กรุงเทพฯ--9 พ.ย.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์
"ศูนย์ศึกษาเรนนิงเก้นของบ๊อชเปรียบได้กับมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด" มร. โฟล์คมาร์ เดนเนอร์ ซีอีโอของบ๊อชกล่าว
การวิจัยอุตสาหกรรมประยุกต์ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
การขยายขีดความสามารถที่สำคัญในด้านไมโครอิเล็กทรอนิกและซอฟต์แวร์
สภาพแวดล้อมการทำงานที่เหมาะกับนักสร้างสรรค์นวัตกรรม
บ๊อช ผู้นำการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับโลก เปิดตัวศูนย์ศึกษาเรนนิงเก้น เน้นสภาพแวดล้อมการทำงานแบบใหม่หมดจด เพื่อรองรับนักพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมโดยเฉพาะ มุ่งส่งเสริมความร่วมมือแบบสหวิทยาการพร้อมเสริมความแข็งแกร่งด้านนวัตกรรม โดยศูนย์วิจัยและค้นคว้าด้านวิศวกรรมศาสตร์แห่งใหม่อันล้ำสมัยนี้ตั้งอยู่บริเวณชานเมืองสตุ๊ทการ์ท ประเทศเยอรมนีประกอบด้วยนักพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมราว 1,700 คนที่ขะมักเม้นอยู่กับการวิจัยด้านอุตสาหกรรมประยุกต์
มร.โฟล์คมาร์ เด็นเนอร์ ประธานกรรมการบริหารของบ๊อช กล่าวว่า "ศูนย์ศึกษาเรนนิงเก้นแห่งนี้เปรียบได้กับมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่ประกอบด้วยคณะต่างๆ มากมาย เราต้องการให้นักวิจัยทำอะไรได้มากกว่าการคิดว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น เราอยากเห็นพวกเขาประสบความสำเร็จในฐานะผู้ประกอบการด้วย ศูนย์ศึกษาเรนนิงเก้นจึงเปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดที่บ๊อชเป็นเจ้าของและเป็นการแสดงออกถึงความศรัทธาที่มีต่อประเทศเยอรมนีในฐานะเจ้าแห่งเทคโนโลยี"
บริษัทได้ลงทุนไปแล้วกว่า 310 ล้านยูโรกับศูนย์วิจัยแห่งใหม่ที่จะกลายเป็นศูนย์กลางเครือข่ายการค้นคว้าวิจัยระดับโลกของบ๊อชภายใต้คำขวัญว่า "Connected for millions of ideas" หรือ "เชื่อมโยงกัน ปันนับล้านไอเดีย" นอกจากศูนย์ฯ จะทำหน้าที่ผลิตและให้บริการด้านเทคโนโลยีแล้ว ยังมุ่งเสริมสร้างจิตวิญญาณแห่งการเป็นผู้ประกอบการด้วย เนื่องจากมร.โฟล์คมาร์เล็งเห็นว่าประเทศเยอรมนีมีจุดที่เสียเปรียบในเชิงการแข่งขันทางธุรกิจอยู่ "ปัจจุบัน โอกาสในการตั้งกิจการและคนที่มีความตั้งใจที่จะสร้างธุรกิจของตัวเองในประเทศเยอรมนีไม่มีอยู่เลย โดยเฉพาะในหมู่บัณฑิตจบใหม่ เยอรมนีต้องการคนรุ่นใหม่ที่มีจิตวิญญาณและความมุ่งมั่นที่อยากจะสร้างธุรกิจสตาร์ตอัพของตัวเอง ซึ่งมหาวิทยาลัยควรมีบทบาทมากกว่าแค่การเตรียมความพร้อมในการสอบไล่ให้กับนักเรียนในสาขาวิชาที่เฉพาะทางมากๆ เท่านั้น"
นวัตกรรมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ความมุ่งหวังในอนาคต คือการได้เห็นนวัตกรรมมากมายได้รับการพัฒนาขึ้นที่ศูนย์ศึกษาเรนนิงเก้น โดยนวัตกรรมเหล่านี้จะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ศูนย์ฯ แห่งนี้ได้รวมเอาวิชาการแขนงต่างๆ ด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์มาไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นวิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมเครื่องกล วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ อนาไลติกส์ เคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา และเทคโนโลยีไมโครซิสเต็มส์ โดยมีบุคลากรกว่า 1,200 คนที่ทำงานด้านวิจัยและวิศวกรรมอันล้ำหน้าให้แก่องค์กร นอกจากนี้ ยังมีนักศึกษาระดับดุษฏีบัณฑิตและนักศึกษาฝึกงานร่วม 500 คนที่กำลังค้นคว้าเกี่ยวกับความท้าทายทางเทคนิคต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ปัจจุบัน กลุ่มนักวิจัยได้กระจายตัวไปทำงานในพื้นที่ต่างๆ สามแห่งในเขตปริมณฑลของเมืองสตุ๊ทการ์ต
ขอบเขตของเทคโนโลยีด้านการวิจัยและวิศวกรรมอันล้ำหน้า
