กรุงเทพฯ--31 ม.ค.--BOI
แนวโน้มการลงทุนของคนไทยสดใส ยอดลงทุนปี 43 ของกิจการที่ดำเนินการโดยคนไทย 100% สูงถึง 61,500 ล้านบาท และมีจำนวนโครงการลงทุนถึง 324 โครงการ ส่วนยอดการลงทุนของ SMEs ไทย รอบ 10 ปี มีเงินลงทุนรวมถึง 1.9 แสนล้านบาท จากการลงทุน 2,764 โครงการ ด้านอนาคตของผู้ผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมในประเทศยังไปได้ดี ปี 43 มีการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ที่ผลิตในประเทศถึง 2.6 พันล้านบาท
จากการรวบรวมสถิติการอนุมัติให้มีการส่งเสริมการลงทุน ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในส่วนของกิจการที่เป็นของคนไทย 100% พบว่า การลงทุนของกิจการที่เป็นของคนไทย 100% มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยมีมูลค่าการลงทุนในปี 2543 สูงถึง 61,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2542 ซึ่งมีมูลค่า 17,900 ล้านบาทประมาณร้อยละ 243 ส่วน จำนวนโครงการลงทุนของคนไทย 100% ในปี 2543 ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 324 โครงการ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 110 เมื่อเทียบกับจำนวนโครงการในปี 2542 ที่มี 154 โครงการ
ทั้งนี้ กิจการที่คนไทยลงทุนประกอบไปด้วย อุตสาหกรรมเกษตร และเกษตรแปรรูป รองลงมาคือ อุตสาหกรรมเบา เช่น การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ กระดาษ และ พลาสติก สาเหตุที่มีการลงทุนในกิจการเหล่านี้มากขึ้นเป็นเพราะมีตลาดรองรับทั้งในและต่างประเทศอยู่แล้ว และเป็นอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่อง
สำหรับสัดส่วนการลงทุนของคนไทย 100% เมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วนการลงทุนทั้งหมดในปี 2543 พบว่า เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านี้ โดยสัดส่วนการลงทุนในกิจการที่เป็นของคนไทยในปีนี้ มีร้อยละ 29 ของการลงทุนทั้งหมด เพิ่มจากปี 2542 ที่มีการลงทุนของคนไทยร้อยละ 23 ของการลงทุนทั้งหมด
ที่ผ่านมา ตัวเลขการลงทุนของนักลงทุนไทย 100% อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ โดยเฉพาะในช่วงเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ (ปี 2537-2540) มีจำนวนโครงการลงทุนของคนไทย และมูลค่าการลงทุนดังนี้ ปี 2537 มีการลงทุน 656 โครงการ มูลค่าการลงทุน 124,700 ล้านบาท ปี 2538 จำนวนโครงการลดลงเป็น 566 โครงการ แต่มูลค่าการลงทุนเพิ่มเป็น 169,100 ล้านบาท ปี 2539 มีการลงทุน 422 โครงการ มูลค่าเพิ่มเป็น 172,900 ล้านบาท และปี 2540 มีการลงทุน 325 โครงการ มูลค่า 147,800 ล้านบาท ซึ่งแม้ว่าจำนวนโครงการแต่ละปี (2537-2540) จะลดลง แต่มูลค่าการลงทุนกลับเพิ่มขึ้นเป็นเพราะมีโครงการขนาดใหญ่เข้ามาลงทุนเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการลงทุนของคนไทยในปี 2540 เริ่มมีจำนวนโครงการลดลง ซึ่งในปี 2541-2542 จำนวนโครงการและมูลค่าการลงทุนของนักลงทุนไทย 100% ก็ลดลงอีกอันเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ แต่ในปี 2543 ที่ผ่านมา ตัวเลขการลงทุนของคนไทยเพิ่มขึ้นมา ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศของนักลงทุนไทย ทำให้สัดส่วนการลงทุนของคนไทยเพิ่มมากขึ้น
สำหรับตัวเลขการลงทุนของโครงการที่เป็นกิจการของนักลงทุนไทย 100% ที่มีมูลค่ากรลงทุนตั้งแต่ 1 ล้านบาท ถึง 200 ล้านบาท (กิจการขนาดเล็กและกลาง) ตั้งแต่ปี 2533 ถึง 2543 นั้น มีจำนวนโครงการลงทุนทั้งสิ้น 2,764 โครงการ และมีมูลค่าเงินลงทุนทั้งหมด 190,779 ล้านบาทการใช้ชิ้นส่วนในประเทศยังสดใส
สำหรับการใช้ชิ้นส่วนอุตสาหกรรมที่ผลิตในประเทศ ในปี 2544 นี้ มีแนวโน้มว่านักลงทุนจะใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศโดยบริษัทของคนไทยมากขึ้น ทั้งนี้ ในปี 2543 ที่ผ่านมา การจัดโครงการผู้ซื้อพบผู้ขายของหน่วยพัฒนาการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม หรือ BUILD (BOI Unit for Industrial Linkage Development) ได้ก่อให้เกิดการซื้อขายชิ้นส่วนระหว่างผู้ประกอบการรายย่อยของไทยกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรายใหญ่คิดเป็นเงินสูงถึง 2,638 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 156 เมื่อเทียบกับปี 2542 ซึ่งมีมูลค่า 1,030 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งสามารถแบ่งเป็นการจำหน่ายชิ้นส่วนอุตสาหกรรมกับโรงงานประกอบภายในประเทศ 1,638 ล้านบาท การซื้อขายชิ้นส่วนระหว่างผู้ผลิตชิ้นส่วนรายย่อยของไทย 700 ล้านบาท และการจำหน่ายชิ้นส่วนอุตสาหกรรมกับผู้ซื้อจากต่างประเทศ 300 ล้านบาท
สำหรับผู้ผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมรายย่อยของไทยส่วนใหญ่เป็นกิจการขนาดเล็กและ ขนาดกลาง ถือหุ้นและดำเนินการโดยคนไทย 100% ถึงกว่าร้อยละ 60 ของผู้ผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมรายย่อมทั้งหมด--จบ--
-นศ-