กรุงเทพฯ--28 ธ.ค.--อย.
อย.ป้องกันปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อวัวบ้า ออกประกาศให้เนื้อโคและผลิตภัณฑ์ที่ได้จากโคที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศที่มีความเสี่ยงจากการเกิดโรควัวบ้าจำนวน 8 ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ โปรตุเกส ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ สวิตเซฮร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ เยอรมัน และเบลเยี่ยม เป็นอาหารห้ามนำเข้าหรือจำหน่าย
น.พ.วิชัย โชควิวัฒน เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แถลงต่อผู้สื่อข่าวว่า จากการที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 173 พ.ศ.2539 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามนำเข้าหรือจำหน่าย โดยห้ามนำเข้าเนื้อโคสดและผลิตภัณฑ์ที่ได้จากโคจากสหราชอาณาจักร เนื่องจากมีข้อมูลที่ชัดเจนว่า พบเชื้อโรควัวบ้า หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Bovine Spongiform Encephalopathy (BSE) จากนั้น อย.ก็ได้ติดตามสถานการณ์มาโดยตลอด ซึ่งขณะนี้ปรากฎว่า มีข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อโรควัวบ้าในหลายประเทศแถบยุโรป ซึ่งเชื่อว่า เกิดจากการปนเปื้อนในอาหารจากการนำเอาโปรตีนที่ทำจากเครื่องใน เศษเนื้อ และกระดูกของสัตว์เคี้ยวเอื้อง (Rurninant) ที่อาจติดเชื้อ และไม่ผ่านกระบวนการแยกไขมันและใช้ความร้อนที่ไม่สูงพอ นำไปเลี้ยงโคเนื้อและโคนม ดังนั้น เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค อย.จึงได้เสนอคณะกรรมการอาหารให้ปรับปรุงประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 173 พ.ศ.2539 ดังกล่าว โดยคณะกรรมการอาหารได้ประชุมเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2543 มีมติห้ามนำเข้าเนื้อโคและผลิตภัณฑ์ที่ได้จากโคที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศที่มีความเสี่ยงจากการเกิดโรควัวบ้า (BSE) เพิ่มอีก 7 ประเทศ รวมเป็น 8 ประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักร โปรตุเกส ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอแลนด์ เยอรมัน และเบลเยี่ยม ทั้งนี้ ให้ยกเว้น นมและผลิตภัณฑ์นม และเจลาตินที่มีใบรับรองจากหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบ หรือสถาบันที่รับรองโดยหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบของประเทศที่เป็นแหล่งกำเนิดว่า ปลอดจากโรควัวบ้า โดยมีสาระสำคัญตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากำหนด
เลขาธิการฯกล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ อย.ได้ทำหนังสือแจ้งผู้ประกอบการให้งดเว้นการนำเข้าเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากประเทศแหล่งกำเนิดที่อาจมีความเสี่ยงจากการเกิดโรควัวบ้าแล้ว สำหรับประกาศกระทรวงสาธารณสุขตามมติของคณะกรรมการอาหารดังกล่าว อย.จะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนามโดยเร็ว และจะมีผลบังคับใช้ทันทีหลังจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา อย่างไรก็ตาม อย.จะได้ติดตามสถานการณ์โดยใกล้ชิด และประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันมิให้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรควัวบ้าเกิดขึ้นในประเทศไทย--จบ--
-อน-