ธนาคารแห่งประเทศไทยยกเครื่องตรวจสอบสถาบันการเงินใหม่ทั้งหมดปีภายในปี 2544

ข่าวทั่วไป Monday November 20, 2000 11:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 พ.ย.--ธปท.
นายบัณฑิต นิจถาวร ผู้ช่วยผู้ว่าการสายสารสนเทศและประชาสัมพันธ์ ในฐานะ โฆษก ธปท. เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปี 2544 เป็นต้นไป ธปท.จะปรับปรุงระบบการกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (บีไอเอส) โดยให้ความสำคัญกับการตรวจสอบในเรื่องความเสี่ยงต่าง ๆ ทั้ง 5 ด้าน คือ ความเสี่ยงด้านสินเชื่อ ความเสี่ยงทางด้านกลยุทธ์ ความเสี่ยงด้านบริการ การเงินและธุรกรรมต่างประเทศ ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติการและการควบคุมภายใน และความเสี่ยงทางด้านการบริหารสภาพคล่อง จากเดิมที่จะให้ความสำคัญกับการดำเนินการให้ถูกต้อง ตามกฎระเบียบของ ธปท. เท่านั้น นอกจากนี้ ในส่วนสายงานนโยบายสถาบันการเงินยังมีมาตรการปรับปรุงระบบการบริหารและการควบคุมการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์โดยให้ความสำคัญกับบทบาทของคณะกรรมการการปล่อยเงินกู้ให้กับบุคคลที่ใกล้ชิด ซึ่งทั้ง 2 เรื่อง ธปท.ได้กำหนดรายละเอียดและแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเพื่อให้สถาบันการเงินปฏิบัติเรียบร้อยแล้ว และในอนาคตจะเข้าไปกำกับดูแลในบทบาทของกรรมการอิสระที่มาจากภายนอกมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เชื่อว่าแนวทางในการกำกับดูแลสถาบันการเงินของ ธปท. จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธนาคาร สถาบันการเงินไทยมีระบบบริหารที่ทำให้เกิดความแข็งแกร่ง และสามารถรองรับความผันผวนที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ เพื่อไม่ให้เกิดวิกฤติซ้ำสองอีก อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่า ธปท. จะไม่เข้าไปตรวจสอบดูแลในเรื่องของการทำตามกฎระเบียบ หรือข้อกำหนดของ ธปท. แต่อย่างใด แต่ยังให้ความสำคัญเช่นเดิม แต่อาจไม่มากเท่ากับการเข้าไปดูแลในเรื่องของความเสี่ยงด้านต่าง ๆ เพื่อทำให้เกิดกระบวนการที่โปร่งใส เพราะเชื่อมั่นว่าความโปร่งใสจะทำให้สถาบันการเงินทำผิดระเบียบหรือผิดกฎหมายน้อยลง สำหรับปัญหาเรื่องความมั่นคงของสถาบันการเงินนั้น ต้องยอมรับว่าขณะนี้สถาบันการเงินสามารถกันสำรองหนี้สูญได้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ ตามเกณฑ์ของ ธปท. เกือบทั้งหมดแล้ว ซึ่งทำให้เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส) นั้น มีเพียงพอที่จะทำให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อหรือขยายธุรกิจได้อย่างเต็มที่ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนต่อการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจมากยิ่งอย่างเต็มที่ต่อไป--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