กรุงเทพฯ--11 พ.ย.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
วันนี้ (๑๐ พ.ย. ๕๘) เวลา ๐๘.๐๐ น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ศปก.พม.) ครั้งที่๒๗๙/๒๕๕๗-๒๕๕๘ เพื่อรับทราบปัญหาทางสังคมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และร่วมหาแนวทางการแก้ไขและการป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยมีผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานในกระทรวงฯ เข้าร่วมประชุม
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า ตามที่ตนในฐานะเป็นรองประธานอนุกรรมการ คนที่ ๑ ในคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ได้เข้าร่วมการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งที่ ๑/๒๕๕๘ เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา ณ ทำเนียบรัฐบาล โดยมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุม ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยให้เป็นรูปธรรมนั้น ตนได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การเคหะแห่งชาติ (กคช.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.)และกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) บูรณาการทำงานร่วมกันจัดทำแผนแม่บทระยะสั้น ๓ ปี (พ.ศ. ๒๕๕๙ - ๒๕๖๑) เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินด้านที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยทั้งประเทศ โดยเฉพาะโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงซึ่งมอบหมายให้ กคช. เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ เร่งดำเนินการจัดทำแผนแม่บทระยะสั้น ๓ ปี (พ.ศ. ๒๕๕๙ - ๒๕๖๑) เพิ่มเติมจากเดิมที่มีเพียงแผนแม่บทระยะยาว ๑๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๕๙ – ๒๕๖๘) โดยจะเริ่มดำเนินโครงการฯ ในแปลง Gเป็นแห่งแรก เพื่อรองรับผู้อยู่อาศัย จำนวน ๓๓๔ หน่วย ภายใต้แนวคิดที่จะให้ผู้อยู่อาศัยเดิมย้ายที่อยู่อาศัยพียงครั้งเดียว โดยไม่ต้องย้ายไปอยู่ที่อื่นชั่วคราว และให้ กคช. เร่งดำเนินการโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐทั่วประเทศสำหรับ พอช. ได้มอบหมายให้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของชุมชนบริเวณริมคลองลาดพร้าว ตามนโยบายรัฐบาลในการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำแนวเขตคลอง และ พส. มอบหมายให้ดำเนินการจัดสรรที่ดินในนิคมสร้างตนเองทั่วประเทศ จำนวน ๙๗๐ ไร่ เพื่อให้เป็นที่ทำกินของประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง ทั้งนี้ ตนจะติดตามการดำเนินงานดังกล่าว ของหน่วยงานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติและเห็นผลเป็นรูปธรรมต่อประชาชนกลุ่มเป้าหมายต่อไป
"จากกรณีหญิงชรา อายุ ๘๔ ปี อาชีพเก็บขยะขาย ต้องรับภาระเลี้ยงดูสามีชรา อายุ ๘๖ ปี ที่สุขภาพไม่ดีเดินไม่สะดวก ครอบครัวมีฐานะยากจนมาก ที่จังหวัดสระแก้ว และกรณีหญิงชรา อายุ ๗๖ ปี อาศัยกับสามี ภายในบ้านกลางทุ่งนา ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้มากว่า ๓๐ ปี ครอบครัวมีฐานะยากจน ที่จังหวัดอ่างทอง ซึ่งทั้งสองกรณีตนได้กำชับให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสระแก้ว (พมจ.สระแก้ว) พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอ่างทอง (พมจ.อ่างทอง)ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและเร่งให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นตามภารกิจของกระทรวงฯ พร้อมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือดูแลด้านสุขภาพของผู้สูงอายุ รวมทั้งปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้ถูกสุขลักษณะเหมาะสมกับผู้สูงอายุในการใช้ชีวิตประจำวัน" พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวท้าย