กรุงเทพฯ--10 พ.ย.--NBTC Rights
การประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 29/2558 วันอังคารที่ 10 พฤศจิกายน 2558 มีวาระสำคัญที่น่าจับตา ได้แก่ เรื่อง บมจ. กสทฯ ขอปรับปรุงเทคโนโลยีบนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz เรื่องการใช้ทรัพย์สินของ บมจ. ทีโอที โดยไม่ได้รับความยินยอมในช่วงประกาศมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวฯ (ประกาศมาตรการเยียวยาฯ) และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดวันหยุดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz
วาระเรื่อง บมจ. กสทฯ ขอปรับปรุงเทคโนโลยีบนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz
วาระนี้เป็นเรื่อง บมจ. กสท โทรคมนาคม มีหนังสือขอเข้าพบ กสทช. เพื่อหารือเรื่องการขอปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ในส่วนที่อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานและ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค ไม่ได้ใช้งาน โดยหนังสือขอเข้าพบดังกล่าวมีเนื้อความคร่าวๆ ว่า บมจ. กสทฯ ยืนยันการคืนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ขนาดความกว้าง 4.8 MHz ให้กับ กสทช. ตามนโยบายของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และที่ประชุมคณะทำงานบรอดแบนด์แห่งชาติ เพื่อนำไปจัดประมูลร่วมกับคลื่นความถี่ที่สิ้นสุดสัมปทานไปแล้วจำนวน 25.2 MHz รวมจำนวน 30 MHz ซึ่งจะมีการจัดประมูลในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 แต่ก็มีเงื่อนไขต่อรองว่าจะขอปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่ในส่วนที่ดีแทคไม่ได้ใช้งานอีกจำนวน 20 MHz โดยจะขอใช้งานคลื่นความถี่ดังกล่าวไปจนถึงปี 2568 ซึ่งหากไม่ได้ตามคำขอ ก็จะขอทวงสิทธิคลื่นจำนวน 4.8 MHz ดังกล่าวคืน
พร้อมกันนั้นทาง บมจ. กสทฯ ยังได้ส่งเอกสารแนบที่ทางบริษัทเคยมีหนังสือถึงกระทรวงเทคโนโลยีฯ เมื่อ 14 กรกฎาคม 2558 ซึ่งระบุถึงเจตนารมณ์ในการคืนคลื่นจำนวน 4.8 MHz และการขอใช้งานคลื่นส่วนที่เหลือจำนวน 20 MHz จนถึงปี 2568 มาด้วย อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้มีข้อน่าสังเกตว่าหนังสือที่ทางกระทรวงเทคโนโลยีฯ ส่งถึง กสทช. ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2558 นั้น ไม่มีการระบุเงื่อนไขในการคืนคลื่นดังกล่าวเพื่อนำไปจัดประมูล ดังนั้นในกรณีนี้จึงเป็นเรื่องที่ทาง บมจ. กสทฯ ต้องเจรจาตกลงกับทางกระทรวงเทคโนโลยีฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดให้ชัดเจนเสียก่อนที่จะมาทวงสิทธิจากทาง กสทช.
ส่วนในเรื่องเจตนารมณ์การขอปรับปรุงเทคโนโลยีบนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz นั้น ประเด็นที่ กทค. ต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบเป็นพิเศษคือเรื่องการขอใช้งานคลื่นความถี่จนถึงปี 2568 เนื่องจากตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 กำหนดให้ บมจ. กสทฯ จะต้องคืนคลื่นความถี่ในส่วนดังกล่าวกลับมาที่ กสทช. ทันทีที่สัญญาสัมปทานระหว่าง บมจ. กสทฯ และดีแทคสิ้นสุดลง ซึ่งก็คือในปี 2561
วาระเรื่องการใช้ทรัพย์สินของ บมจ. ทีโอที โดยไม่ได้รับความยินยอม
วาระนี้มีเหตุจาก บมจ. ทีโอที มีหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2558 แจ้งให้ กสทช. ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายในกรณีที่ กสทช. กำหนดให้ บมจ. เอไอเอส ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ต่อเนื่องเป็นการชั่วคราวภายหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ซึ่งในการให้บริการดังกล่าวมีการใช้ทรัพย์สิน ได้แก่ เครื่องและอุปกรณ์โครงข่ายของ บมจ. ทีโอที โดยไม่ได้รับความยินยอม
