เยอรมนีร่วมมืออาเซียนพัฒนามาตรการด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในท่าเรืออาเซียน

ข่าวทั่วไป Monday November 9, 2015 18:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 พ.ย.--องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน โครงการพัฒนาท่าเรือในภูมิภาคอาเซียนอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างอาเซียนและเยอรมนี ได้สนับสนุนท่าเรือของประเทศสมาชิกอาเซียนที่เข้าร่วมโครงการ 12 แห่งจาก 7 ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์และเวียดนามปรับปรุงประสิทธิภาพของการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของเจ้าหน้าที่ท่าเรือและชุมชนโดยรอบ โครงการพัฒนาท่าเรือในภูมิภาคอาเซียนอย่างยั่งยืน เป็นส่วนหนึ่งของแผนดำเนินงาน "เมือง การขนส่งและสิ่งแวดล้อม" ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเริ่มโครงการมาตั้งแต่ปีพศ. 2552 และขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินงานในเฟสที่ 2 (พศ. 2556 – 2558) โครงการฯ ได้รับงบประมาณจากกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ซึ่งมอบหมายให้องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ดำเนินโครงการร่วมกับสมาคมท่าเรืออาเซียนซึ่งปฏิบัติงานในนามของเลขาธิการอาเซียน เมื่อวันที่ 4-5 พฤศจิกายน 2558 โครงการฯ ได้จัดการประชุมประจำภูมิภาคครั้งที่ 9 ขึ้นที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย เพื่อหาแนวทางในการขยายผลสำเร็จและแนวทางการปฏิบัติที่ดีไปสู่ท่าเรืออื่นๆ ในทุกประเทศที่เข้าร่วมโครงการ โดยผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งเป็นตัวแทนจากท่าเรือที่เข้าร่วมโครงการ เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ได้ร่วมกันหาแนวทางเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในภูมิภาคให้คงอยู่ต่อไป อาทิ การก่อตั้งเครือข่ายการฝึกอบรมเพื่อการพัฒนาท่าเรืออย่างยั่งยืน นางฟรังก้า สปรอง ผู้อำนวยการ โครงการพัฒนาท่าเรือในภูมิภาคอาเซียนอย่างยั่งยืน กล่าวว่า "เศรษฐกิจในภูมิภาคมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการขนส่งทางทะเลและท่าเรือมีบทบาทสำคัญสำหรับการค้าระหว่างประเทศและการขนส่งสินค้า อย่างไรก็ตาม การกระจุกตัวของกิจกรรมเพื่อการขนส่งสินค้า และการปฏิบัติงานในเขตท่าเรือซึ่งตั้งอยู่ใกล้เมืองหรือในเมืองก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายได้" "ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา ท่าเรือต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการฯ มีความคืบหน้าในการพัฒนาระบบการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก จากจุดเริ่มต้นที่ต่างกันไป ทำให้ท่าเรือแต่ละแห่งได้รับประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงาน โครงการฯ เน้นการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและปรับปรุงเรื่องความปลอดภัยสำหรับเจ้าที่ระดับปฏิบัติงาน ซึ่งท่าเรือที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้พัฒนาระบบการบันทึกอุบัติเหตุและมาตรการป้องกัน และได้นำมาใช้จริง ท่าเรือบางแห่งยังได้พัฒนาระบบการจัดการของเสียจากเรือขนส่งให้ได้มาตรฐานสากลด้วย นอกจากนี้ โครงการฯ ได้จัดฝึกอบรมให้เจ้าที่ท่าเรือกว่า 1,000 คน โดยปรับเนื้อหาให้ตรงกับความต้องการของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ ผู้บริหารระดับกลางและระดับสูง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ภาครัฐของแต่ละประเทศ และจัดตั้งเครือข่ายผู้ฝึกอบรมและศูนย์อบรมต่างๆ ที่จะส่งเสริมการทำงานของท่าเรือต่างๆ ต่อไป หลังจากโครงการสิ้นสุดลงในปีหน้า" นางฟรังก้า กล่าวเสริม เรือโทชำนาญ ไชยฤทธิ์ รองผู้อำนวยการ ท่าเรือกรุงเทพ การท่าเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า "ประเทศไทยมีท่าเรือที่เข้าร่วมโครงการฯ คือท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบัง การร่วมมือกับโครงการฯ ตลอด 6 ปีนั้น สอดคล้องกับนโยบายของการท่าเรือฯ ที่มุ่งมั่นปรับปรุงเรื่องความปลอดภัยในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทุกระดับ รวมทั้งลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมา ได้ผลักดันให้เกิดกองความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมในโครงสร้างองค์กร จัดระบบการจราจรภายในท่าเรือ เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร และลดมลพิษทางอากาศ พัฒนาระบบการจัดการขยะมูลฝอยตามภาคผนวก 5 ของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันมลภาวะจากเรือ (MARPOL) พัฒนาระบบการจัดการของเสียและอุปกรณ์รองรับของเสียจากเรือให้ได้มาตรฐานสากล รวมทั้งจัดทำคู่มือการจัดการของเสียและขยะจากเรือ ซึ่งจะนำไปขยายผลในท่าเรืออื่นๆ ภายใต้การกำกับดูแลของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ในส่วนของมาตรการด้านความปลอดภัยนั้น ได้มีการปรับปรุงระบบการรายงานและสอบสวนอุบัติเหตุ และสร้างความตระหนักให้พนักงานคำนึงถึงความปลอดภัยมากขึ้น โดยปฏิบัติตามกฏระเบียบต่างๆ อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เครื่องมือทุ่นแรงและอุปกรณ์ต่างๆ ในการปฏิบัติงาน" "จากการที่ประเทศไทยเป็นที่ตั้งของสำนักงานโครงการฯ ท่าเรือกรุงเทพจึงมีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์กลางความร่วมมือกันในภูมิภาค เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานของท่าเรืออีก 11 แห่งที่เข้าร่วมโครงการ ท่าเรือกรุงเทพยังได้รับการยอมรับว่ามีการบริหารจัดการที่ดี โดยในปี 2556 และ 2557 ที่ผ่านมา ผู้แทนจากการท่าเรือแห่งสหภาพเมียนมาร์ และการท่าเรือฟิลิปปินส์ได้เดินทางมาศึกษาดูงานด้านการบริหารจัดการท่าเรือและการจัดการสินค้าอันตรายของท่าเรือด้วย" เรือโทชำนาญ กล่าวเสริม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