กรุงเทพฯ--13 พ.ย.--กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี
นิมิตรหมายอันนี้ ในการเปิดสาขาโชว์ผลงานการออกแบบแฟชั่นสุดติ่งกระดิ่งแมว การผสมผสานลุคชายหญิง ถ่ายทอดออกมาผ่านเสื้อผ้าผลงานของนักศึกษาชั้นปีที่ 2 และชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาออกแบบแฟชั่นและศิลปะสิ่งทอ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี
นายสุระจิตต์ แก่นพิมพ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการออกแบบแฟชั่นและศิลปะสิ่งทอ เล่าว่า ในความเป็นดีไซน์เนอร์ ทักษะของกระบวนการการทำงานด้านแฟชั่น ตั้งแต่การออกแบบ การตัดเย็บ ล้วนเป็นทักษะที่ต้องพัฒนาให้เข้ากับยุคเข้ากับสมัย ซึ่งเครื่องแต่งกายถือเป็นปัจจัยสี่ ที่ต้องถูกพัฒนา ให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค รูปแบบของเครื่องแต่งกายมีความแตกต่างกันออกไป เนื่องจากความคิดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน สำหรับ FTA Fashion Showcase 2015 การนำเสนอศักยภาพของนักศึกษา โดยมีแนวความคิดต่างๆ ที่มีลักษณะโดดเด่นเฉพาะตัวมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบลวดลายและงานด้าน แฟชั่น เช่น สภาพแวดล้อมในสังคม ความสวยงามและเรื่องราวของธรรมชาติ รวมถึงการไล่เฉดสีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเพื่อสร้างความโดดเด่น มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เพื่อผลิตเครื่องแต่งกายในรูปแบบต่างๆ เพื่อความเหมาะสมตามโอกาสและวาระที่แตกต่างกัน
"ประกาย" นายธรากร ปิติรัตน์ ประธานจัดงาน FTA Fashion Showcase 2015 นักศึกษาชั้นปีที่ 3 เล่าว่า แฟชั่นทั้ง 66 ชุด 22 คน ผู้ออกแบบ โดย แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม 1. Streetwear ต้องการเน้นที่ความสนุก สามารถใช้งานได้จริง เน้นสีสัน ร่วมถึงกลิ่นอายของวัฒนธรรม 2. Couture วัฒนธรรม กลิ่นอายของความเป็นไทย และวัฒนธรรมของแอฟริกา ในการออกแบบชุด เช่น ผีตาโขน ชนเผ่ากะเหรี่ยง 3. Lady to wear ชุดสุภาพสตรี สวมใส่ในการทำงาน 4. Dark side นามธรรม กลิ่นอายความอบอุ่น เน้นโทนสีสุขุม 5. Menswear ความอ่อนหวานของผู้หญิง ที่ผู้ชายสามารถสวมใส่ได้ ยกตัวอย่าง เสื้อผ้าของตนเองอยู่ในกลุ่ม Streetwear แนวคิด "School Revolution" สีแม่สี แดง น้ำเงิน เหลือง ออกแบบชุด ไม่อิงชุดยูนิฟอร์ม ใส่ไอเดียผ่านเสื้อผ้าด้วยคำนิยาม "เกรดไม่ได้เป็นสิ่งบ่งบอกความสำเร็จในชีวิต"
เช่นเดียวกับ "ต้นกล้า" นายภัทรกร พงษ์อนันต์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 เล่าว่า เลือกผ้าไหมน้ำท่วม จากศูนย์ศิลปาชีพบางไทร มาออกแบบทั้งหมด 6 ชุด "Six nature of hill tribe"ได้รับแรงบันดาลใจมาจากหกเผ่าชาวดอย ได้แก่ ม้ง อาข่า ลาหู่ ลีซอ กะเหรี่ยง เมี่ยน นำเสนอผ่านชุดสุภาพสตรี พัฒนาด้วยเทคนิคอัดกลีบ อัดพลีท ซึ่งผ้ามัดหมี่ ผ้าไหมลายหางกระรอก มีลวดลายที่สวยงาม ด้วยความลงตัวของวัสดุที่ล้ำค่า คือ ผ้าไทย เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผ้าไทย ผสมผสานรูปแบบของชาวดอย
ตัวแทนจากนักศึกษาชั้นปีที่ 2 "สิริ" นายใจเพชร ศรีรักษา เล่าว่า สำหรับคลอเลคชั่นของชั้นปีที่ 2 มีทั้งหมด 19 ชุด ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการแต่งตัวข้ามเพศของเหล่าคนรักร่วมเพศ จากการประกาศกฎหมายรองรับการแต่งงานของชาวรักร่วมเพศในประเทศสหรัฐอเมริกาและสไตล์การแต่ตัวกบฏต่อเพศที่ตนเองเป็น เน้นที่ผ้าลูกไม้และขนสัตว์ ใครจะรู้ว่า ผ้าลูกไม้สามารถนำมาตัดเย็บ ด้วยเทคนิค การตัดต่อลูกไม้ และขนสัตว์ และให้สุภาพบุรุษสวมใส่ ทุกชุดที่ออกมาเกิดจากความตั้งใจ กว่าชุดแต่ละชุดจะออกมาได้ ต้องมีการวางแผน ออกแบบร่วมกัน และสุดท้าย ช่วยกันลงมือทำ เป็นประสบการณ์ในการจัดแสดงแฟชั่นของตนเองและเพื่อนๆ
บอกได้เลยว่า แต่ละชุด มาจากไอเดีย ของว่าที่ดีไซน์เนอร์คนต่อไปของประเทศไทย นำความรู้ที่ได้จากการเรียนมาเติมลงไปในงานของทุกคน เสียงปรบมือที่ดัง แสดงถึงฝีมือและความสามารถจริงๆ