของประเทศใช้ชีวิตได้ดีขึ้นสะดวกสบายมากขึ้น จึงเป็นที่มาของกลุ่มวิจัยและพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของผู้สูงอายุ (Achieve Better Living for Elderly) เรียกสั้นๆว่า " ABLE Lab "ริเริ่มจัดขึ้นโดยกลุ่มอาจารย์ที่มีความสนใจเรื่องของผู้สูงอายุจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เพื่อทำการวิจัยออกแบบผลิตภัณฑ์ กระบวนการและบริการ เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ
อาจารย์พรยศ ฉัตรธารากุล ในฐานะหัวหน้าโครงการ เล่าว่า เรื่องของผู้สูงอายุเป็นเทรนด์ที่กำลังได้รับความสนใจซึ่งทางคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ฯ มจธ.เองก็มีแนวคิดในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ผู้สูงอายุสามารถใช้งานได้ซึ่งในระยะเวลา 2 ปี ที่ผ่านมาเราได้มีการศึกษาบริบทในหลายมิติที่เกี่ยวกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สอดรับกับนโยบายของมหาวิทยาลัยในการเก็บรวบรวมองค์ความรู้และให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้พิการและผู้สูงอายุอย่างจริงจัง ล่าสุดทาง ABLE Lab ได้ร่วมกับโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) สังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)จัดทำโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์สำหรับผู้สูงอายุ ร่วมกับผู้ประกอบการที่มีความสนใจในการวิจัยพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์กระบวนการและการบริการสำหรับนวัตกรรมสินค้าและผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุ มีระยะเวลาโครงการ 3 ปี ระหว่างปีพ.ศ. 2558 – 2560 ในการแนะนำช่วยเหลือผู้ประกอบการเอกชนภาคธุรกิจที่ต้องการผลิตสินค้าหรือบริการสำหรับผู้สูงอายุที่ทาง iTAP พิจารณาคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ ทั้งนี้แม้จะเป็นการทำงานร่วมกับภาคเอกชน แต่การดำเนินงานของ ABLE lab ยังคงจุดประสงค์หลักคือทุกๆกิจกรรมที่ทำจะต้องย้อนกลับมาที่การเรียนการสอนและการวิจัย เพราะเป้าหมายที่แท้จริงของการจัดตั้งก็เพื่อผลิตงานวิจัยพื้นฐาน(Basic Research)ซึ่งถือเป็นหน้าที่หลักของมหาวิทยาลัยที่นำกลับไปเป็นความรู้ให้กับนักศึกษา
ผศ.ดร.ชูจิต ตรีรัตนพันธ์ หนึ่งในคณะทำงาน กล่าวเสริมว่า "จุดแข็งของ ABLE lab คือ การลงพื้นศึกษาปัญหาและความต้องการจากผู้ใช้งานจริงเพราะการออกแบบอะไรไปแล้วหากกลุ่มเป้าหมายไม่ใช้มันก็ไม่มีประโยชน์
ที่จะทำ หรือหากใช้แล้วไม่ถูกหลักวิชาการอาจทำให้ผู้ใช้งานเกิดอันตรายได้ เราจึงต้องทำแบบครบทั้งกระบวนการตั้งแต่สำรวจความต้องการ วิจัย พัฒนาคอนเซ็ปท์ ออกแบบ จนถึงการทดสอบผลิตภัณฑ์ เพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งที่ออกแบบไปนั้นใช้งานได้จริง ซึ่งภาคเอกชนส่วนใหญ่จะมีวัตถุดิบมีทรัพยากรมีการผลิตผลิตภัณฑ์อยู่แล้วแต่เขาอาจไม่ได้ลงลึกมากในการทำวิจัยหรือการทดสอบการใช้งานจึงเป็นสิ่งที่ ABLE Lab เน้นถึงเรื่องของความยั่งยืนที่ผู้ใช้เมื่อใช้แล้วจะยังคงใช้ต่ออย่างรู้คุณค่า"
ด้านอาจารย์โพธ นิลสอาด สาขาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ฯ กล่าวถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุว่า ตัวอย่างการออกแบบเครื่องออกกำลังกายที่จะให้เหมาะกับผู้สูงอายุนั้น จะต้องเพิ่มเรื่องความปลอดภัยและเรื่องของความแข็งความนุ่มที่จะรับกับสรีระของผู้ใช้ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทผู้ผลิตทราบอยู่แล้วแต่ปัญหาคือทำไมคนใช้แล้วไม่ใช้ต่อ เพราะอะไรถึงเลิกใช้ นี่เป็นสิ่งที่บริษัทอยากรู้มากกว่าเพื่อนำกลับไปพัฒนาปรับปรุง จึงต้องการงานวิจัยที่จะเข้าใจผู้ใช้งานจริงๆ เป็นหน้าที่หนึ่งที่เราจะไปค้นหาให้ได้จากการศึกษาผู้ใช้งาน (User Study)เพราะสิ่งนี้ถือเป็นคีย์ที่สำคัญ
ผศ.ดร.ชูจิต กล่าวด้วยว่า "นอกจากบริบทของผู้สูงอายุแล้วยังต้องคำนึงถึงบุคคลรอบข้างด้วย เพื่อสร้างความอุ่นใจให้กับลูกหลานหรือบุคคลในครอบครัวที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านแล้วมีเพียงผู้สูงอายุอยู่คนเดียวในบ้านเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินหรือที่ไม่คาดคิดการติดต่อสื่อสารควรทำอย่างไรจึงต้องมีเรื่องการออกแบบ การเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ การทำระบบเชื่อมต่อ เช่น สมาร์ทโฮม หรือ สมาร์ทลีฟวิ่ง เป็นอีกสิ่งสำคัญในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น เราจึงต้องดูที่ระบบทั้งกระบวนการแบบครบวงจร อะไรที่สามารถจะตอบสนองการใช้ชีวิตโดยรวมของผู้สูงอายุได้บ้าง เพราะฉะนั้นนอกจาก ABLE lab แล้วเรายังมีพันธมิตรที่จะมาช่วยให้องค์ความรู้ด้านต่างๆ ให้สมบูรณ์ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. สวทช. หน่วยงานภายนอกอื่นๆ และบริษัทออกแบบเอกชน รวมถึงการจัดกิจกรรมด้านวิชาการกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศด้วย"
สุดท้ายอาจารย์พรยศ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางคณะทำงานยังมีความคิดจัดทำที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ โดยจะใช้บ้านหลังหนึ่งในมหาวิทยาลัยจัดทำเป็นบ้านตัวอย่างที่จะมีผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุที่เราออกแบบและพัฒนาขึ้นจัดแสดงภายในบ้านด้วยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการจัดหาสถานที่ หรืออาจจะเป็นการหาอาสาสมัครที่เป็นที่พักอาศัยของประชาชนทั่วไป ที่ต้องการปรับปรุงพื้นที่บางส่วนสำหรับผู้สูงอายุ และคาดว่าในอีก 2-3 ปี เราจะสามารถรวบรวมองค์ความรู้ที่ได้เกี่ยวกับการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการสำหรับผู้สูงอายุทั้งในประเทศและต่างประเทศจัดทำเป็นหนังสือเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์จากการทำงานดังกล่าวแก่นักศึกษาและบุคคลทั่วไปตามเป้าหมายการให้บริการด้านวิชาการของ มจธ.ต่อไป