กรุงเทพฯ--9 พ.ย.--โรงพยาบาลปิยะเวท
โรคปากแหว่งเพดานโหว่ คือ โรคที่มีความผิดปกติที่เกิดขึ้นบนใบหน้า พบอุบัติการณ์ประมาณ 1 ใน 700 ของทารกแรกเกิด ลักษณะของปากแหว่ง คือ จะมีรอยแยกของริมฝีปากบนไปจนถึงเหงือกและเพดานปากส่วนหน้า อาจเป็นด้านเดียว หรือ สองด้าน ส่วนเพดานโหว่ จะมีลักษณะเป็นรอยแยกจะเกิดขึ้นตั้งแต่เพดานอ่อนไปจนถึงเพดานแข็ง โรคนี้จะเกิดขึ้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา จากหลายสาเหตุ เช่น การถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือโครโมโซมที่ผิดปกติ หรือ ปัจจัยที่กระทบคุณแม่ตั้งครรภ์ในช่วง 3 เดือนแรก เช่น การขาดสารอาหารหรือวิตามินบางชนิด สืบเนื่องจากพิษของยาหรือสารเคมีบางอย่าง รวมถึงการติดเชื้อจากไวรัสหรือแบคทีเรียบางชนิด และ อาจเกิดจากการฉายรังสีเอกซเรย์ เป็นต้น
แพทย์หญิงพัชร เกียรติสารพิภพ กุมารแพทย์ โรงพยาบาลปิยะเวท ให้ความรู้เกี่ยวกับเด็กที่มีความผิดปกติในลักษณะนี้ จะมีปัญหาตั้งแต่การเลี้ยงดูหลังคลอด เนื่องจากเด็กจะไม่สามารถดูดนมได้ดีเท่าเด็กทั่วไป และอาจมีปัญหาในระบบของร่างกายร่วมด้วย เช่น ความพิการทางหัวใจและระบบไหลเวียน ระบบทางเดินอาหาร ระบบขับถ่าย รวมทั้งระบบประสาทและสมอง เด็กบางคนอาจมีปัญหาด้านการพูดคุย การออกเสียง หรือ พูดไม่ชัด วิธีการป้องกันภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ยังทำไม่ได้ในปัจจุบัน แต่จากการศึกษาวิจัยพบว่า มารดาที่ได้รับวิตามินรวมที่มีส่วนผสมของกรดโฟลิคก่อนการตั้งครรภ์และระหว่างสองเดือนแรกของการตั้งครรภ์ อาจลดความเสี่ยงในการให้กำเนิดบุตรที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ ในขณะเดียวกันก็พบว่ามารดาที่สูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์มีความเสี่ยงที่จะให้กำเนิดบุตรที่มีภาวะโรคดังกล่าวเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นการได้รับวิตามินเอในปริมาณมาก ก็อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดความบกพร่องทางร่างกายของเด็กได้ ปัจจุบันความผิดปกติดังกล่าวสามารถรักษาให้หายได้ด้วยการผ่าตัด โดยจะต้องเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด ศัลยแพทย์ส่วนใหญ่เห็นว่าเด็กสามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ตั้งแต่อายุ 3 เดือน การผ่าตัดแก้ไขอวัยวะในช่องปากและจมูก ควรทำตอนที่เด็กอายุน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ส่วนการผ่าตัดแก้ไขภาวะเพดานโหว่นั้น เด็กควรมีอายุ 12- 18 เดือน ซึ่งกระบวนการต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของสุขภาพเด็กโดยรวมและลักษณะของภาวะปากแหว่งเพดานโหว่เป็นสำคัญ"
แพทย์หญิงพัชรให้คำแนะนำเพิ่มเติม "สำหรับการป้องกันการเกิดภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ สามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยงสาเหตุที่เป็นปัจจัยภายนอก โดยขณะมารดาตั้งครรภ์ ควรงดสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ การรับประทานยาระหว่างตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ พยาบาล หรือเภสัชกร ทุกครั้ง ออกกำลังกายพอควรกับสุขภาพ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ลดความเครียด และที่สำคัญคือ ต้องรับประทานอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ในปริมาณที่เหมาะสม ตามแพทย์พยาบาลแนะนำ โดยเฉพาะอาหารจำพวก ผัก ผลไม้ และเน้นอาหารที่มีกรดโฟลิคสูง เช่น บรอคโคลี เมล็ดธัญพืช ตับ เป็นต้น มารดาควรได้รับวิตามิน บี 6 วิตามินบี 12 ธาตุสังกะสี และกรดโฟลิค ก่อนการปฏิสนธิในครรภ์ หรือก่อนตั้งครรภ์ประมาณ 2 เดือน จนกระทั่ง 3 เดือนหลังการตั้งครรภ์ หรือตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล เพื่อให้การเกิดการสร้างอวัยวะของโครงสร้างเพดานในตัวอ่อนของทารกในครรภ์ได้สมบูรณ์ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ได้ ดังนั้นหากวางแผนจะตั้งครรภ์ มารดาควรปรึกษาแพทย์ในการใช้ยาวิตามินต่างๆ และกรด โฟลิคตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกที่เป็นปากแหว่งเพดานโหว่อยู่แล้ว การมีลูกคนต่อไปควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุศาสตร์โดยตรงอีกทางหนึ่งด้วย" คุณหมอกล่าวทิ้งท้าย