กรุงเทพฯ--9 พ.ย.--ดีทีซี โพลล์
วิทยาลัยดุสิตธานี เผยผลสำรวจจาก ดีทีซี โพลล์ (DTC POLL)
วิทยาลัยดุสิตธานี หนึ่งในสถาบันการศึกษาทางด้านอุตสาหกรรมบริการชั้นนำของเอเชียได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ที่มุ่งเน้นและตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรซึ่งเป็นหัวใจหลักของอุตสาหกรรมบริการและการท่องเที่ยวของประเทศที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง เปิดตัวศูนย์วิจัย "ดีทีซี โพลล์ (DTC POLL)" โดยทำหน้าที่สำรวจประชามติ วิเคราะห์ และประเมินผลสถานการณ์ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ และการศึกษา ฯลฯ ดำเนินงานโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัย และเจ้าหน้าที่ของวิทยาลัย
ผลการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับอาหารริมทาง (Street Foods)
โดย ดีทีซี โพลล์ (ศูนย์วิจัย วิทยาลัยดุสิตธานี)
ดีทีซี โพลล์ เผยได้ทำการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับอาหารริมทาง (Street Foods) ของประชาชนในกรุงเทพมหานคร จำนวน 1104 คน ในระหว่างวันที่ 10 – 11 ตุลาคม 2558 โดยสอบถามจากประชาชน เพศหญิง จำนวน 661 คน คิดเป็นร้อยละ 59.87 และเพศชาย จำนวน 443 คน คิดเป็นร้อยละ 40.13 ส่วนมาก มีอายุระหว่าง 20-25 ปี รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 26-30 ปี และ 31-35 ปี (ร้อยละ 35.88 ร้อยละ 21.16 และร้อยละ 15.80 ตามลำดับ) มีรายได้ต่อเดือน ตั้งแต่ 15,000 – 25,000 บาท (ร้อยละ 42.62) สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี (ร้อยละ 58.20) ทำงานในบริษัทเอกชน (ร้อยละ 42.32) และมีประสบการณ์การทำงานน้อยกว่า 5 ปี (ร้อยละ 50.98)
เมื่อสอบถามเกี่ยวกับประสบการณ์การรับประทานอาหารริมทาง พบว่า ประชาชนในกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 95.56 เคยรับประทานอาหารริมทาง โดยส่วนมากรับประทานในร้านอาหารตามสั่ง (ร้อยละ 55.99) รับประทานสัปดาห์ละ 1 – 2 ครั้ง (ร้อยละ 39.30) รับประทานในช่วงเวลา 11.00 – 13.00 น. (ร้อยละ 68.80) ใช้เวลาในการรับประทานอาหารครั้งละประมาณ 30 – 60 นาที (ร้อยละ 54.51) และจ่ายเงินค่าอาหาร คนละประมาณ 50 – 100 บาท (ร้อยละ 54.56) สำหรับเหตุผลที่เลือกรับประทานอาหารริมทาง เนื่องจากมีความสะดวก รวดเร็ว (ร้อยละ 27.01) ราคาถูก (ร้อยละ 20.76) และรสชาติอร่อย (ร้อยละ 20.61) รายการอาหาร จานเดียวที่เป็นยอดนิยมสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ก๋วยเตี๋ยวน้ำ-ก๋วยเตี๋ยวแห้ง 2) ข้าวผัด 3) ข้าวมันไก่ 4) ก๋วยเตี๋ยวเรือ และ 5) ข้าวไข่เจียว
สำหรับคำถามที่ว่า ท่านเคยมีอาการท้องเสีย เนื่องจากการรับประทานอาหารริมทางบ้างหรือไม่ พบว่า ประชาชนส่วนมากเคยมีอาการท้องเสียบ้างประมาณ 1-2 ครั้ง ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการรับประทาน อาหารริมทาง (ร้อยละ 56.34) รองลงมาร้อยละ 40.23 ตอบว่า ไม่เคยมีอาการท้องเสียจากการรับประทานอาหารริมทางเลย สิ่งที่ประชาชนมีความเห็นว่า การขายอาหารริมทางในกรุงเทพฯ ต้องรีบแก้ไขอย่างเร่งด่วน 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ความสะอาดของอาหารและวัตถุดิบ 2) ความสะอาดของเครื่องครัว จาน ชาม และช้อน 3) ความสะอาดของสถานที่ขายอาหาร 4) ความสะอาดของโต๊ะ เก้าอี้ ที่นั่งรับประทานอาหาร และ 5) สถานที่ หรือภาชนะที่ใช้ทิ้งขยะและเศษอาหาร
ในกรณีที่พบว่าผู้ประกอบการร้านอาหารไม่คำนึงถึงมาตรฐานด้านอาหาร และ/หรือ สถานที่ ประชาชนส่วนมากมีความเห็นว่า ควรบอกให้เจ้าของร้านหรือผู้ประกอบการทราบอย่างตรงไปตรงมา (ร้อยละ 58.33) รองลงมา คือ ควรแจ้งหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบ และไม่ควรซื้อหรือรับประทานอาหารที่ร้านนั้นอีกต่อไป (ร้อยละ 16.67 และ 15.47 ตามลำดับ)
สิ่งที่ประชาชนในกรุงเทพฯ ต้องการจะบอกหน่วยงาน กรุงเทพมหานคร และรัฐบาลเกี่ยวกับการควบคุมดูแลร้านอาหารริมทาง ได้แก่ ควรควบคุมดูแลด้านความสะอาดของอาหารและสถานที่ ควรจัดพื้นที่ขายอาหารริมทางให้เป็นสัดส่วน เป็นระเบียบเรียบร้อย มีความสะดวกในการเดินทาง และควรมีการควบคุมราคาขายอาหารให้เหมาะสม (ร้อยละ 43.05 ร้อยละ 37.00 และร้อยละ 11.43 ตามลำดับ)
สำหรับรายการอาหารใหม่ๆ ที่ควรแนะนำให้ชาวต่างประเทศได้ทดลองรับประทานกันมากขึ้นนั้น ประชาชนในกรุงเทพฯ คิดว่าควรแนะนำให้ชาวต่างประเทศได้ทดลองรับประทานก๋วยเตี๋ยวชนิดต่างๆ เช่น ก๋วยเตี๋ยวต้มยำ ก๋วยเตี๋ยวเรือ เป็นต้น ผัดกระเพราเนื้อ-ไก่-หมู แกงเขียวหวาน และน้ำพริกชนิดต่างๆ เช่น น้ำพริกปลาทู ผักลวก เป็นต้น
หมายเหตุ อาหารริมทาง หมายถึง อาหารที่ขายอยู่ริมถนน ทางเดิน ทางเท้า หรือในตึกแถว อาคารพาณิชย์ ซึ่งอาจตั้งขายอยู่ในรถเข็น แผงลอย เพิง หรือในอาคารตึกแถว