กรุงเทพฯ--10 พ.ย.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ผนึกกำลัง กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จัดกิจกรรม "Kick off โครงการ SMEs Pro-active สำหรับปี 2559 – 2561 (ระยะที่ 2)"
เมื่อวันอังคารที่ 10 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา ณ ห้อง Ballroom โรงแรม Swissotel Le Concorde คาด!! จะสามารถส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ขยายการค้าไปยังต่างประเทศได้เพิ่มขึ้นกว่า 1,000 รายตลอดทั้งโครงการ และสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการส่งออกในอนาคตได้ถึง 10,000 ล้านบาท
นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า ภาคการส่งออกนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจไทย โดยนำรายได้เข้าประเทศกว่าปีละ 7 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 2 ใน 3 ของจีดีพีไทย ก่อให้เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ให้แก่ภาคครัวเรือน แม้ว่าสถานการณ์การส่งออกของไทยในช่วงที่ผ่านมาจะยังไม่สามารถกลับมาขยายตัวในอัตราสูงได้เหมือนในอดีต ส่วนหนึ่งเนื่องจากการย้ายฐานการผลิตของบริษัทข้ามชาติ อีกส่วนจากภาวะเศรษฐกิจของโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวในหลายภูมิภาค แต่อย่างไรก็ดี จากรายงานตัวเลขการส่งออกล่าสุดประจำเดือนกันยายน 2558 เริ่มมีสัญญาณที่ดี โดยเห็นได้จากส่วนแบ่งตลาดส่งออกของไทย (Market Share) ในตลาดคู่ค้าสำคัญหลายประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน อินเดีย แอฟริกาใต้ และรัสเซีย นอกจากนี้ หากพิจารณามูลค่าการส่งออกเป็นสกุลเงินบาท มูลค่าส่งออกในเดือนกันยายนเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่สาม
"ด้วย SME ไทย มีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก หากประเทศไทยสามารถผลักดันให้ SME สามารถส่งออกสินค้าและบริการ หรือขยายธุรกิจไปสู่สากลได้ และสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น SME ก็จะเป็นกำลังสำคัญในการเสริมสร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น จึงเป็นที่มาของโครงการ SMEs Pro-active ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพของ SME โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็กได้มีโอกาสเรียนรู้ถึงการทำธุรกิจในต่างประเทศจากประสบการณ์ตรง ได้รู้จักและสร้างความคุ้นเคยกับกระบวนการการส่งออก ได้ทราบข้อมูลการตลาดและแนวโน้มการดำเนินธุรกิจ ได้สำรวจพฤติกรรมและความต้องการของผู้ซื้อหรือผู้บริโภค เพื่อสามารถนำมาใช้เป็นฐานแนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยังได้มีโอกาสพบนักธุรกิจ ผู้นำเข้า buyer และสร้างเครือข่ายทางการค้า จนเกิดการเจรจาธุรกิจซื้อขายระหว่างกัน ส่งผลให้ SME ไทย สามารถขยายช่องทางการทำธุรกิจระหว่างประเทศและเข้าสู่ระบบการค้าอย่างมืออาชีพได้ โดยกิจกรรมที่ให้การสนับสนุน SME ภายใต้โครงการ SME Pro-active ประกอบด้วย 2 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1. การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติในต่างประเทศที่มีศักยภาพ และ 2. กิจกรรมการจัดคณะผู้แทนการค้าไปเจรจาธุรกิจกับคู่ค้าในต่างประเทศ ทั้งนี้ โครงการ SMEs Pro-active ได้รับอนุมัติวงเงินสนับสนุนสำหรับดำเนินโครงการฯ ระหว่างปีงบประมาณ 2559 – 2561 ทั้งสิ้นจำนวน 400 ล้านบาท โดยคณะกรรมการโครงการฯ ได้กำหนดกรอบวงเงินสำหรับการสนับสนุน SME รายตลาดหรือกลุ่มสินค้าสำคัญตามนโยบายของรัฐบาลและยุทธศาสตร์กระทรวงพาณิชย์ที่ต้องการผลักดันตลาดใหม่และสินค้าที่มีศักยภาพ โดยแบ่งเป็น 4 ด้านหลัก ได้แก่ 1.ตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ อาทิ อาเซียน จีน เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง รัสเซีย แอฟริกา (วงเงิน 200 ล้านบาท) 2. ตลาดหลัก ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป-15 ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา (วงเงิน 100 ล้านบาท) 3. กลุ่มธุรกิจบริการ (วงเงิน 50 ล้านบาท) และ 4. สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง มีนวัตกรรม มีการออกแบบ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือได้รับเครื่องหมายรับรอง (วงเงิน 50 ล้านบาท)" นางมาลี กล่าว
