ฝ่ายวิจัยแสนสิริ สรุปภาพรวมตลาดอาคารสูงในเขตกรุงเทพมหานครในช่วงหกเดือนแรกของ 2543 (1H-00)

ข่าวทั่วไป Wednesday August 1, 2001 17:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ส.ค.--แสนสิริ
ตลาดคอนโดมิเนียม
ตลาดคอนโดมิเนียมในช่วงครึ่งปีแรกนี้ยังขยายตัวดีต่อเนื่อง มีความต้องการซื้อเพิ่มขึ้นมาก มีโครงการที่หยุดดำเนินการไปแล้วในช่วงเวลาหนึ่งกลับเข้ามาในตลาดใหม่ และในขณะเดียวกันก็มีโครงการก่อสร้างใหม่เปิดเพิ่มเข้ามาอีก
ปริมาณ Supply ที่สร้างแล้วเสร็จในปัจจุบันนั้นมีจำนวนจำกัด ในครึ่งปีแรกนี้มีโครงการสร้างแล้วเสร็จเพิ่มขึ้นเพียงโครงการเดียว คือ โนเบิลเฮาส์ ร่วมฤดี ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดดำเนินการต่อหลังจากที่หยุดไปในช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยมีเพียง 24 ยูนิตเท่านั้น และจากการที่ตลาดมีความต้องการซื้อต่อเนื่อง ทำให้เกิด supply ใหม่เปิดตัวในตลาดเพิ่มขึ้นอีกสองโครงการ เป็นโครงการที่หยุดดำเนินการแล้วกลับมาเปิดตัวและดำเนินการก่อสร้างต่ออีกครั้งหนึ่งโครงการ คือโครงการสีลมซิตี้คอนโด ถนนศาลาแดง อีกโครงการหนึ่งเป็นโครงการขึ้นใหม่ คือ ลุมพินีเพลส สาทร บนถนนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกจากการเริ่มวิกฤติทางเศรษฐกิจที่มีโครงการเปิดตัวขายและสร้างใหม่ ดังนั้นทำให้ปริมาณ Supply หรือจำนวนคอนโดมิเนียมที่กำลังก่อสร้างเพิ่มขึ้นเป็น 1,321 ยูนิต จาก 7 โครงการ ในจำนวนนี้ โครงการส่วนใหญ่ (6โครงการ 751 ยูนิต)คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงครึ่งปีหลังนี้ แบ่งเป็นโครงการในเขต CBD 178 ยูนิต ในเขตพหลโยธินและรัชดา 399 ยูนิต และในเขตศรีนครินทร์อีก 174 ยูนิต และการกลับเข้ามาของ โนเบิลเฮาส์ ร่วมฤดีและสีลมซิตี้คอนโดนั้น ทำให้ยอดโครงการที่หยุดดำเนินการในตลาดรวมลดลงเป็น 13,819 ยูนิต จาก 32 โครงการ
สำหรับยอดขายรวมใน 6 เขตในช่วงครึ่งปีแรกอยู่ที่ประมาณ 1,073 ยูนิต เพิ่มขึ้นจากยอดขายในช่วงครึ่งปีที่แล้ว (2543) ถึงเกือบ 60% ซึ่งขายได้ 675 ยูนิต และเทียบกับยอดขาย 886 ยูนิตในช่วงครึ่งปีแรกของ 2543 ระบบการขายโดยการประมูลยังคงเป็นส่วนช่วยที่สำคัญ โดยที่ประมาณ 30% จากยอดขายรวมทั้งหมดหรือประมาณ 290 ยูนิตนั้นเป็นการขายแบบประมูลเขตพระราม 3 เป็นเขตที่ตื่นตัวมากที่สุด เนื่องจากมีโครงการเปิดตัว (เริ่ม Pre-sale) ใหม่เข้าร่วมกระตุ้นตลาด เขตนี้ขายได้ทั้งหมด 653 ยูนิต ซึ่งเทียบกับยอดขายของเขตในช่วงครึ่งหลังของปี 2543 ซึ่งขายได้ทั้งหมด 111 ยูนิต นอกจากเขตนี้แล้ว อีกห้าเขตที่เหลือ คือ เขตเพลินจิต เขตสีลม สาทร เขตสุขุมวิท เขตพญาไท และเขตพหลโยธินตอนต้น มียอดขายที่ลดลง เนื่องจากปริมาณ Supply ที่ให้เลือกได้อย่างถูกใจและถูกราคานั้นมีจำนวนจำกัด
ในส่วนของราคานั้น ถึงแม้ปริมาณความต้องการซื้อจะสูงต่อเนื่อง แต่ราคาขายนั้นยังไม่ปรับตัวขึ้นตามเท่าใดนัก โดยที่เขตพระราม 3 ที่ขายได้มากที่สุดในช่วงครึ่งปีแรกนี้ขยับขึ้นเพียง 2% มาอยู่ที่ 32,807 บาทต่อตารางเมตร เขตสุขุมวิทก็คงที่เช่นเดิมโดยมีราคาที่โครงการส่วนใหญ่ขาย (Priced Mode) อยู่ที่ 28,000-34,500 บาท ในขณะที่เขต CBD มี priced Mode ที่ 45,000-60,000
ตลาดเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์
ตลาดเซอร์วิสอพาร์ตเมนท์ในช่วงหกเดือนแรกของปีนี้ปรับตัวดีขึ้นค่อนข้างมากเนื่องจากปริมาณ Supply ใหม่ที่เข้าสู่ตลาดในช่วงนี้มีจำนวนต่ำสุดเท่าที่ผ่านมา โดยมีเพียง 50 ยูนิตเท่านั้น เมื่อเทียบกับปริมาณเฉลี่ยในอดีตที่มีปีละ 1,000 ยูนิต ทำให้มีจำนวนเซอร์วิสสอพาร์ตเมนต์หลัก ๆ ใน เขตกรุงเทพมหานครทั้งหมดรวม 9,068 ยูนิต จาก 79 โครงการ
ปริมาณ Supply ที่ลดลงอย่างมาก ทำให้อัตราการครอบครองเฉลี่ยพุ่งสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยที่เขต CBD ขึ้นสูงสุดถึง 10% มากที่สุดเท่าที่ผ่านมา คือจาก 72% ในช่วงครึ่งปีหลังของ 2543 เป็น 82% ใน 1H-01 ในเขตสุขุมวิท อัตราการครอบครองเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 4% จาก 83% เป็น 87% และเมื่อเทียบระหว่างเซอร์วิสอพาร์ตเมนท์เกรด B โดยมีอัตราการครอบครองเฉลี่ยสูงกว่าประมาณ 12-16%
สำหรับอัตราค่าเช่า ถึงแม้ว่าการแข่งขันในช่วงหกเดือนแรกของปีนี้จะต่ำลงมากก็ตาม แต่ค่าเช่ายังค่อนข้างคงที่ คือเปลี่ยนแปลงขึ้นลงเพียง 1-2% เท่านั้น โดยที่เขตสุขุมวิท อาคารเกรด A มีค่าเช่าเฉลี่ยอยู่ที่ 835 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน ในขณะเดียวกัน เกรด B อยู่ที่ 408 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือนในเขต CBD ค่าเช่าอาคารเกรด A อยู่ที่ 809 บาท และเกรด B อยู่ที่ 599 บาท
สถานการณ์ตลาดในอีก 6 เดือนข้างหน้านั้น ถึงแม้จะมี Supply ใหม่รอที่จะทยอยเปิดตัวอีกจากโครงการขนาดใหญ่ 3 โครงการ ด้วยจำนวนประมาณ 1,235 ยูนิต แต่อย่างไรก็ตามยูนิตใหม่เหล่านี้มิได้เปิดพร้อมกันทีเดียว แต่จะทยอยเปิดทีละส่วน ดังนั้นจึงคาดว่ามิน่าจะส่งผลกระทบต่ออัตราการครอบครองเฉลี่ยมากนัก
ตลาดอพาร์ตเมนต์
ตลาดอพาร์เมนต์ในช่วงครึ่งปีแรกนี้ยังคงปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยมี Demand เพิ่มขึ้นในขณะที่อัตราค่าเช่าค่อนข้างคงที่ คือเปลี่ยนแปลงขึ้นเล็กน้อยประมาณ 1-3%
ปัจจุบันมีจำนวนอพาร์เมนต์ในเขตหลัก ๆ ในกรุงเทพฯ ทั้งหมด 10,113 ยูนิต จาก 349 โครงการปริมาณ Supply ใหม่ที่เข้ามาในช่วงครึ่งปีแรกนี้ลดลงอย่างมาก มีเพียง 107 ยูนิต จาก 4 โครงการใหม่ ซึ่งปริมาณ Supply แต่ละปีของ Sector ก็มีไม่มากอยู่ที่ประมาณ 500 ยูนิตต่อปีในช่วงที่ผ่านมา ปัจจุบัน สุขุมวิทยังคงเป็นเขตที่ได้รับความนิยมสูงสุด โดยที่ทั้ง 4 โครงการเปิดใหม่นี้ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตนี้ และทั้งที่มี Supply ใหม่เข้ามา อัตราการครอบครองเฉลี่ยของเขตนี้ยังคงขยับตัวสูงขึ้นจากตัวเลขเดือน ธ.ค.-2543 อีก 2% ขึ้นเป็น 93% โดยขยับขึ้นไปเทียบเท่ากับอัตราการครอบครองช่วงก่อนวิกฤติ สำหรับค้าเช่าอาคารที่ดูแลรักษาดีของเขตนี้ ณ เดือน มิ.ย.-2544 อยู่ที่ 294 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน ในขณะที่อาคารเก่ามีค่าเช่าอยู่ที่ 212 บาท ในเขต CBD อัตราการครอบครองก็ขยับขึ้นเช่นกัน จาก 88% เป็น 91% ซึ่งนับว่าขึ้นถึง 90% เป็นครั้งแรกโดยมีค่าเช่าเฉลี่ยของอาคารที่ดูแลรักษาดีที่ 331 บาท และอาคารเก่าที่ 232 บาท
