กรุงเทพฯ--7 มี.ค.--จุฬาฯ
ปัจจุบันปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าในประเทศไทยนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งผลกระทบที่เห็นได้ชัดคือความแปรปรวนของสภาพดิน น้ำ อากาศ การเกิดน้ำท่วมฉับพลัน การสูญเสียสัตว์ป่าและความหลากหลายทางชีวภาพ สาเหตุของการทำลายป่านั้นมีอยู่มากมาย และหนึ่งในสาเหตุนั้นก็คือ การสร้างโครงการพัฒนาต่าง ๆ เช่น การสร้างถนน การสร้างเขื่อน ซึ่งในเรื่องนี้ ทำให้มีมีผู้กังขากันว่าโครงการพัฒนาต่าง ๆ เหล่านี้ คุ้มกับการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติดังกล่าวหรือไม่
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น อ.ดร.คุณหญิงสุธาวัลย์ เสถียรไทย อาจารย์ประจำคระเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ จึงร่วมกับหน่วยงาน Resources for the Future ประเทศสหรัฐอเมริกาพัมนาเทคนิคและวิธีการประเมินค่าทางเศรษฐศาสตร์ของสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ซึ่งวิธีการนี้นับว่าเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนา โดยโครงการศึกษานี้จะเน้นศึกษาเฉพาะป่าสักอุทยานแห่งชาติแม่ยม เนื่องจากเป็นแหล่งพันธุกรรมของไม้สักที่ใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดของประเทศไทย และเป็นผืนป่าที่อุดมไปด้วยพันธุ์ไม้และสัตว์ป่าหลายชนิด ซึ่งนับว่าเป็นระบบนิเวศน์ที่มีความสำคัญยิ่ง และในขณะนี้โครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่คือโครงการแก่งเสือเต้นกำลังถูกเสนอให้เข้ามาก่อสร้างในเขตป่าอุทยานแห่งชาติแม่ยม ซึ่งจะทำให้เกิดการสูญเสียพื้นที่ป่าสักทองไปประมาณ 40,000 ไร่
อย่างไรก็ตามผลการศึกษาปรากฎว่า ถ้ามีการสร้างเขื่อนขึ้นในอุทยานแห่งชาติแห่งนี้จะทำให้มีการสูญเสียแหล่งทรัพยากรชีวภาพ แหล่งดูดซับคาร์บอน และแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันของป่าอุทยานแห่งชาติแม่ยมในบริเวณที่จะมีการสร้างเขื่อนอยู่ระหว่าง 3,800 ถึง 6,400 ล้านบาท ซึ่งนับว่าเป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ที่น่าคิดใคร่ครวญให้ดีก่อนตัดสินใจพัฒนาโครงการต่าง ๆ ต่อไปในอนาคต
ผลงานการวิจัยนี้เป็นหนึ่งใน 80 โครงการที่จุฬาฯ จะนำเสนอในนิทรรศการผลงานวิจัย วิชาการของจุฬาฯ ระหว่างวันที่ 25-26 มีนาคม 2544 ที่ศาลาพระเกี้ยว ในโอกาสฉลองครบรอบ 84 ปี แห่งการสถาปนา ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ฟรี สอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักงานสารนิเทศ โทร.218-3364-65--จบ--
-นห-