กรุงเทพฯ--10 พ.ย.--สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม
สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เผยยุทธศาสตร์ใหม่ยกระดับเป็น "สถาบันอาหารแห่งชาติ" สร้างการยอมรับทั้งในระดับอาเซียน และระดับเวิลด์คลาส อาสาเป็นตัวกลางเดินหน้าสร้างเครือข่ายความร่วมมือจากทุกกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปั้น Window of Thai Food เป็นศูนย์ One Stop Service ในกรุงเทพฯ และกระจายอยู่ทั่วโลกอาทิ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และ ยูเออี หวังอำนวยความสะดวกให้นักลงทุน และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งเป็นหน้าต่างในการเผยแพร่ ส่งเสริมภาพลักษณ์ และการค้าอาหารของประเทศไทยอย่างครบวงจร ริเริ่มโครงการ Exploring Thai Flavored จับมือกับโครงการ Thai Delicious พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการรักษามาตรฐานรสชาติอาหารไทยและกำหนดมาตรฐานอาหารไทย เร่งผลักดัน Thai Food Heritage หรือ "ศูนย์การเรียนรู้อาหารไทย" ให้เป็นที่รู้จักของชาวไทยและชาวต่างชาติ พร้อมชู Design and Technology Center หนุนผู้ประกอบการในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ
นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เผยถึงแนวทางการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์สถาบันอาหารว่า โดยข้อเท็จจริงแล้ว สถาบันอาหารมียุทธศาสตร์ที่ดำเนินงานภายใต้ตัวชี้วัดของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการดำเนินงานส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารทั้งระบบตามแนวนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐบาล เชื่อมโยงยุทธศาสตร์ครัวไทยสู่โลก โดยได้กำหนดกิจกรรม และจัดทำโครงการต่างๆ ภายใต้งบประมาณสนับสนุน 3 โครงการใหญ่มาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ได้แก่ 1) โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้เป็นครัวคุณภาพของโลก (Thailand Food Quality to the World) 2)โครงการเสริมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่อุตสาหกรรมอาหารของไทย (Thailand Food Forward) และ 3) โครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล
"อย่างไรก็ตามปัจจุบันสถาบันอาหารได้ดำเนินงานก้าวเข้าสู่ปีที่ 20 แล้ว ผ่านประสบการณ์และใกล้ชิดกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำมาเป็นจำนวนมาก รับทราบปัญหา อุปสรรค และความต้องการของผู้เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี ดังนั้น ในปีนี้สถาบันอาหารจึงมีแนวทางการดำเนินงานด้วยยุทธศาสตร์ใหม่เพิ่มเติมจากแนวทางแรก ทั้งนี้เพื่อต่อยอดระดับการดำเนินงานของสถาบันอาหาร ต่อยอดการบริการให้กับนักลงทุน และผู้ประกอบการให้ก้าวไปไกลและครบครันกว่าเดิม โดยสถาบันอาหารตั้งเป้าว่าจะยกระดับเป็น "สถาบันอาหารแห่งชาติ ระดับอาเซียนและระดับเวิลด์คลาส" ภายในกรอบระยะเวลาปี 1-3 ปีตามลำดับ"
นายยงวุฒิ กล่าวว่า ในเบื้องต้นนี้ทางสถาบันอาหารได้ตั้งคณะทำงานด้านยุทธศาสตร์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างร่างแผนการดำเนินงานเป็นฉบับสมบูรณ์ อย่างไรก็ตามคณะทำงานเห็นตรงกันว่าควรมี แนวทางการขับเคลื่อน ภายใต้บริบทเดิมที่สถาบันอาหารรับผิดชอบอยู่ผสานกับแนวคิดใหม่ โดยมีแนวทางดังนี้ 1
) สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ฯลฯ และหน่วยงานด้านการวิจัยต่าง ๆ จัดตั้ง Window of Thai Food ให้เป็นศูนย์ One Stop Service อำนวยความสะดวกให้นักลงทุน และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เป็นหน้าต่างในการเผยแพร่ ส่งเสริมภาพลักษณ์ และการค้าอาหารไทยอย่างครบวงจร มีเป้าหมายจัดตั้งในย่านธุรกิจการค้า ใจกลางกรุงเทพฯ ส่วนระดับเอเชียมีเป้าหมายอยู่ที่จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ สำหรับระดับเวิลด์คลาสมีเป้าหมายอยู่ที่ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และยูเออี
2)สร้างกรอบความร่วมมือกับองค์กรทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับขีดความสามารถของบุคลากรและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมอาหาร รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับในระดับสากล อาทิ ความร่วมมือด้านการวิจัย การตรวจวิเคราะห์สินค้าทางห้องปฏิบัติการ การตรวจรับรอง (Inspection) และความร่วมมือทางด้านวิชาการอื่นๆ รวมถึงการแลกเปลี่ยนการศึกษาดูงานของนักวิจัย นักวิชาการและนักวิทยาศาสตร์ มีเป้าหมายที่จีน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ซึ่งที่ผ่านมาสถาบันอาหารได้ทำความร่วมมือกับ JCCU: Japan Consumers Cooperative Union กลุ่มสหกรณ์ผู้บริโภคของญี่ปุ่น ในการเป็นหน่วยตรวจวิเคราะห์สินค้าเกษตรอาหารจากประเทศไทย ก่อนส่งไปขายยังสหกรณ์ผู้บริโภคญี่ปุ่น โดยได้เริ่มดำเนินการตรวจสินค้ากลุ่มผักผลไม้ นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการทำความตกลงกับ JIRCAS : Japan International Research Center for Agricultural Sciences หน่วยงานวิจัยด้านเกษตรวิทยาศาสตร์ของญี่ปุ่น เกี่ยวกับความร่วมมือด้านข้อมูลประกอบด้วย การแลกเปลี่ยนนักวิจัย การแลกเปลี่ยนข้อมูลทั่วไปผ่านเว็บไซต์ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านการวิจัยอาหารและเกษตร
3) การรักษามาตรฐานรสชาติอาหารไทย และกำหนดมาตรฐานอาหารไทย โดยริเริ่มโครงการ Exploring Thai Flavored และร่วมมือกับโครงการ Thai Delicious ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และหน่วยงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจอาหารไทยเติบโตอย่างรวดเร็วและยั่งยืน
4) ผลักดัน Thai Food Heritage หรือ "ศูนย์การเรียนรู้อาหารไทย" พื้นที่การเรียนรู้สมัยใหม่เฉพาะทางด้านอาหารแห่งแรกในประเทศไทย ให้ชาวไทยและชาวต่างชาติรู้จักและเป็นแหล่ง "ห้ามพลาด" ที่จะมาเยี่ยมชม
และ 5) การจัดตั้ง Design and Technology Center ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยทำความร่วมมือในการใช้ Facility กับหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา หน่วยวิจัยต่างๆในพื้นที่ เพื่ออำนวยความสะดวกแบบครบวงจรให้กับผู้ประกอบการทั้งในประเทศ รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงการออกแบบและวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการเป็นหน่วยตรวจวิเคราะห์
อนึ่ง นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ เข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2558 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี วิศวกรรมเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระดับปริญญาโท MBA Florida State University มีประสบการณ์เป็นผู้บริหารองค์กรระดับสูงของภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศหลายแห่ง ล่าสุด(เม.ย.2555 – ก.ค. 2558) ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และปัจจุบันเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้กับหลายสถาบัน อาทิ สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และเป็นอาจารย์พิเศษ วิทยากร ให้กับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนหลายแห่ง