ทั้งนี้ บมจ. ทีโอที ในฐานะคู่สัญญาสัมปทานกับ บมจ. เอไอเอส อ้างสิทธิว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 ซึ่งสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงแล้ว สิทธิในการใช้ทรัพย์สินและอุปกรณ์ในระบบที่ บมจ. เอไอเอส จัดหาและใช้ประโยชน์ในระหว่างที่สัญญามีผลบังคับใช้ก็ได้สิ้นสุดลงด้วย ดังนั้นการใช้ประโยชน์ใดๆ ในทรัพย์สินและอุปกรณ์ในระบบที่เป็นกรรมสิทธิ์ของ บมจ. ทีโอที โดยไม่ได้รับความยินยอม จึงถือเป็นการละเมิดและไม่ชอบด้วยกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ภายหลังที่คณะทำงานติดตามและกำกับดูแลการดำเนินการตามมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ย่าน 900 MHz ของสำนักงาน กสทช. ได้พิจารณาหนังสือดังกล่าวแล้ว เห็นว่า สิทธิในการใช้ทรัพย์สินหรือกรรมสิทธิ์ในเครื่องและอุปกรณ์โครงข่ายย่อมเป็นไปตามสัญญาสัมปทานที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกัน ซึ่ง กสทช. ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาวินิจฉัยในประเด็นเรื่องกรรมสิทธิ์ตามสัญญาสัมปทานแต่อย่างใด หากแต่การที่ กสทช. กำหนดให้ บมจ. เอไอเอส ต้องให้บริการต่อเนื่องเป็นการชั่วคราวภายใต้ประกาศมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวฯ นั้น มีเจตนารมณ์เพื่อเป็นการเตรียมการรองรับผลของการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานให้มีความต่อเนื่องในการให้บริการ ซึ่งเป็นการคุ้มครองสาธารณะประโยชน์และคุ้มครองผู้ใช้บริการ โดยในช่วงเวลานี้ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องนำรายได้ที่ได้รับจากการให้บริการนำส่งเป็นรายได้รัฐ ดังนั้น บมจ. ทีโอที จึงเข้าข่ายที่ต้องปฏิบัติตามประกาศเพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการด้วย ซึ่งสำนักงาน กสทช. ก็ได้เตรียมนำความเห็นดังกล่าวของคณะทำงานฯ เสนอต่อที่ประชุม กทค. เพื่อพิจารณาในครั้งนี้ด้วย
ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า แม้ในระหว่างนี้จะมีการฟ้องคดีจาก บมจ. ทีโอที ไว้ที่ศาลปกครอง ในเรื่องประกาศมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวฯ ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ตราบใดที่ศาลปกครองยังมิได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนกฎดังกล่าว ประกาศฉบับนี้จึงยังมีผลบังคับใช้ ดังนั้น บมจ. ทีโอที จึงไม่อาจปฏิเสธหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามประกาศได้ และการที่ บมจ. เอไอเอส ให้บริการต่อเนื่องเป็นการชั่วคราวตามประกาศ จึงไม่ถือเป็นการละเมิดทรัพย์สินของ บมจ. ทีโอที
วาระเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดวันหยุดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz
วาระนี้สืบเนื่องจากที่ประชุม กทค. นัดพิเศษเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2558 มีมติเลื่อนวันประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz จากที่เคยกำหนดวันประมูลไว้ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 ไปเป็นวันที่ 15 ธันวาคม 2558 ทำให้สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอให้ กทค. พิจารณาทบทวนเรื่องการกำหนดวันหยุดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ของ บมจ. เอไอเอส ภายใต้ประกาศมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวฯ โดยแต่เดิมนั้นที่ประชุม กทค. เคยมีมติกำหนดวันหยุดให้บริการไว้เป็นวันที่ 19 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งเป็นวันที่ กทค. จะพิจารณารับรองผลการประมูลภายใน 7 วัน นับจากวันสิ้นสุดการประมูล ด้วยเหตุนี้เมื่อมีการเลื่อนวันจัดประมูลออกไป จึงคาดว่าจะมีการเลื่อนวันหยุดให้บริการออกไปเป็นวันที่ 22 ธันวาคม 2558 ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับแนวทางการกำหนดวันหยุดให้บริการเดิม และเป็นแนวทางเดียวกันกับการกำหนดวันหยุดให้บริการชั่วคราวฯ บนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz
การเลื่อนวันหยุดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ออกไปอีกเดือนเศษ น่าจะส่งผลดีกับผู้ประกอบการบางรายที่ก่อนหน้านี้เคยมีหนังสือถึงสำนักงาน กสทช. เพื่อขอขยายระยะเวลาคุ้มครองการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ออกไป โดยบริษัทเหล่านี้เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจทางด้านให้บริการระบบติดตามยานพาหนะจากดาวเทียม รวมทั้งในพื้นที่ห่างไกล เช่น ระบบท่อน้ำมัน ระบบสำรวจป่า เป็นต้น ซึ่งอ้างว่าหากมีการยุติการให้บริการตามกำหนดการเดิมนั้น จะประสบปัญหาเดือดร้อนเนื่องจากไม่สามารถเปลี่ยนซิมการ์ดหรือเปลี่ยนลูกข่ายได้ทัน