กรุงเทพฯ--9 พ.ย.--ซีพีเอฟ
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ จับมือองค์การสะพานปลาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านแรงงาน จัดสร้างศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มแรงงานประมงและครอบครัวขึ้น ที่ท่าเทียบเรือประมงสงขลา จ.สงขลา เพื่อเป็นศูนย์ช่วยเหลือ และป้องกันการค้ามนุษย์ รวมถึงเป็นศูนย์ประสานงานรับแจ้งเรื่องร้องทุกข์ของแรงงานประมง ที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ หรือได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมในพื้นที่
นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟตระหนักดีว่า การดำเนินงานเพื่อขจัดปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย และการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมง ต้องอาศัยการทำงานอย่างบูรณาการของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน NGO และผู้มีส่วนได้เสียในภาคการประมงทั้งระบบ ซึ่งจังหวัดสงขลา เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีสถิติการให้ความช่วยเหลือผู้ตกเป็นเหยื่อจากการค้ามนุษย์ในเรือประมงในพื้นที่จังหวัดสงขลาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องมีศูนย์กลางสำหรับสร้างเครือข่ายอาสาสมัครช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว และเพื่อรองรับกิจกรรมช่วยเหลือ และเยียวยา ให้แก่แรงงานที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์และ ครอบครัวของแรงงาน รวมถึงป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย
เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวลุล่วงซีพีเอฟได้สนับสนุนงบประมาณในการปรับปรุงและซ่อมแซมศูนย์ดังกล่าว รวมทั้งจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ เครื่องอำนวยความสะดวก เพื่อใช้ในศูนย์ฯ ซึ่งตั้งอยู่ที่สำนักงานท่าเทียบเรือประมงสงขลา 2 (ท่าสะอ้าน) อ.เมือง จ.สงขลา โดยศูนย์ฯจะแล้วเสร็จและสามารถเปิดให้บริการแก่กลุ่มเป้าหมายได้ในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ โดยสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเล จังหวัดสงขลา จะเป็นผู้ร่วมดำเนินโครงการในพื้นที่ ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือกลุ่มลูกเรือประมง แรงงานประมงต่อเนื่องทั้งสัญชาติไทย กัมพูชา เมียนมาร์ และลาว ในพื้นที่จังหวัดสงขลา รวมถึงกลุ่มเด็กต่างด้าวและครอบครัวบริเวณท่าเทียบเรือประมงสงขลา และบริเวณใกล้เคียง และผู้ที่เสี่ยงต่อการค้ามนุษย์
การจัดตั้งคณะกรรมการศูนย์ฯ แห่งนี้ มีประธานองค์การสะพานปลาเป็นประธาน และมีคณะกรรมการจากภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสงขลา สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานประมงฯ ตัวแทนผู้ประกอบการภายในท่าเรือสงขลา และซีพีเอฟ ทำหน้าที่พิจารณา และประเมินผลการดำเนินงานโครงการต่างๆ ของศูนย์ฯ และผลักดันให้โครงการของศูนย์ฯบรรลุตามแนวทางและเป้าหมายที่ตั้งไว้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด สามารถป้องกันปัญหาการใช้แรงงานผิดกฎหมาย และการค้ามนุษย์ได้ และมีส่วนช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานประมง และครอบครัวให้ดีขึ้น มีความรู้สามารถฟังพูดอ่านและเขียนภาษาไทยได้ รวมถึงการฝึกทักษะอาชีพที่ช่วยให้สามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ ไม่กลับเข้าสู่วงจรการค้ามนุษย์อีกต่อไป
ศูนย์ฯ แห่งนี้ได้ถูกจัดสรรพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ ห้องเรียนสำหรับเด็กต่างด้าว ห้องละหมาด ห้องพยาบาล และห้องอเนกประสงค์ ซึ่งใช้เป็นสำนักงานและศูนย์ติดต่อประสานงาน และเป็นห้องประชุม โดยศูนย์ฯ จะทำหน้าที่สร้างเครือข่ายอาสาสมัครแรงงานต่างด้าว ขับเคลื่อนการให้ความช่วยเหลือ คุ้มครอง ป้องกันผู้ที่เสี่ยงหรือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก เป็นสถานที่จัดการอบรม การเรียนการสอนด้านภาษาและส่งเสริมอาชีพแก่เด็ก และแรงงานต่างด้าว รวมถึง การดูแล รักษาพยาบาลโรคเบื้องต้น รวมถึงเป็นจุดที่ประกอบศาสนกิจของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน และเป็นศูนย์ประสานงานรับแจ้งเรื่องร้องทุกข์ของแรงงาน
"ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งโครงการที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ ซีพีเอฟในการร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตามนโยบายของบริษัทที่ส่งเสริมและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน และสนับสนุนความยั่งยืนในห่วงโซ่การผลิต เพื่อขับเคลื่อนการขจัดปัญหาแรงงานต่างๆ ในอุตสาหกรรมประมงไทย แม้ว่าธุรกิจของบริษัทฯ มีส่วนเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมประมงเพียงเล็กน้อย ไม่ได้เป็นเจ้าของเรือ หรือโรงงานปลาป่น" นายวุฒิชัย กล่าว