กรุงเทพฯ--16 พ.ย.--กรมประมง
อธิบดีกรมประมง หวั่นอากาศแปรปรวนส่งผลกระทบต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เตือนเกษตรกรระมัดระวัง พร้อมสั่งเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำแนวทางป้องกันแก้ไขแก่เกษตรกร
ดร.วิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า จากสภาพอากาศที่แปรปรวน ขณะนี้ในหลายพื้นที่อากาศเริ่มหนาวเย็น อีกทั้งยังมีฝนตกสลับกับอากาศร้อนในบางพื้นที่ ทำให้อุณหภูมิของน้ำในรอบวันแตกต่างกันมาก ซึ่งมีผลกระทบต่อคุณสมบัติน้ำ ผลให้คุณภาพน้ำลดต่ำลง ทั้งด้านชีวภาพ กายภาพ และเคมีภาพ ลักษณะเช่นนี้จะมีผลกระทบต่อสุขภาพปลาเป็นอย่างมาก เนื่องจากปลาเป็นสัตว์เลือดเย็น อุณหภูมิของร่างกายเปลี่ยนแปลงไปตามอุณหภูมิของน้ำ ซึ่งในการปรับตัวนี้ จำเป็นต้องนำพลังงานที่ได้จากการเผาผลาญอาหารมาใช้ ทำให้พลังงานที่จะนำไปใช้ในการเจริญเติบโตหรือสร้างระบบภูมิคุ้มกันลดน้อยลง ด้วยเหตุนี้ทำให้ปลาอ่อนแอ ป่วย และติดโรคได้ง่าย
ทั้งนี้ ในช่วงปลายฝนต้นหนาว ประมาณเดือนพฤศจิกายน น้ำจะมีอุณหภูมิต่ำเป็นเหตุทำให้เชื้อโรคหลายชนิดเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้ดี โดยเฉพาะโรคอียูเอส โรคตัวด่าง และโรคไวรัสเคเอชวี ซึ่งส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กรมประมงได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานประมงจังหวัดต่างๆ ลงพื้นที่ให้คำแนะนำแก่เกษตรกรแล้ว โดยเบื้องต้น ขอให้เกษตรกรปฏิบัติตามคำแนะนำเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น
สำหรับแนวทางในการปฏิบัติเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาสัตว์น้ำของเกษตรกร มีดังนี้
1. ลดปริมาณอาหารที่จะให้ลง 10 – 15 % เพราะปลากินอาหารน้อยลง หากมีปริมาณอาหารเหลือมากส่งผลให้น้ำเสีย เกิดก๊าซพิษ และมีผลกระทบต่อสุขภาพปลา
2. เสริมวิตามินซีในอาหาร 1-2 % โดยน้ำหนัก ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรง ต้านทานโรคและลดความเครียด
3. หากมีปลาป่วย ควรแยกออกไปเลี้ยงและรักษาต่างหาก กรณีป่วยหนักอาจทำลายทิ้งเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในวงกว้าง
4. ช่วงเปลี่ยนฤดูกาลปลายฝนต้นหนาวสัตว์น้ำที่เลี้ยงมีโอกาสสูงที่จะป่วย ติดเชื้อโรคหรือพบปรสิตภายนอกปนเปื้อนได้ง่าย ดังนั้นควรทำการป้องกันโรค เช่น ลดความหนาแน่นของปลาควบคุมคุณภาพและปริมาณอาหารที่ให้ ควบคุมคุณสมบัติน้ำ หมั่นเอาใจใส่และตรวจสุขภาพปลาอย่างสม่ำเสมอ
5. การเลี้ยงปลาในกระชัง หากอยู่ในบริเวณน้ำตื้น ควรย้ายกระชังปลาไปอยู่ที่บริเวณน้ำลึกมากขึ้น เพื่อให้ปลาสามารถดำรงชีวิตและมีการเจริญเติบโตได้ดี
6. ในบ่อดิน ควรใช้นำเกลือแกงมาละลายน้ำสาดให้ทั่วบ่อประมาณ 100-150 กิโลกรัมต่อไร่ หรือ ปูนขาว ในอัตรา60 – 100 กิโลกรัมต่อไร่
