ส.ก.ชนินทร์ เสนอให้กทม.จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น 50 เขต

ข่าวทั่วไป Monday April 23, 2001 13:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 เม.ย.--กทม.
นายพินิจ กาญจนชูศักดิ์ โฆษกสภากรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 2 (ครั้งที่ 3) เมื่อวันที่ 18 เม.ย.44 ที่ผ่านมา ได้พิจารณาญัตติของนายชนินทร์ รุ่งแสง และคณะ เรื่องขอให้กรุงเทพมหานครดำเนินการจัดให้มีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในแต่ละเขตปกครอง โดยนายชนินทร์ได้กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับ 2540 มาตรา 78 ได้กำหนดให้มีการกระจายอำนวจสู่ท้องถิ่นโดยการตราพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 ซึ่งในพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 18 กำหนดให้กรุงเทพมหานครมีอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเอง ในเรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยว (มาตรา 16 (8) และมาตรา 17 (14) ) ในการดำเนินการดังกล่าวจำเป็นต้องหาแนวทางเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ มีการยอมรับและได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งการตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นก็เป็นแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจและน่าจะนำมาพิจารณา
สำหรับพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นนอกจากจะมีประโยชน์ในเรื่องการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของแต่ละพื้นที่ กล่าวคือ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจะเป็นสถานที่รวบรวมประวัติความเป็นมาของแต่ละท้องถิ่น รวมทั้งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาดั้งเดิมของแต่ละท้องถิ่นเพื่อถ่ายทอดให้ชนรุ่นหลังแล้ว ยังจะเป็นประโยชน์ในด้านการศึกษาและการพัฒนาชุมชน สร้างจิตสำนึกให้กับประชาชนหวงแหนท้องถิ่นของตน และยังจะเสริมสร้างให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนได้อีกด้วย ดังนั้นเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว เศรษฐกิจชุมชน และสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ซึ่งสอดคล้องตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กรุงเทพมหานครจึงควรจะเป็นผู้ริเริ่มดำเนินการจัดให้มีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในแต่ละเขตปกครอง และให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลและดำเนินโครงการ เพื่อให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกันในการที่จะพัฒนาชุมชนให้ยั่งยืนต่อไป
ดร.ธารินทร์ สงวนเสริมศรี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การจะจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในแต่ละเขตสามารถทำได้ ฝ่ายบริหารพร้อมที่จะสนับสนุน เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่น่าสนใจ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเป็นการเก็บรวบรวมศิลปะวัฒนธรรม วัตถุโบราณ ประวัติของคนเก่าแก่ในพื้นบ้าน ซึ่งมีคุณค่าต่อการศึกษา โดยไม่จำเป็นต้องมีการก่อสร้าง อาจใช้บ้านเรือนของเอกชน วัด หรือสถานที่ใด ๆ ก็ได้ เช่น เกาะเกร็ด จ.นนทบุรี ,จ.สมุทรสาคร เป็นต้น ทั้งนี้จะทำให้ชุมชนรักท้องถิ่น ตลอดจนช่วยกันดูแลรักษาศิลปวัฒนธรรม ซึ่งฝ่ายบริหารขอรับไปพิจารณาดำเนินการ
สำหรับญัตติดังกล่าวที่ประชุมมีมติเห็นชอบ และจะนำเสนอฝ่ายบริหาร เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