ท่ามกลางบรรยากาศของศูนย์ที่แตกต่าง นักพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมของบ๊อชจะร่วมกันทำงานเพื่อคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมทั้งพัฒนากรรมวิธีการผลิตที่ล้ำสมัยด้วย โดยจะเน้นการทำงานในด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์ เทคโนโลยีเซนเซอร์ ออโตเมชั่น ระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ เทคโนโลยีแบตเตอรี่ และระบบส่งกำลังต่างๆ ทั้งนี้ ยังมีแขนงงานหนึ่งที่กำลังเติบโตอย่างเห็นได้ชัดคือหน่วยงานความเชี่ยวชาญด้านซอฟต์แวร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการเชื่อมต่อสื่อสารกันระหว่างวัตถุหรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่เรียกว่าอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (internet of things connectivity: IoT connectivity) มร.โฟล์คมาร์ กล่าวว่า "การที่เยอรมนีจะรักษาฐานที่มั่นแห่งความเป็นผู้นำเกมด้านเทคโนโลยีการเชื่อมต่อ (connectivity) ได้นั้น เยอรมนีจะต้องรักษาและพัฒนาขีดความสามารถหลักๆ ด้านไมโครอิเล็กทรอนิกส์และซอฟต์แวร์ให้ได้ ซึ่งหากทำไม่ได้ อุตสาหกรรมของเยอรมันก็จะล้าหลัง ทั้งนี้ ไม่มีเหตุผลที่จะกลัวเกมการแข่งขันกับบริษัทไอที แต่ในแง่ความเป็นกิจการด้านอุตสาหกรรม การแข่งขันครั้งนี้ย่อมไม่ใช่เรื่องที่จะผ่านไปได้ง่ายๆ แน่นอน"
มร.โฟล์คมาร์เชื่อว่าบ๊อชมีความพร้อมในการรองรับกระแสคอนเน็คทิวิตี้ เห็นได้จากการที่บริษัทไม่เพียงแต่เป็นผู้นำตลาดโลกด้านเซนเซอร์เครื่องกลขนาดจิ๋วเท่านั้น แต่ยังขยายตลาดไปสู่ด้านซอฟต์แวร์ได้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปัจจุบันบ๊อชกรุ๊ปมีวิศวกรด้านซอฟต์แวร์กว่า 15,000 คน และมีผู้เชี่ยวชาญถึง 3,000 คนที่ทุ่มเททำงานด้านอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์เพียงอย่างเดียว บ๊อชเล็งเห็นถึงศักยภาพทางธุรกิจมหาศาลในธุรกิจบริการที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องจากยุคของเทคโนโลยีการเชื่อมต่อ "หากเราไม่อยากให้คนอื่นคว้าโอกาสดีๆ เช่นนี้ไปครอง เราก็ต้องทำงานให้เร็วกว่า และกล้าที่จะเสี่ยง" มร.โฟล์คมาร์กล่าว "ในช่วงจังหวะที่เราทำงานรุดหน้ากว่าที่เคยเป็น วิศวกรของเราจึงต้องมีหัวคิดแบบนักธุรกิจ สิ่งที่สามารถสร้างสรรค์ขึ้นได้ ไม่เพียงแต่จะต้องทำให้นักวิจัยตื่นเต้นเท่านั้น แต่ต้องทำให้ลูกค้าของเราในอนาคตตื่นตาตื่นใจไปด้วย"
เยอรมนีต้องเรียนรู้ที่จะกล้าเสี่ยงให้มากขึ้น
มร.โฟล์คมาร์กล่าวเสริมว่าบริษัทใหญ่ๆ เช่นบ๊อช ควรสร้างพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้องค์กรและสปิริตแห่งการเป็นผู้ประกอบการเติบโตร่วมกันได้ ซึ่งบ๊อชกำลังทำให้ดูเป็นตัวอย่าง โดยได้จัดทำแพลตฟอร์มสตาร์ตอัพขึ้นมาสำหรับธุรกิจใหม่ๆ มร.โฟล์คมาร์ได้เน้นย้ำว่า หาก 'โมเดลธุรกิจแบบซิลิคอน วัลเลย์' จะกลายเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจของยุโรป "เราจึงควรเรียนรู้ที่จะกล้าได้กล้าเสีย" บ๊อช สตาร์ทอัพ จีเอ็มบีเอช (Bosch Start-up GmbH) จึงเกิดขึ้นเพื่อช่วยเหลือและส่งเสริมให้นักวิจัยของบ๊อชกลายเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ โดยมีส่วนช่วยอำนวยความสะดวกและดูแลในด้านอสังหาริมทรัพย์ การเงิน และงานด้านธุรการต่างๆ ซึ่งทำให้ธุรกิจที่ผุดขึ้นมาใหม่สามารถโฟกัสกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการเจาะตลาดได้อย่างไร้กังวล หุ่นยนต์เพื่อการเกษตร Bonirob เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจากการบริหารงานตามแนวทางนี้ บริษัทบ๊อช สตาร์ทอัพ ดีปฟิลด์ โรโบติกส์ (Bosch start-up Deepfield Robotics) ได้พัฒนาหุ่นยนต์ที่มีขนาดเท่ากับรถคอมแพ็คตัวนี้ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ช่วยเพาะพันธุ์พืชและกสิกรรม
