กรุงเทพฯ--10 พ.ย.--พีอาร์ดีดี
ไทคอน จับมือกับพันธมิตรญี่ปุ่น ธนาคารสหกรณ์เซบู เซ็นสัญญาความร่วมมือในการสนับสนุนเอสเอ็มอีจากญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทย คาดผลตอบรับดีเยี่ยมจากความพร้อมด้านทำเลยุทธศาสตร์ในภาคการผลิต และความพร้อมของโรงงานสำเร็จรูป ตลอดจนการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถเริ่มกิจการได้ทันที
นายวีรพันธ์ พูลเกษ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านการพัฒนาโรงงานสำเร็จรูปและคลังสินค้าคุณภาพสูงเพื่อให้เช่ารายแรกของประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ไทคอน ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (Memorandum of Understanding) กับธนาคารสหกรณ์เซบู (The Seibu Cooperative Bank) ประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises – SME) ของประเทศญี่ปุ่นที่สนใจจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย
ทั้งนี้ ธนาคารสหกรณ์เซบูจัดเป็นธนาคารที่ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ในประเทศญี่ปุ่น มีสำนักงานตั้งอยู่ที่กรุงโตเกียว
โดยธนาคารสหกรณ์เซบูจะมีการจัดสัมมนาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการชาวญี่ปุ่นที่สนใจขยายการลงทุนมายังประเทศไทย และไทคอนจะจัดส่งวิทยากรไปสนับสนุนด้านข้อมูล และความรู้ด้านการลงทุน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการ SME ญี่ปุ่นที่ตัดสินใจลงทุนในประเทศไทยจะได้รับความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกในด้านข้อมูลเกี่ยวกับการเช่าโรงงาน และการจัดหาสิ่งที่จำเป็นสำหรับการจัดตั้งโรงงานในประเทศไทย รวมไปถึงสิทธิประโยชน์ฅ่างๆ ทางภาษีที่อาจได้รับจากบีโอไออีกด้วย
"ความร่วมมือดังกล่าว ถือเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นที่ไทคอนได้บุกเบิกในการเข้าถึงกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศที่มีความต้องการใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตในการรองรับตลาดภูมิภาคอาเซียนที่จะเติบโตอีกมากในอนาคต โดยภายในปีนี้ไทคอนยังได้มีโอกาสพบปะกับนักลงทุนชาวญี่ปุ่นในโครงการนี้รวมแล้วกว่า 120 บริษัท รวมไปถึงในอนาคตอันใกล้นี้จะได้มีการจัดโรดโชว์นำนักลงทุนญี่ปุ่นเยี่ยมชมโครงการโรงงานสำเร็จรูปของไทคอน ซึ่งมีทำเลที่ตั้งของโครงการในนิคมอุตสาหกรรมหลักๆ ของประเทศมากถึง 18แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นจุดยุทธศาสตร์ของภาคการผลิตในอุตสาหกรรมที่ใกล้กรุงเทพฯมากที่สุด และยังแวดล้อม
ด้วยนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เป็นแหล่งรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิคส์ ตลอดจนใกล้กับศูนย์กลาง
การขนส่งและกระจายสินค้าที่สำคัญ ได้แก่ สนามบินสุวรรณภูมิ ท่าเรือคลองเตย และท่าเรือแหลมฉบัง ฯลฯ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน" นายวีรพันธ์กล่าว พร้อมให้ข้อมูลเพิ่มว่า
ประเทศไทยจะยังเป็นจุดดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติเช่นเดิม โดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่นและจีนด้วยความพร้อมด้านต่างๆ ศักยภาพทางเศรษฐกิจ และแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังเปิด AEC การดำเนินธุรกิจ
ของไทคอนจะได้รับผลดีมากยิ่งขึ้น โดยผลการประเมินภาพรวมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียนจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF คาดหมายว่า ในปี 2020 ภูมิภาคอาเซียนจะมีมูลค่าการค้าการลงทุนขยับขึ้นเป็น 4.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จาก 2.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปัจจุบัน
"ไทคอนมั่นใจว่า ด้วยความพร้อมให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการต่างประเทศ ได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างราบรื่นและสามารถขยายธุรกิจให้เติบโตได้อย่างมีศักยภาพมากที่สุดนี้ จะสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ จากต่างประเทศเข้าสู่ประเทศไทยได้ต่อเนื่อง และยังส่งผลให้ธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปของไทคอนเติบโตได้อย่างมีศักยภาพในอนาคตอีกด้วย" นายวีรพันธ์ กล่าว