ASEAN Business Forum 2015 รวมพลพรรคอาเซียน เชื่อมโยงเศรษฐกิจยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันบนเวทีโลก

ข่าวทั่วไป Thursday November 12, 2015 15:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 พ.ย.--เมคอะเว็ลท์ คอนซัลติ้ง สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือ TMA ผลักดันหลากหลายความคิดบนเวที ASEAN Business Forum 2015 "Creating Value through ASEAN Connectivity" สร้างคุณค่าจากการเชื่อมโยงถึงกันในอาเซียน เพื่อเตรียมก้าวสู่ประตูการค้าเสรีโดยมีประเด็นที่น่าสนใจ 10 เรื่อง ครอบคลุมทั้งโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมอาหาร พลังงาน การจัดนิทรรศการและงานประชุมวิชาการ การเงิน การท่องเที่ยว รวมไปถึงการส่งเสริมเอสเอ็มอีให้เติบโตในอาเซียน "จากนี้ไปอาเซียนจะสามารถพัฒนาตัวเองเป็นหนึ่งในประชาคมที่มีความโดดเด่นในภูมิภาค ร่วมกันทำงานเพื่อสร้างมูลค่าในอนาคต" วิสิฐ ตันติสุนทร ประธาน สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทยกล่าว ภายในงาน "อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ASEAN Physical Connectivity: A key to regional integration (การเชื่อมโยงด้านกายภาพ : กุญแจสู่การรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวของภูมิภาค) ว่า ภาพรวมอาเซียนกำลังเผชิญกับเศรษฐกิจซบเซา ขณะที่ประเทศไทยเองก็ยังล้าหลังทางด้านระบบสาธารณูปโภค 20-30 ปี ดังนั้นจากนี้ไปไทยจะต้องเร่งสปีดตัวเองขึ้นมาให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยกระทรวงคมนาคมกำหนดแผนแม่บทการพัฒนาประเทศเพื่อให้เชื่อมโยงกับอาเซียน แบ่งเป็น 5 ส่วนหลักๆ คือ 1. เส้นทางเชื่อมโยงหรือถนนเศรษฐกิจ (Economic Corridors) รวมถึงการเชื่อมโยงทางน้ำและอากาศ พร้อมกับกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone) เพื่อขยายโอกาสให้ไทยได้มีโอกาสใช้ประโยชน์จากเส้นทางเหล่านี้มากขึ้น สามารถหลุดจากกับดักของประเทศรายได้ปานกลาง(Middle Income Trap Country) ได้ในที่สุด 2. การจัดกลุ่มอุตสาหกรรม (Industry Cluster) แบ่งตามเขต เพื่อให้ง่ายต่อการจัดสรรทรัพยากร และส่งเสริมการลงทุน 3. สร้างแรงจูงใจ (Incentive) นักลงทุนต่างชาติ เพื่อส่งเสริมการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม 4. การผ่อนคลายกฎระเบียบ (Rules and regulations) ยกเลิกหรือผ่อนคลายกฎระเบียบด้านภาษีสินค้าและศุลกากร ถ้าสามารถทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกันจะเรียกได้ว่ามีการรวมตัวเป็นเขตเศรษฐกิจเดียวกันอย่างแท้จริง และ 5. สร้างคนเตรียมความพร้อม ทั้งบุคลากรและผู้ประกอบการที่มีทักษะสากล สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษ หรือภาษาท้องถิ่นในแต่ละประเทศที่เข้าไปลงทุน ในด้านการเชื่อมโยงด้านกายภาพ นายยาสุชิ เนกิชิ, Country Director for Thailand, ADB กล่าวว่า โครงการเส้นทางเศรษฐกิจแม่น้ำโขงของ ADB จะช่วยสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีและด้านพลังงานของภูมิภาค และเมื่อมองภาพรวมอาเซียน ยังมีโอกาสพัฒนาได้อีกมาก โดยประเมินจากอันดับความสามารถในการแข่งขันของ World Economic Forum ที่ชี้ชัดว่า สิงคโปร์และมาเลเซียนำมาอันดับต้นๆ ตามด้วยไทยและอินโดนีเซีย ขณะที่เมียนมา เวียดนาม และกัมพูชา อยู่ในลำดับรั้งท้าย ดังนั้นควรจะมีต้องการสนับสนุนซึ่งกันและกัน เพื่อจะได้เติบโตไปด้วยกัน นายนิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการ SCG Logistics Management กล่าวว่า การย้ายฐานการผลิตจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่ง ไม่ใช่แค่การเชื่อมโยงทางกายภาพ (Physical Connectivity) เท่านั้น