สถานการณ์ตลาดในช่วง 6 เดือนข้างหน้า คาดว่า Sector นี้จะปรับตัวขึ้นอีก ปริมาณ Supply ใหม่ที่จะเข้ามาในตลาดเหลือเพียงเล็กน้อย จะทำให้ส่งผลดีต่ออัตราการครอบครองและค่าเช่า
ตลาดอาคารสำนักงาน
ตลาดอาคารสำนักงานในช่วงครึ่งปีแรกนี้ยังคงปรับตัวขึ้นอีก หากแต่ในอัตราที่ลดลงเมื่อเทียบกับการขยายตัวในช่วงครึ่งของปีหลังของปี 2543
ถึงแม้ว่าจะมีพื้นที่เปิดใหม่เพิ่มเข้ามาอีก 35,500 ตารางเมตร และทำให้มีพื้นที่อาคารสำนักงานในเขตกรุงเทพมหานครรวมทั้งสิ้น 6.499 ล้านตารางเมตร แต่อัตราการครอบครองเฉลี่ยยังคงขยับตัวเพิ่มขึ้นอีก 1% จากตัวเลขเดือน ธ.ค-43 เป็น 68% ในเดือน มิ.ย-44
ช่วงครึ่งปีแรกนี้ ประมาณว่ามีการครอบครองพื้นที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดอีก 100,000 ตารางเมตร ทั่วกรุงเทพมหานคร ซึ่งนับเป็นการขยายตัวในอัตราที่ลดลงเมื่อเทียบกับจำนวน 138,000 ตารางเมตรในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2543 การขยายตัวบริษัทสื่อสารและคอมพิวเตอร์ยังคงมีบทบาทสำคัญ และจากจำนวนพื้นที่ที่ครอบครองเพิ่มขึ้น นับว่าความต้องการพื้นที่ในอาคารเกรดเอในเขต CBD นั้นมีมากกว่าอาคารเกรดบี ในเขตสีลม/สาทร มีพื้นที่เกรดเอครอบครองเพิ่มประมาณ 43,000 ต.ร.ม. ทำให้อัตราการครอบครองเพิ่มขึ้นจาก 68% เป็น 70% และในเขตเพลินจิต/วิทยุมีพื้นที่ครอบครองเพิ่ม 8,200 ตรม ด้วยอัตราการครอบครองเพิ่มขึ้นจาก 63% เป็น 65% สำหรับอัตราค่าเช่าอาคารเกรดเอของช่วงครึ่งปีแรกนี้มีแนวโน้มดีขึ้น ค่าเช่าในเขตเพลินจิต วิทยุยังคงขยับขึ้นอีกเล็กน้อย 1.5% นับเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งที่ 2 โดยมาอยู่ที่ 399 บาทต่อตารางเมตร ณ เดือน มิ.ย.-44 (ขึ้นจาก 393 บาท ณ เดือน ธ.ค.-43) ในเขตสีลม/สาทร ก็มีแนวโน้มดีขึ้นเช่นกัน ค่าเช่าเริ่มคงที่ หลังจากที่ลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่สามปีที่แล้ว โดยยังคงอยู่ที่ 381 บาทตารางเมตร
สำหรับแนวโน้มของตลาดอาคารสำนักงานในช่วงหกเดือนข้างหน้านั้น คาดว่าจะมีการแข่งขันกันเพิ่มขึ้น เนื่องจากจะมีพื้นที่สร้างเสร็จใหม่เข้ามาอีกเกิน 100,000 ตารางเมตร ในขณะที่การขยายตัวธุรกิจหลายๆรูปแบบยังคงเป็นไปได้ยาก ดังนั้นจึงมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อความต้องการพื้นที่อาคารสำนักงานและค่าเช่าเพิ่มขึ้นอีก
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่วิภาวริศ เกตุปมา เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์อาวุโสบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) โทรศัพท์ 02-201-3328 โทรสาร 02-201-3904 E-mail address: wipavaris@sansirl.com-- จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