สภาพการทำงานที่ดีที่สุดต่อความคิดสร้างสรรค์
เมื่อพื้นที่ศูนย์ศึกษาขยายออกไปมากขึ้นก็มีพื้นที่เพียงพอให้ทดสอบการทำงานของหุ่นยนต์เพื่อการเกษตรกรรมได้เต็มที่ โดยนอกเหนือจากพื้นที่อาคารหลักแล้ว ยังมีห้องแล็บ 11 ห้อง และอาคารทำเวิร์คช็อปอีก 2 อาคารสำหรับงานบำรุงรักษาสถานีวิจัย นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ที่ปรับให้ทันสมัยเพื่อ รองรับการทดสอบระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ มีการใช้เน็ตเวิร์คเมทริกซ์เพื่อกำหนดว่าใครควรทำงานที่อาคารใด โดยได้ข้อมูลจากการวิเคราะห์ว่าหน่วยงานใดบ้างที่ต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างเข้มข้นระหว่างกัน ยิ่งหน่วยงานที่ต้องพึ่งพาอาศัยกันมาก ก็ควรจะมีพื้นที่ทำงานที่อยู่ในระยะใกล้กัน
มุมสงบและมุมสำหรับการทำงานร่วมกัน
บ๊อชให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับสภาพการทำงานที่ศูนย์ศึกษาเรนนิงเก้น ไม่ว่าจะเป็นภายในหรือนอกอาคาร นักพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมจะได้อยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่ทันสมัย ทั้งนี้ พื้นที่ในศูนย์ศึกษาทั้งหมดสามารถเป็นสถานที่ทำงานได้ทั้งสิ้น "ไม่ว่าจะเป็นการระดมสมองท่ามกลางอากาศที่สดชื่น การคิดค้นเทคโนโลยีบริเวณริมน้ำ ล้วนเกิดขึ้นได้ในศูนย์ศึกษาเรนนิงเก้น" มร.โฟล์คมาร์กล่าว WiFi ออนไลน์มีอยู่ทั่วทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะในอาคารหรือกลางแจ้ง ดังนั้น การทำงานผ่านคอมพิวเตอร์แล็ปท็อป แท็บเล็ต และการสื่อสารทางเสียงผ่านอินเทอร์เน็ตจึงสามารถทำได้ในพื้นที่ทุกตารางนิ้ว โดยมร.โฟล์คมาร์ได้อธิบายแนวคิดนี้ว่า "เรามีทั้งมุมสงบและมุมสำหรับให้นักพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมของเราทำงานร่วมกันได้" มีการออกแบบเลย์เอ้าท์สำนักงานให้เข้ากับกระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่วิเคราะห์มาแล้วทั้งระบบ โดยมองว่าในขั้นตอนของการคิดค้นหาไอเดีย นักพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมย่อมต้องการบรรยากาศที่เงียบสงบ แต่หลังจากนั้น จะไปเข้าสู่ขั้นตอนของการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการทำงานร่วมกับคนอื่นๆ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญ โดยในการวางแผนสร้างศูนย์ศึกษาแห่งนี้ได้พิจารณาถึงขั้นตอนการทำงานต่างๆ รวมถึงความต้องการของนักพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมร่วมกัน
มร.อัลเฟรด ล็อคเคิล ประธานสภาแรงงานรวมและส่วนกลาง ของบ๊อช กล่าวว่า "ทีมงานต่างต้องการอิสระในการใช้ความคิดสร้างสรรค์ไปกับงานค้นคว้าและพัฒนา หรือแม้กระทั่งงานธุรการเล็กๆ น้อยๆ โดยเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ตัวแทนพนักงานให้การสนับสนุนอย่างแข็งขัน หมดยุคสมัยที่การออกแบบสถานที่ทำงานจะต้องเกิดขึ้นจากความต้องการของคณะกรรมการเพียงฝ่ายเดียวแล้ว เพราะเราตระหนักดีว่าพนักงานใช้เวลาอยู่ในที่ทำงานเป็นเวลานาน พวกเขาจึงมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นในการออกแบบสถานที่ทำงานของพวกเขาเช่นกัน"
การเปิดให้ทุกคนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นทำให้ได้สถานที่ทำงานตามคอนเซ็ปต์ใหม่ ไม่เพียงแต่ทุกคนจะมีที่ทำงานส่วนตัวเท่านั้น แต่ยังมีห้องประชุมขนาดต่างๆ ถึง 270 ห้อง ทำให้มีพื้นที่มากพอสำหรับการทำงานที่ต้องใช้สมาธิส่วนตัวและการทำงานร่วมกันเป็นทีม โดยเฉลี่ยแล้ว นักพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมจะทำงานห่างจากห้องประชุมราว 10 เมตรเท่านั้น นั่นจึงช่วยให้โอกาสที่จะเกิดการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมด้วยเช่นกัน