กรุงเทพฯ--16 พ.ย.--ทริปเปิล เจ คอมมิวนิเคชั่น
ก.พลังงาน ยัน แผน PDP 2015 สร้างสมดุลกระจายความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ให้เกิดความมั่นคง เน้นค่าไฟฟ้าต้องไม่แพงเกินไป ชี้พร้อมบริหารให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดแผน 4.587 บาทต่อหน่วย และจะทยอยขึ้นตามแผนเล็กน้อยเพียง 1.89 % ต่อปีระหว่างปี 2558 - 2579 หวั่นหากเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดไม่เข้าระบบ ส่งผลให้ค่าไฟแพงขึ้น และกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมอาจย้ายฐานการผลิตไปเพื่อนบ้านแทน
นายชวลิต พิชาลัย รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือ PDP 2015 กระทรวงพลังงานได้เน้นการสร้างสมดุลย์กระจายความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าให้เกิดความมั่นคงในการจัดหาไฟฟ้า ด้วยการกระจายแหล่งเชื้อเพลิง โดยลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ และหันไปใช้พลังงานหมุนเวียน และถ่านหินสะอาดเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งส่งเสริมการประหยัดพลังงานอย่างจริงจัง แต่อย่างไรก็ดีผู้ใช้ไฟฟ้ายังมีข้อกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าที่อาจเพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้กำหนดว่า แผน PDP 2015 นี้ จะคำนึงถึงผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าเป็นหลัก และทำให้ราคาค่าไฟฟ้าต้องไม่แพงเกินไป โดยกระทรวงพลังงานจะบริหารค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดแผน PDP 2015 อยู่ที่ระดับประมาณ 4.587 บาทต่อหน่วย ขณะที่ค่าไฟฟ้าในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 3.75 บาทต่อหน่วย และคาดว่าค่าไฟฟ้าตามแผน PDP 2015 (ปี 2558 – 2579) จะเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเพียงประมาณ 1.89 %ต่อปี
สำหรับ ประมาณการค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตามแผน PDP 2015 เบื้องต้นหากอยู่ในสมมุติฐาน ที่เกิดการเพิ่มสัดส่วนเชื้อเพลิงที่มีต้นทุนต่ำ เช่นจากข้อมูลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) พบว่า ในปี 2558 โรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดซึ่งมีต้นทุนประมาณ 2.14 บาทต่อหน่วย ซึ่งจะมาช่วยเฉลี่ยค่าไฟฟ้าไม่ให้เพิ่มสูงขึ้น จากต้นทุนค่าไฟฟ้าของเชื้อเพลิงอื่นๆ ได้แก่ โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ มีต้นทุนประมาณ 3.22 บาทหน่วย พลังงานทดแทนมีต้นทุนประมาณ 5.38 บาทต่อหน่วย แต่หากตามแผน PDP 2015 กรณีที่ไม่สามารถนำโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดผลิตไฟฟ้าได้ตามแผนฯ และจำเป็นต้องเปลี่ยนมาใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่จะต้องนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีต้นทุนสูงกว่ามาใช้ทดแทน จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดแผน PDP 2015 เพิ่มขึ้นจาก 4.587 บาทต่อหน่วยมากอย่างไม่สามารถเลี่ยงได้ ซึ่งจะเกิดผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ต้นทุนค่าไฟฟ้าต้องเพิ่มขึ้น และมีโอกาสที่ต่างประเทศอาจจะย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านแทน
"ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องเกิดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าตามแผน PDP 2015 โดยจะต้องมีการกระจายแหล่งเชื้อเพลิงเพื่อสร้างความมั่นคงในการจัดพลังงานให้กับประเทศในระยะยาว โดยเชื้อเพลิงที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 24 ชั่วโมง (Base load) มีเพียงก๊าซธรรมชาติ ถ่านหินสะอาด น้ำมันและพลังงานนิวเคลียร์ เปรียบได้กับอาหารจานหลัก ส่วนพลังงานทดแทนเป็นเพียงอาหารเสริม ขณะเดียวกันกระทรวงพลังงานจะต้องบริหารค่าไฟฟ้าไม่ให้มีต้นทุนที่แพงเกินไป เพื่อป้องกันมิให้เกิดผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน โดยโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดเป็นทางเลือกหนึ่งที่มีความสำคัญ เพราะนอกจากมีต้นทุนค่าไฟที่ไม่แพง เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในปัจจุบันสามารถควบคุมผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนได้ดีกว่ามาตรฐานที่กรมควบคุมมลพิษกำหนดไว้ และยังจะช่วยเพิ่มอำนาจในการแข่งขันให้แก่ประเทศอีกด้วย" นายชวลิตกล่าว