กรุงเทพฯ--11 พ.ย.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
วันนี้ (๑๐ พ.ย. ๕๘) เวลา ๑๓.๓๐ น. นายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปพม.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ "แนวทางการส่งเสริมอาชีพและการจ้างงานคนพิการ"เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ซักซ้อมแนวทางดำเนินงานเกี่ยวกับการส่งเสริมอาชีพและการจ้างงานคนพิการให้กับผู้ปฏิบัติงาน โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่จากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด สำนักงานจัดหางานจังหวัด สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวนทั้งสิ้น ๓๐๐ คน จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๐-๑๑ พ.ย. ๕๘ ณ ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น ๗ โรงแรมอะเดรียติค พาเลซ กรุงเทพฯ
นายไมตรี กล่าวว่า ปัจจุบันมีคนพิการที่จดทะเบียนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น ๑.๖ ล้านคน ซึ่งเป็นคนพิการที่อยู่ในวัยแรงงาน (๑๕-๖๐ ปี) จำนวน ๗๕๖,๘๒๐ คน แบ่งเป็นคนพิการที่ไม่มีงานทำร้อยละ ๔๙ มีงานทำร้อยละ ๓๑และไม่สามารถทำงานได้เนื่องจากพิการรุนแรงร้อยละ ๒๐ นอกจากนี้ คนพิการร้อยละ ๔๕.๓๘ ไม่ได้รับการศึกษาโดยคนพิการที่ได้รับการศึกษาส่วนใหญ่ร้อยละ ๔๔.๓๒ จบการศึกษาระดับประถมศึกษา จากข้อมูลดังกล่าว จะเห็นว่าคนพิการส่วนใหญ่ยังไม่มีอาชีพและรายได้ จึงจำเป็นต้องส่งเสริมให้คนพิการได้รับการศึกษาเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เข้าถึงโอกาสการประกอบอาชีพและมีงานทำเพิ่มขึ้น ซึ่งในปี ๒๕๕๙ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีนโยบายเร่งด่วน ๘ เรื่อง นโยบายปฏิรูปและพัฒนา ๕ ด้าน และนโยบายตามพันธกิจ ๑๑ ด้าน โดยหนึ่งใน ๘ นโยบายเร่งด่วนคือการเข้าถึงบริการทางสังคมของคนพิการ ได้แก่ ๑) การสนับสนุนการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการเพื่อให้คนพิการสามารถเดินทางได้อย่างอิสระ เช่นเดียวกับคนทั่วไป ๒) การสนับสนุนศูนย์บริการคนพิการ เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงสิทธิและบริการต่างๆ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ทั่วถึง ๓) การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และ ๔) ส่งเสริมอาชีพและการจ้างงาน เพื่อให้คนพิการมีอาชีพ มีรายได้สามารถเลี้ยงตนเองได้ โดยไม่เป็นภาระของครอบครัวและสังคม ทั้งการส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระ และการจ้างงานในสถานประกอบการและหน่วยงานภาครัฐ
นายไมตรี กล่าวต่อไปว่า พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๖ ได้กำหนดสิทธิของคนพิการไว้อย่างครอบคลุมทุกด้าน เพื่อให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะหน่วยงานของรัฐและสถานประกอบการภาคเอกชน ซึ่งต้องปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการจ้างงานคนพิการในสัดส่วน ๑๐๐ ต่อ ๑ ตามมาตรา ๓๓ รวมทั้งการดำเนินการสร้างงานสร้างอาชีพตามมาตรา ๓๕ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่ประสงค์จะรับคนพิการเข้าทำงานตามมาตรา ๓๓ หรือนายจ้าง หรือเจ้าของสถานประกอบการไม่รับคนพิการเข้าทำงานตามมาตรา ๓๓ และไม่ประสงค์จะส่งเงินเข้ากองทุนตามมาตรา ๓๔ หน่วยงานของรัฐ นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการนั้น อาจให้สัมปทานจัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการโดยวิธีกรณีพิเศษ ฝึกงาน หรือจัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก ล่ามภาษามือ หรือให้ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดในระเบียบ ทั้งนี้ ปัจจุบันพบว่าสถานประกอบการภาคเอกชนมีการปฏิบัติตามกฎหมายการจ้างงานคนพิการ ร้อยละ ๘๐ ขณะที่ภาครัฐมีหน่วยงานของรัฐ ที่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามกฎหมาย จำนวน ๒๙๐ แห่ง และเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้คนพิการมีอาชีพ มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี
"กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ได้ร่วมกับกรมการจัดหางานกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน จัดประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุม นำความรู้ที่ได้จากการประชุม นำไปสู่การปฏิบัติ และขยายผลด้วยการสร้างความเข้าใจแก่สถานประกอบการ และหน่วยงานภาครัฐ เกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายการจ้างงานคนพิการ รวมทั้งสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่เกิดจากการจ้างงานคนพิการ ตลอดจนการจัดฝึกอบรมสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับคนพิการและความพิการ ให้แก่สถานประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งนี้ หากทุกภาคส่วนร่วมกันสร้างโอกาสให้คนพิการมีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้ จะทำให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นซึ่งจะนำไปสู่การพึ่งพาตนเองของคนพิการอย่างยั่งยืน เป็นการเปลี่ยนคนพิการจาก "ภาระ " ให้เป็น "พลัง" ของครอบครัว สังคม และประเทศชาติต่อไป" นายไมตรี กล่าวในตอนท้าย