ด้าน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ร่วมมือกับ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จัดกิจกรรม "โครงการ SMEs Pro-active สำหรับปี 2559 – 2561" ต่อเนื่องมาเป็นระยะที่ 2 ซึ่งโครงการดังกล่าวนับเป็นโครงการที่มีความสำคัญ และมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ประกอบการ SMEs ในการดำเนินการค้าระหว่างประเทศ โดยการดำเนินงานในระยะที่ 1 ที่ผ่านมานับได้ว่า ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง มีผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับการส่งเสริม โดยสมัครเข้าร่วมโครงการ ผ่านสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต หรือสถาบัน SMI สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กว่า 821 บริษัท ในการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าและร่วมคณะเจรจาธุรกิจ ทั้งหมดกว่า 254 กิจกรรมทั่วโลก ส่งผลให้เกิดมูลค่าสั่งซื้อสินค้าในการร่วมกิจกรรมกว่า 3,700 ล้านบาท
"โครงการ SMEs Pro-active สำหรับปี 2559 – 2561 หรือในระยะที่ 2 นี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้เสนอเป็นเจ้าภาพนำคณะผู้ประกอบการไปร่วมงานแสดงสินค้ากว่า 30 งาน ครอบคลุมในหลายอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร สินค้าไลฟ์สไตล์ สุขภาพและความงาม พลังงาน เครื่องจักร ชิ้นส่วนยานยนต์ และซอฟแวร์ เป็นต้น ซึ่งทางสภาอุตสาหกรรมฯ คาดหวังว่าจะสามารถส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ในการขยายการค้าไปยังต่างประเทศได้เพิ่มขึ้นกว่า 1,000 รายตลอดทั้งโครงการ และสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการส่งออกในอนาคตได้ถึง 10,000 ล้านบาท" นายสุพันธุ์ กล่าว
นายสุพันธุ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากการสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ผ่านโครงการ SMEs Pro-active แล้ว สภาอุตสาหกรรมฯ ยังมียุทธศาสตร์ในการพัฒนา SMEs โดยมุ่งหวังในการยกระดับอุตสาหกรรม และ SMEs ไทย ให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน หรือ AEC Regional Industrial Hubโดยมีแผนงานต่างๆ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินงาน และแผนงานที่จะดำเนินงานต่อไปในอนาคตมากมาย อาทิ
1. การสนับสนุนเครือข่าย SMEs ให้เติบโตตามศักยภาพ ใน 18 กลุ่มจังหวัด โดยปัจจุบันนำร่องใน 7 คลัสเตอร์อุตสาหกรรม ได้แก่ คลัสเตอร์แฟชั่นและไลฟ์สไตล์ คลัสเตอร์สุขภาพและความงาม คลัสเตอร์เครื่องจักรกล คลัสเตอร์สิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ คลัสเตอร์ยางและผลิตภัณฑ์ยาง คลัสเตอร์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม และคลัสเตอร์ดิจิตอล
2. การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยมุ่งเน้น SME ยกระดับ Productivity Improvement ส่งเสริมช่องทางการตลาดทั้งในและนอกประเทศ และการส่งเสริม Standardization สู่มาตรฐานสากล เป็นต้น
3. ดำเนินการส่งเสริมให้เกิดปัจจัยเอื้อทางธุรกิจ โดยขับเคลื่อนนโยบาย SME วาระแห่งชาติ การส่งเสริมให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน ลดปัญหาและอุปสรรคอื่นๆ เช่น ปัญหากฎระเบียบสินค้า Halal, การจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา, การให้ความรู้ด้านการจัดทำบัญชี, การเป็นหน่วยงานประสานงานโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ Policy Loan และ Soft loan ร่วมกับสถาบันการเงิน เป็นต้น
4. ส่งเสริม และพัฒนา SMEs ให้เกิดการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจภายนอกประเทศ ลดการค้าชายแดนที่ผ่านพ่อค้าคนกลาง โดยการจัดกิจกรรมให้ผู้ผลิตมีโอกาสพบกับผู้ซื้อในเขตชายแดนให้มากขึ้น ผลักดันการเป็นเจ้าภาพจัดงาน SME Symposium Expo ดำเนินการให้เกิดการเชื่อมโยงธุรกิจ SMEs กับ Trading Firm รายใหญ่ รวมถึงการเชื่อมโยง SME สู่พื้นที่ SEZ เป็นต้น
5. เพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการ เพื่อรองรับการเป็น Trading Nation
6. สนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าสู่การเป็น Digital Entrepreneur โดยรู้จักการใช้ประโยชน์จากยุคดิจิตอลกับการดำเนินธุรกิจ อาทิ การจัดทำ F.T.I. e-Business เว็บไซต์อัจฉริยะ สำหรับสมาชิก สภาอุตสาหกรรมฯ หรือแม้แต่สื่อ F.T.I. Mobile Application ที่จะเป็นช่องทางในการส่งข่าวสารต่างๆ แก่สมาชิกสภาอุตสาหกรรมฯ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีความมุ่งมั่นในการที่จะพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันได้ทั้งในประเทศ และนอกประเทศ จนสามารถก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางของอาเซียนได้อย่างภาคภูมิ อันจะเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทยที่แข็งแกร่งและยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ SMEs ที่สนใจเข้าร่วม "โครงการ SMEs Pro-active สำหรับปี 2559 – 2561"สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการ หรือ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (สถาบัน SMI) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โทรศัพท์ 0-2345-1059 ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป