กรุงเทพฯ--6 พ.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
· สมศ. ระดมนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเร่งพัฒนานักวิจัย เพื่อยกระดับศักยภาพด้านการศึกษา
จากสภาพการแข่งขันของสถาบันอุดมศึกษาที่รุนแรงขึ้น ส่งผลให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งมีการปรับยุทธศาสตร์ไปสู่ทิศทางการมุ่งผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ โดยสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงการบุกเบิกการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ จนเป็นที่รู้จักและยอมรับจากนักศึกษาทั่วโลก อย่างไรก็ตาม การพัฒนาสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย ยังมีลักษณะของมหาวิทยาลัยที่มีการจัดการเรียนการสอนควบคู่ไปกับการผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ แต่ก็ยังพบว่าอุดมศึกษาไทยยังมีจุดอ่อนของการพัฒนางานวิจัย จึงต้องเร่งแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน
ปัจจุบันการพัฒนางานด้านวิจัยในอุดมศึกษายังมีปัญหาค่อนข้างมากที่ต้องเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วน ได้แก่ ขาดความชัดเจนในเรื่องที่จะทำวิจัย ขาดแคลนเครื่องมืออุปกรณ์ในการวิจัย ขาดการประเมินผลที่ดีเพื่อต่อยอดพัฒนางานวิจัยขั้นต่อไป และงานวิจัยขาดการบูรณาการในทุกระดับ ส่งผลให้ประสิทธิภาพของงานวิจัยยังไม่เป็นองค์ความรู้ใหม่ที่มีคุณภาพเท่าที่ควร ทั้งนี้ สำหรับทางออกของปัญหางานวิจัยของไทยจึงจำเป็นต้องผลักดันให้เกิดการสร้างฐานข้อมูลงานวิจัยเป็นองค์รวม ซึ่งจะช่วยลดการซ้ำซ้อนของงานวิจัย ส่งผลให้ผู้วิจัยสามารถต่อยอดองค์ความรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยเอง จำเป็นต้องปลูกฝังให้ผู้วิจัย วิจัยจากปัญหาของประเทศ สร้างวัฒนธรรมการวิจัยแก่นักศึกษา และบูรณาการการสอนพร้อมงานวิจัย
ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. กล่าวว่า การวิจัยเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการชี้วัดคุณภาพของสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา ตลอดจนเป็นปัจจัยสำคัญในการยกระดับประเทศ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาด้านผลผลิตของการวิจัย สมศ.จึงได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว และได้กำหนดเกณฑ์ตัวบ่งชี้ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยไว้ อาทิ งานวิจัยต้องได้รับการตีพิมพ์หรือเผยแพร่ในการประชุมวิชาการระดับชาติ หรือนานาชาติ งานวิจัยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ในโครงการวิจัยและสามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม และงานวิจัยต้องเป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการ อาทิ บทความ ตำรา หนังสือ รายวิชาหรือหลักสูตร ฯลฯ ทั้งนี้ ปัญหาการวิจัยในไทย ยังขาดความชัดเจนในเรื่องที่จะทำวิจัย ขาดแคลนเครื่องมืออุปกรณ์ในการวิจัย ขาดการประเมินผลที่ดีเพื่อต่อยอดพัฒนางานวิจัยขั้นต่อไป และงานวิจัยขาดการบูรณาการในทุกระดับ ส่งผลให้ประสิทธิภาพของงานวิจัยยังไม่เป็นองค์ความรู้ใหม่ที่มีคุณภาพเท่าที่ควร นอกจากนี้ยังขาดแคลนทรัพยากรเพื่อการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย บุคลากรสายวิจัย สายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี มีจำนวนไม่เพียงพอ และการวิจัยไม่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นต้น
ด้าน ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ในระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยผลิตงานวิจัยออกมากว่า 400,000 - 500,000 เรื่อง โดยที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ มีอยู่ 100,000 - 200,000 เรื่อง ถือเป็นสถานที่เก็บรวมรวมผลงานวิจัยไว้มากที่สุด ในขณะที่ส่วนผลงานวิจัยที่เหลือจะถูกจัดเก็บอยู่ที่ตัวผู้วิจัยเจ้าของผลงานเองบางส่วน ถูกจัดเก็บเป็นฐานข้อมูลของคณะ หรือมหาวิทยาลัย ซึ่งมีความกระจัดกระจาย ไม่ได้ถูกรวบรวมมาเก็บรวมกันไว้เพื่อความสะดวกในการค้นคว้า หรือนำไปพัฒนาต่อยอด และอีกปัญหาใหญ่สำหรับงานวิจัยที่พบในระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมาคือ ปัญหาการใช้คำศัพท์ในการวิจัยที่แตกต่างกัน ทำให้มีปัญหาในการสืบค้นข้อมูล หรือเกิดความซ้ำซ้อนในเรื่องของวิจัย ดังนั้นประเทศไทยต้องสร้างฐานข้อมูลงานวิจัยเป็นองค์รวมเพื่อลดการซ้ำซ้อนของงานวิจัย สามารถต่อยอดองค์ความรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสามารถใช้งบประมาณในการทำวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
ด้านมุมมอง ศาสตราจารย์ ดร.ประมวล ตั้งบริบูรณ์รัตน์ ผอ.โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย กล่าวถึงทางออกของการแก้ปัญหาด้านการวิจัยของประเทศไทยในระยะยาว โดยได้เสนอ 3 แนวทาง ดังนี้ 1) วิจัยจากปัญหาของประเทศ ในปัจจุบันมีนักวิจัยบางส่วนเน้นการทำวิจัยเพื่อต้องการตำแหน่งทางวิชาการและทุนในการวิจัย ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วผู้วิจัยควรทำวิจัยในหัวข้อที่ตนถนัดหรือมีความเชี่ยวชาญ เพราะจะทำให้ผู้วิจัยสามารถมองถึงปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างทะลุปรุโปร่ง และสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ดีที่สุด รวมถึงตอบสนองต่อความต้องการของประเทศ 2) ปลูกฝังวัฒนธรรมการวิจัยแก่นักศึกษา มุ่งเน้นให้นักศึกษาได้เห็นถึงความสำคัญของงานวิจัย โดยการให้นักศึกษาได้มีส่วนร่วมในการวิจัย เพื่อให้นักศึกษาได้เห็นถึงความสำคัญของการทำวิจัย ความรู้และการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล 3) บูรณาการการสอนพร้อมงานวิจัย นักวิจัยที่ดีจะต้องคำนึงถึงจิตวิญญาณงานวิจัยว่า คือการสร้างองค์ความรู้ใหม่และให้มองว่าการสอนกับงานวิจัยเป็นเรื่องเดียวกัน โดยให้งานวิจัยเป็นตัวสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้นักศึกษา ขณะเดียวกันผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมโดยสนับสนุนด้านการอำนวยความสะดวกให้นักวิจัย โดยเฉพาะอาจารย์ใหม่ๆ เช่น มีนักวิจัยพี่เลี้ยง งบประมาณและไม่สร้างความกดดันมากจนเกินไป
สำหรับคณาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือเข้าไปที่ www.onesqa.or.th