กรุงเทพฯ--11 พ.ย.--กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี
"นับว่าสื่อออนไลน์ มีบทบาทที่สุดในสังคมไทยเลยทีเดียว ด้วยข้อมูลที่เข้าถึงได้ง่ายและรวดเร็ว ยกตัวอย่างโซเชียลมีเดีย ที่ไม่มีใครที่ไม่รู้จัก ในการกระจายข่าวสารส่งต่อข้อมูลกัน ด้วยข้อดีที่มีคุณอนันต์ แต่แฝงไปด้วยข้อเสีย เนื่องจากความรวดเร็วในการส่งต่อ อาจจะไม่มีการตรวจสอบข้อมูล หรือการใช้ในการพูดคุย โพสต์เหตุการณ์ต่างๆ ที่เป็นสาธารณะ ส่งผลต่อผู้โพสต์ กลายเป็นเรื่องราวที่วุ่นวายในสังคมไทย "
นายวิรัช โหตระไวศยะ รองอธิการบดีด้านพัฒนานักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดเผยว่า ต้องยอมรับว่าสื่อออนไลน์เข้ามามีบทบาทและมีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ วัยรุ่น ตลอดวัยเด็ก ซึ่งตนเองในฐานะที่ดูแลทางด้านนักศึกษา พยายามนำสื่อออนไลน์มาใช้ ใช้ด้วยภาษาที่สุภาพ ยกตัวอย่าง ผลสำเร็จของการนำมารณรงค์โครงการการไหว้ และการแต่งกายถูกระเบียบ "แต่งกายดี มีวินัย ใส่ใจคุณธรรม มีสัมมาคารวะ" เวลาที่เจอนักศึกษา นักศึกษาจะยกมือไหว้ โดยส่วนตัวตนเองจะโพสต์ผ่านสื่อออนไลน์ 3 ประเด็นหลักๆ คือ การโพสต์ให้ข้อคิด การโพสต์ให้กำลัง ให้คำปรึกษา และการโพสต์ชื่นชมนักศึกษาที่ได้รับรางวัล ทุกวันนี้การพูดคุยสื่อสารตัวต่อตัวน้อยมาก ส่วนใหญ่นักศึกษาจะพูดคุยการสื่อออนไลน์ จึงอยากให้ครูบาอาจารย์หรืออาจารย์ที่ปรึกษา ใช้สื่อออนไลน์เป็นเครื่องมือช่วยในการให้คำปรึกษา แต่ข้อควรระวังควรใช้ภาษา ถ้อยคำที่สุภาพ เพราะว่าทุกวันนี้สังคมไทยวุ่นวาย น่าเป็นห่วง อยากให้เป็นสังคมไทยที่เอื้ออาทรให้กันและกัน
แชมป์โลกไอทีคนล่าสุด Microsoft PowerPoint 2013 ในรายการ The 2015 Microsoft office Specialist World Championship "ปลาย" นายทวีลาภ สุวัฒนพันธุ์กุล นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาคอมพิวเตอร์ศึกษา ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เล่าว่า ยอมรับในตัวของสื่อออนไลน์ ทำให้ติดต่อสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ง่ายต่อการค้นคว้าหาความรู้ในการศึกษา ประหยัดค่าใช้จ่าย และเวลาในการศึกษาสถานที่ต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องไปถึงสถานที่จริง รวมไปถึงเป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานต่างๆ สำหรับผลเสียข่าวสารที่ได้รับอาจบิดเบื้อนความเป็นจริง หรือถ้าไม่ระมัดระวัง อาจมีแก๊งค์มิจฉาชีพเข้ามาขโมยข้อมูลเกิดผลเสียต่อตนเอง ทรัพย์สิน หรืออาจถึงแก่ชีวิต ต้องมีสติในการใช้สื่อออนไลน์
เช่นเดียวกับ "นัด" นางสาวโชติรส คำพิชัย นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาเทคโนโลยีมัลติมีเดีย คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน เข้าร่วมแข่งขันกลุ่ม ACA ประเภท โปรแกรม Adobe Photoshop รายการ The 2015 Microsoft office Specialist World Championship เล่าว่า ใช้สื่อในการหาข้อมูลเพราะเป็นองค์ความรู้ที่หลากหลาย ส่งเสริมทักษะในการเรียนรู้ที่สามารถเผยแพร่และแลกเปลี่ยนมุมมองทางความคิดได้ สำหรับการใช้สื่อออนไลน์ควรมีการพิจารณา อย่าเพิ่งด่วนตัดสิน การพิมพ์หรือการส่งต่อข้อมูล ควรมีการหยุดคิดไตร่ตรองให้ดีก่อน ซึ่งทุกอย่างมีทั้งประโยชน์และโทษในตัวของมันเอง ขึ้นอยู่กับตัวเราควรเลือกใช้ให้ถูกต้องและเหมาะสม
"เอสเธอร์" นายพิชญ์ยุตม์ ตาคำ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาการโรงแรม คณะศิลปศาสตร์ เล่าว่า ให้ความบันเทิงผ่อนคลาย มีเรื่องราวให้ติดต่อมากมาย ส่วนใหญ่ตนเองจะใช้ในการโพสต์ความคิดเห็นของตนเอง และช่วยแชร์สิ่งที่มีประโยชน์ เช่น ในการบริจาคเลือด โดยก่อนที่จะแชร์ตนเองจะเข้าไปดูข้อมูลก่อนว่าเป็นจริงหรือไม่ ส่วนตัวมองว่าสื่อออนไลน์มีประโยชน์ ยกตัวอย่างในเรื่องของการบริจาคเลือดช่วยเหลือผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยได้รับเลือด รวมไปถึงข้อมูลข่าวสารที่ทันสมัย แต่ความถูกต้องควรเลือกบริโภคข่าว
"กิ๊บ" นางสาวนฤดี พุฒฟัก นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ เล่าว่า ประสบการณ์ที่ตนเองได้รับจากสื่อออนไลน์ คือได้ช่วยชีวิตของน้องแมว ให้มีบ้านอยู่ ซึ่งตนเองได้แชร์เรื่องราวของน้องแมวตัวหนึ่งที่ไม่มีเจ้าของ จากแฟนเพจ "เค้าเรียกผมว่าแมว" ให้มีคนเลี้ยงดู ดีใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือน้องแมว แต่เพื่อนตนเองเคยถูกหลอกจากการซื้อของผ่านสื่อออนไลน์ ฉะนั้นเมื่อมีประโยชน์แล้ว มีโทษเหมือนกัน
"สื่อออนไลน์ สร้าง หรือทำลาย ขึ้นอยู่กับการใช้งานของแต่ละบุคคล แต่อย่างไรก็ตามสติคือสิ่งที่สำคัญที่สุดขณะที่ทุกคนเข้ามาบริโภคสื่อออนไลน์"