แต่คือการส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพราะมีโรงงานหรือกิจการที่ตั้งระหว่างเมืองต่างๆ ที่มีการเชื่อมต่อเส้นทางกัน ดังนั้น ประเด็นที่สำคัญคือ จะสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขณะเดียวกันการนำเข้าและส่งออกก็จำเป็นต้องอาศัยมุมมองของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกมิติ ศาสตราจารย์ยาสุฮิโร ยามาดะ Special Assistant to the President of ERIA and CLMV Issues, Economic Research Institute for ASEAN and East Asia (ERIA) กล่าวว่า ญี่ปุ่นยังคงมุ่งเน้นการลงทุนเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ แต่จากปัญหาค่าแรงแพง ทำให้จำเป็นต้องพิจารณาหลายปัจจัยเพิ่มขึ้น จากมุมมองภายนอก เช่น การตัดสินใจย้ายฐานการผลิตรถยนต์ไปประเทศที่ค่าแรงต่ำกว่าอย่างกัมพูชา ก็เพื่อรักษาระดับความสามารถในการแข่งขันเอาไว้ให้ได้ ในด้านของคุณค่ารวม ฯพณฯ ท่าน ลี บุญคำ Ambassador Extraordinary and Plenipotentiary, Embassy of the Lao People's Democratic Republic in Thailand กล่าวว่า 5 ปีมานี้ประเทศลาวจัดทำแผนแม่บทการเชื่อมต่ออาเซียน และลงมือทำหลายอย่าง เพื่อให้การเดินหน้าสู่เออีซีสะดุดน้อยที่สุด รวมถึงก้าวผ่านอุปสรรคการดำเนินโครงการสำคัญๆ กว่า 20 เรื่อง แผนกลยุทธ์ 30 ประการ และดำเนินมาตรการหลายอย่างให้แล้วเสร็จภายในปี 2558 โดยหลังจากนี้ ลาวเริ่มมองข้ามไปถึงวิสัยทัศน์หลังปี 2015 การมองหาแหล่งเงินทุน สร้างโครงข่ายเชื่อมต่อกันไปเป็นเรื่องๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นระบบ ระหว่างนี้ทางภาครัฐก็มุ่งให้การศึกษากับประชาชน เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในแผนกลยุทธ์อาเซียน และมองว่าการเชื่อมต่อถึงกันทั้งอาเซียนไม่ใช่แค่ความหวัง แต่เป็นความจริงและเป็นอนาคตที่รออยู่ นายสุริยา จินดาวงศ์ Deputy Director-General of the Department of ASEAN, Affairs Ministry of Foreign Affairs, Thailand กล่าวว่า อาเซียนไม่ควรใช้วีซ่า แต่ก็ไม่ควรละเว้นข้อบังคับในการขอวีซ่า ขณะนี้ทุกประเทศกำลังเดินหน้าไปสู่ภาวะไร้วีซ่า ที่ผ่านมาอาเซียนแสดงตัวตนชัดเจนว่า บรรลุผลลัพธ์หลายอย่าง แต่ก็ยังต้องพิสูจน์ตัวเองในอีกหลายเดือนข้างหน้า หลังจากเปิดเออีซีอย่างเป็นทางการ จากนั้นก็เดินเข้าสู่วิสัยทัศน์ 2025 กลุ่มประเทศอาเซียนที่มีประชากรเป็นศูนย์กลาง และไม่ปล่อยให้ใครถูกทิ้งเอาไว้ข้างหลัง ฯ พณ ฯ ท่าน ดาโต๊ะ นาซีร่า บินติ ฮัซเซน Ambassador Extraordinary and Plenipotentiary, Embassy of Malaysia in Thailand กล่าวว่า อาเซียนเดินหน้ามาไกลระดับหนึ่ง ในมุมมองเชิงบวก ถือเป็นความสำเร็จของทุกประเทศในภูมิภาคนี้ แต่ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ ต้องช่วยเหลือกันคนละไม้คนละมือ ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ ในฐานะที่อาเซียนคืออนาคตที่อยู่ไม่ไกล ฯพณฯ ท่าน ลุตฟี่ รัฟ Ambassador Extraordinary and Plenipotentiary and Permanent Representative of the Republic of Indonesia to ESCAP, Embassy of the Republic of Indonesia in Thailand กล่าวว่า ก่อนที่จะมีอาเซียน หลายประเทศเคยขัดแย้งกันมาก แต่หลังจากมีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งมาจากการมององค์กรแบบอาเซียน ที่มีความหลากหลาย แต่สามารถพัฒนาตัวเองเป็นภูมิภาคที่ก้าวหน้าของโลก "อาเซียนเพิ่งเริ่มต้น ทำอย่างไรถึงจะบูรณาการสิ่งที่เราคิด ใส่เข้าไปในระบบ ภูมิภาคเรามีศักยภาพและก็มีโอกาสล้มเหลวได้ อาเซียนเรายังไม่เชื่อใจกันเพียงพอ เรายังมีปัญหาภายใน มีการแข่งขันภายในภูมิภาค ท่ามกลางความหลากหลาย ถ้าเราจัดการไม่ดี เราอาจจะทำอะไรผิดพลาดได้ อย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