กรุงเทพฯ--11 พ.ย.--KTAM
นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทยังคงเดินหน้าเปิดจำหน่ายกองทุนตราสารหนี้ ประเภทกำหนดอายุโครงการ อย่างต่อเนื่อง เพื่อรอบรับความต้องการของลูกค้าที่ต้องการลงทุน และมีกองทุนครบกำหนดอายุโครงการ โดยบริษัทเปิดจำหน่ายกองทุนเปิดกรุงไทยตราสารหนี้ เอฟไอเอฟ 72 ( KTFF72 ) เสนอขายตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2558 อายุโครงการ 1 ปี เน้นลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ ประเภท MTN ที่ออกโดย BLADEX ออกโดย Emirates NBD PJSC และออกโดย Standard Bank of South Africa ในสัดส่วน 56 % ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ส่วนที่เหลือลงทุนในเงินฝากประจำ Bank of China (Macau ) และเงินฝากประจำ Union National Bank PJSC ผลตอบแทนประมาณ 2.00% ต่อปี
ในช่วงที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ในประเทศมีการแกว่งตัวในกรอบแคบๆ หลังคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารแห่งประเทศไทยมีมติ คงดอกเบี้ยไว้ที่ 1.50% ต่อปี ตามที่ตลาดคาดการณ์ ในขณะที่ปัจจัยเรื่องที่ธนาคารกลางสหรัฐ ( Fed ) จะพิจารณาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธันวาคมยังไม่ส่งผลต่อตลาด
ทั้งนี้ในนักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิจำนวน 2,783 ล้านบาท โดยสรุปอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้อายุคงเหลือ 2 ปี ปรับตัวลดลง 1 bps. มาอยู่ที่ 1.56% ต่อปี อายุคงเหลือ 5 ปี ปรับตัวลดลง 1 bps.มาอยู่ที่ 2.24% ต่อปี และอายุคงเหลือ 10 ปี ปรับตัวลดลง 2 bps. มาอยู่ที่ 2.64% ต่อปี
ส่วนอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกช่วงอายุตามแรงขายเพื่อลดความเสี่ยงหลังประธาน Fed แถลงว่า เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกายังแข็งแกร่งและมีโอกาสที่จะพิจารณาการปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนตุลาคมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 271,000 ตำแหน่ง มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2557
ในขณะที่อัตราว่างงานลดลงเหลือ 5.0% ต่ำสุดในรอบ 7 ปีครึ่ง ซึ่งทำให้ตลาดเพิ่มการคาดการณ์ว่า Fed น่าจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในเดือนธันวาคม โดยสรุปอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้อายุคงเหลือ 2 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 15 bps.มาอยู่ที่ 0.90% ต่อปี อายุคงเหลือ 5 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 21 bps. มาอยู่ที่ 1.73% ต่อปี และอายุคงเหลือ 10 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 18 bps.มาอยู่ที่ 2.34% ต่อปี สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้จะเป็นตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่อาจส่งผลต่อการพิจารณาการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ทิศทางเศรษฐกิจโลก และทิศทางการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินลงทุนระหว่างประเทศ