นิด้าโพล : “ระบบการเลือกตั้งใหม่”

ข่าวทั่วไป Monday November 16, 2015 10:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 พ.ย.--นิด้าโพล ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "ระบบการเลือกตั้งใหม่" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 9 – 11 พฤศจิกายน 2558 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไปทั่วประเทศ กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการเลือกตั้งและการนำคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. เข้ามาพิจารณาคำนวณที่นั่ง ส.ส. ในระบบการเลือกตั้ง การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" ด้วยความน่าจะเป็นแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งภูมิภาคออกเป็น 5 ภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภาค สุ่มตัวอย่างแบบมีระบบ (Systematic Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4 จากการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความเป็นธรรมต่อคะแนนเสียงของผู้ใช้สิทธิประมาณ 15 ล้านเสียงถูกตัดทิ้งไปเพราะลงคะแนนให้คนที่ไม่ได้รับเลือก ในการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.76 ระบุว่า ไม่เป็นธรรม ขณะที่ ร้อยละ 23.52 ระบุว่า เป็นธรรม และร้อยละ 14.72 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการที่กำหนดให้ "คะแนนเลือกตั้งที่ประชาชนลงให้ทุกคะแนน ไม่ว่าจะลงให้ใครต้องมีน้ำหนักและนำไปคำนวณเพื่อได้ ส.ส. พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 69.68 ระบุว่า เห็นด้วย ขณะที่ ร้อยละ 20.56 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 9.76 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ด้านสิ่งที่ประชาชนพิจารณาในการไปลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 56.72 ระบุว่า พิจารณาที่ตัวผู้สมัครและพรรคที่ส่งผู้สมัคร รองลงมา ร้อยละ 26.48 ระบุว่า พิจารณาที่ตัวผู้สมัคร ร้อยละ 11.92 ระบุว่า พิจารณาพรรคที่ส่งผู้สมัคร ร้อยละ 1.12 ระบุว่า ไม่พิจารณาอะไรเลย และร้อยละ 3.76 พิจารณาในด้านอื่น ๆ ได้แก่ นโยบาย ผลงานที่ผ่านมา และหัวหน้าพรรค ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการเลือกตั้ง ส.ส. ว่าควรทำให้ง่ายและสะดวกโดยให้มีบัตรเลือกตั้งเพียง ใบเดียว พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 80.56 ระบุว่า เห็นด้วย ขณะที่ ร้อยละ 16.88 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 2.56 ไม่ระบุ/ ไม่แน่ใจ เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.88 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.36 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.08 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.76 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.92 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่าง ร้อยละ 50.96 เป็นเพศชาย และร้อยละ 49.04 เป็นเพศหญิง ตัวอย่าง ร้อยละ 5.60 มีอายุ 18 – 25 ปี ร้อยละ 19.36 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 22.80 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 37.44 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 12.80 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 2.00 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่าง ร้อยละ 92.96 นับถือศาสนา พุทธ ร้อยละ 4.48 อิสลาม ร้อยละ 0.40 คริสต์ และอื่น ๆ และร้อยละ 2.16 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่าง ร้อยละ 19.20 สถานภาพโสด ตัวอย่างร้อยละ 76.72 สมรสแล้ว ตัวอย่างร้อยละ 1.84 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 2.24 ไม่ระบุสถานภาพ การสมรส ตัวอย่าง ร้อยละ 30.96 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 28.56 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.84 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 24.96 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 5.20 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี หรือเทียบเท่า และร้อยละ 2.48 ไม่ระบุการศึกษา ตัวอย่าง ร้อยละ 12.16 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 11.68 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 24.32 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 17.44 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 15.76 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 14.16 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 1.84 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 0.16 ประกอบอาชีพพนักงานองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร และร้อยละ 2.48 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่าง ร้อยละ 13.76 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 21.60 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 ร้อยละ 29.68 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 ร้อยละ 13.52 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 6.88 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 ร้อยละ 8.48 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 40,001 บาท ขึ้นไป และร้อยละ 6.08 ไม่ระบุรายได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