7. หากพบว่าน้ำในบ่อเริ่มเน่าเสีย โดยสังเกตว่ามีก๊าซผุดขึ้นมาจากพื้นบ่อ ให้ใช้เกลือสาดบริเวณดังกล่าว ประมาณ 200 – 300 กิโลกรัมต่อไร่
ดังนั้น เกษตรกรจึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น หากพบมีปลาป่วยให้รีบแจ้งสำนักงานประมงจังหวัดหรือศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง/น้ำจืดในพื้นที่นั้นๆ หรือแจ้งมายังสถาบันวิจัยสุขภาพสัตว์น้ำจืด กรุงเทพฯ โทร.0 2579 4122 / สถาบันวิจัยสุขภาพสัตว์น้ำชายฝั่งสงขลาโทร. 0 7433 5243 ...อธิบดีกรมประมง กล่าว
ข้อมูลเพิ่มเติม :
โรคอียูเอส (Epizootic Ulcerative Syndrome : EUS) หรือ "โรคแผลเน่าเปื่อย" เป็นโรคที่อยู่ภายใต้ระบบการเฝ้าระวังโรคสัตว์น้ำของประเทศไทย มีสาเหตุจากเชื้อราสกุลอะฟลาโนมัยซิส (Aphanomyces invadans)โดยลักษณะอาการปลาที่ป่วย จะมีแผลเน่าเปื่อย ลึกตามตัวพบโรคนี้ได้ในปลาหลายชนิดทั้งที่อยู่ในธรรมชาติและบ่อเลี้ยง เช่น ปลาช่อน ปลาตะเพียน ปลาสร้อย ปลากระสูบ ปลาแรด และปลาสลิด เป็นต้น ปัจจุบันยังไม่มียาหรือสารเคมีที่จะใช้ในการรักษาโรคได้ หากสภาพอากาศและน้ำในบ่อเลี้ยงมีอุณหภูมิสูงขึ้น เชื้อราดังกล่าว จะเจริญและแพร่กระจายได้น้อยลง ในขณะเดียวกันปลาที่กำลังป่วยจะมีภูมิต้านทานเพิ่มขึ้น ช่วยให้ปลาหายป่วยเองได้ในเวลาต่อมา
โรคตัวด่าง เป็นอีกโรคหนึ่งที่เกษตรกรควรเฝ้าระวัง โรคนี้มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียสกุลฟลาโวแบคทีเรียม(Flavobacterium spp.) พบโรคนี้มากในช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยและอุณหภูมิน้ำต่ำ มักเกิดนอกจากนี้มักเกิดขึ้นกับปลาหลังจากการย้ายบ่อ หรือการขนส่งโดยลักษณะอาการปลาที่ป่วยจะมีแผลด่างขาวตามลำตัว หากติดเชื้อรุนแรงปลาจะตายเป็นจำนวนมาก ในรยะเวลาสั้น พบโรคนี้ได้ในปลาสวยงาม ปลากะพงขาว ปลาดุก ปลาช่อน และปลาบู่ วิธีการป้องโรคที่ดี คือ ลดความหนาแน่นปลา ลดอาหาร ควบคุมคุณสมบัติน้ำให้เหมาะสม ในระหว่างการเคลื่อนย้ายหรือขนส่ง ให้ใช้เกลือแกง 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 1 ตัน (0.1 %) เพื่อช่วยลดความเครียด
โรคเคเอชวี (Koi Herpesvirus Disease : KHVD) โรคนี้มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส พบในปลาตระกูลคาร์พและไนโดยลักษณะอาการปลาที่ป่วย จะรวมกลุ่มอยู่ตามผิวน้ำและขอบบ่อ ซึม ว่ายน้ำเสียการทรงตัวลำตัวมีเมือกมาก มีแผลเลือดออกตามลำตัว ในปลาที่มีอาการติดเชื้อรุนแรงจะพบอาการเงือกเน่า ปลาอ่อนแอ กินอาหารน้อยลงหรือไม่กินอาหาร ทยอยตายพบมีอัตราการตายสูงถึง 50 – 100 % โรคนี้ไม่สามารถรักษาได้ด้วยการใช้สารเคมี วิธีการป้องโรคที่ดี คือ ลดความหนาแน่นปลา ลดอาหาร ควบคุมคุณสมบัติน้ำให้เหมาะสม และรักษาตามสาเหตุแทรกซ้อนต่างๆ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย รา และหรือปรสิต เป็นต้น