กรุงเทพฯ--25 ต.ค.--กรมทรัพย์สินทางปัญญา
กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เผยสถิติจับกุมของเถื่อน 9 เดือนแรก สามารถจับกุมได้กว่า 1,900 ราย ยึดของกลางได้ 2.8 ล้านชิ้น เตรียมทำลายของกลางครั้งใหญ่ปลายปี ในงานแสดงนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์นานาชาติ (WICE 2001)
นายวีรวิทย์ วีรวรวิทย์ รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยถึงการดำเนินการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติและตัวแทนเจ้าของสิทธิ ดำเนินการปราบปรามสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาตามแหล่งที่มีการจำหน่ายสินค้าละเมิดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้มีการขยายผลการปราบปรามไปยังแหล่งผลิต แหล่งเก็บ และแหล่งค้าส่ง ทำให้สามารถจับกุมได้สินค้าละเมิดจำนวนมากขึ้น และขณะนี้กำลังรวบรวมของกลางที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่จับได้เตรียมนำมาทำลายครั้งใหญ่ในวันที่ 15 ธันวาคม 2543 ณ ศูนย์แสดงสินค้านานาชาติ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งเป็นวันเปิดงานแสดงนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์นานาชาติ (World Innovation and Creativity Exposition : WICE 2001)
สำหรับสถิติการจับกุมสินค้าที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาตั้งแต่เดือนมกราคม - กันยายน 2543 มีผู้กระทำผิดจำนวนทั้งสิ้น 1,942 ราย ได้ของกลางจำนวน 2,800,582 ชิ้น โดยเป็นคดีที่ทำผิดพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 จำนวน 980 ราย ค้นพบของกลางจำนวน 1,438,583 ชิ้น ทำผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 จำนวน 918 ราย ได้ของกลางจำนวน 1,326,824 ชิ้น และทำผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ 2530 จำนวน 44 ราย ได้ของกลาง 35,175 ชิ้น
สำหรับสถิติการจับกุมสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาตลอดทั้งปี 2542 ถูกจับกุม 1,517 ราย มีของกลางทั้งสิ้น 1,156,647 ชิ้น ส่วนสถิติการจับกุมสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในปี 2541 ถูกจับกุมทั้งสิ้น 1,585 ราย ได้ของกลาง 1,067,221 ชิ้น สถิติรวมของการจับกุมตั้งแต่ปี 2541 ถึงเดือนกันยายน 2543 มีสิถิติการจับกุมรวม 5,044 ราย และสามารถยึดของกลางได้ 5,024,450 ชิ้นนายวีรวิทย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยศูนย์ประสานการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาร่วมกับกองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ (สศก.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติและเจ้าของสิทธิที่ได้รับความเสียหายได้ประชุมหารือร่วมกันเป็นประจำและต่อเนื่อง เพื่อปรับปรุงวิธีการดำเนินการปราบปรามให้ทันต่อเล่ห์เหลี่ยมของผู้ผลิตสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ทำให้รู้ทันวิธีการของพ่อค้าที่ขายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและขณะนี้แนวการจับกุมได้พัฒนาไปจนถึงการจับกุมที่โรงงานหรือแหล่งผลิตโดยตรง ซึ่งเป็นต้นตอของสินค้าละเมิดต่าง ๆ ทำให้จำนวนร้านค้าที่ขายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญามีจำนวนลดลงระดับหนึ่งเพราะหาสินค้ามาขายไม่ได้ และอีกส่วนหนึ่งทนแรงกดดันของเจ้าหน้าที่ที่มีความเข้มงวดในการจับกุมอย่างต่อเนื่องไม่ไหว
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
ศศิธร โฆษิตเกษม
(01) 8043061--จบ--
-อน-