กรุงเทพฯ--16 พ.ย.--ปตท.
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปปรับลดลงทุกชนิดโดยน้ำมันดิบ Brent ลดลง2.87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 45.79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบดูไบ (Dubai)ลดลง 2.74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 42.56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 3.27 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 42.70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 1.80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 59.45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลลดลง 1.75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 58.09 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
§ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ประกาศปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปี 2559 เติบโตจากปีก่อนที่ 3.3% (ลดลง 0.3% จากการประเมินในเดือน ก.ย. 58) เนื่องจากสภาวะการค้าซบเซา เศรษฐกิจจีนชะลอตัว และเศรษฐกิจในประเทศตลาดเกิดใหม่อ่อนแอ
§ คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ลดประมาณการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP') ของยูโรโซน 19 ประเทศ ในปี 2559 เติบโตจากปีก่อนที่ 1.8% (ลดลงจากการประเมินครั้งก่อน 0.1%) และระบุว่าเศรษฐกิจยุโรปจะเผชิญความท้าทายมากขึ้นจากเศรษฐกิจชะลอตัว,ราคาน้ำมันลดลงและเงินยูโรอ่อนค่า
§ นาย Eric Rosengren ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) สาขาบอสตัน ระบุตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ผ่านมา แสดงว่าเศรษฐกิจแข็งแกร่ง และเหมาะต่อการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในวาระประชุม FEDครั้งต่อไป ในวันที่ 15-16 ธ.ค. 58
§ Baker Hughes รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 13 พ.ย.58เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 2 แท่น มาอยู่ที่ 574 แท่น เพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 11 สัปดาห์
§ Energy Information Administration รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 พ.ย. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 4.2 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 487 ล้านบาร์เรล ทั้งนี้ปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ต่อเนื่อง 7 สัปดาห์
§ Reuters ประเมินปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิรักไปยังสหรัฐอเมริกา ในเดือน พ.ย. 58 เพิ่มขึ้น40% จากเดือนก่อนอยู่ที่ 660,000 บาร์เรลต่อวัน สูงสุดในรอบ 3 ปี เนื่องจากอิรักลดราคาเพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาดจากซาอุดีอาระเบีย อีกทั้ง น้ำมันดิบ Basra Heavy เหมาะสมกับโรงกลั่นน้ำมันบริเวณGulf Coast ที่นำเข้าน้ำมันดิบชนิด Medium Sour และ Heavy Sour
ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
§ สหภาพแรงงานพนักงานบริษัทน้ำมันแห่งชาติของบราซิล หยุดงานประท้วงตั้งแต่วันที่ 8 ต.ค. -13 พ.ย. 58 เพื่อให้บริษัทยกเลิกการตัดงบการลงทุน รวมทั้งให้หยุดขายทรัพย์สินของบริษัทให้กับนักลงทุนต่างประเทศ เนื่องจากสหภาพมองว่าราคาเสนอขายต่ำกว่าราคาตลาดปกติ ทั้งนี้ Petrobrasรายงานปริมาณการผลิต 115,000 บาร์เรลต่อวัน ได้รับผลกระทบ สวนทางกับที่สหภาพเห็นว่าการประท้วงทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบประมาณ 400,000 บาร์เรลต่อวัน รวมทั้งโรงกลั่น 11 แห่งจาก 13 แห่ง ได้รับผลกระทบ
§ EIA ระบุในรายงาน Short Term Energy Outlook คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในปี 2559 จะลดลงจากปีก่อน 520,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 8.77 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพราะราคาน้ำมันดิบที่ลดลงกว่า 50 % ในปี 2558 ทำให้ผู้ผลิต Shale Oil ปรับลดปริมาณการผลิต ทั้งนี้ในปี2558 EIA ระบุผู้ผลิตน้ำมันปรับลดงบลงทุนแล้ว 20% และจะปรับลดลงต่อเนื่องที่อัตราเดียวกันในปีหน้า
§ EIA คาดว่าการผลิต Shale Oil ของสหรัฐฯ ในเดือน ธ.ค. 58 จะลดลงจากเดือนก่อน 120,000บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 4.95 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นการลดลงรายเดือนมากที่สุดตั้งแต่ EIA เก็บสถิติการผลิต Shale Oil ในปี 2550 ขณะที่การผลิตก๊าซธรรมชาติคาดว่าจะลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6โดยแหล่ง Marcellus ซึ่งเป็นแหล่งผลิต Shale Gas ขนาดใหญ่สุดของสหรัฐฯ จะผลิตลดลงรายปี เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2551
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงจากจาก IEA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศ OECD ล่าสุดเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีก่อน 300 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 3 พันล้านบาร์เรล อีกทั้งยังมีเรือบรรทุกน้ำมันกว่า 20 ลำ รอรับน้ำมันดิบจากท่า ส่งออก Basrah ในอิรัก อนึ่ง IEA ปรับคาดการณ์การเติบโตอุปทานน้ำมันดิบโลกเดือน ต.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 97 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ รัฐมนตรีพลังงานน้ำมันของรัสเซีย นาย Alexander Novak เห็นว่ารัสเซียจะเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ สู่ระดับสูงสุดที่ 10.66 ล้านบาร์เรลต่อวันในปีนี้ และ OPEC จะไม่ตัดสินใจลดปริมาณการผลิต ขณะที่การประท้วงในบราซิลยุติลงในวันที่ 13 พ.ย. 58 ทางด้านเศรษฐกิจ นาย Mario Draghi ผู้ว่าการธนาคารกลางยุโรป (ECB) แสดงความพร้อมที่จะขยายวงเงินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ(QE) ในการประชุม Governing Council ในวันที่ 3 ธ.ค. 58 หากจำเป็น เพื่อกระตุ้นอัตราเงินเฟ้อหลังจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว และลดต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย ประกอบกับ นาย William C. Dudley ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) สาขานิวยอร์ก ระบุว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มลดความผันผวนลง เมื่อเทียบกับช่วงเดือนก่อนหน้า และเศรษฐกิจของจีนมีพัฒนาการดีขึ้น การบริโภคภายในขยายตัว อีกทั้งไม่ได้เน้นการลงทุนมากเหมือนแต่ก่อน และเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจีนเตรียมมาตรการต่างๆ ไว้พร้อมเพื่อใช้สนับสนุนเศรษฐกิจในระยะเปลี่ยนผ่าน ด้านการวิเคราะห์ทางเทคนิคสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ Brent, WTI และ Dubai จะเคลื่อนไหวที่ระดับ 42.5-47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล, 39-43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ 40-45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตามลำดับ
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินปรับลดลงจาก Formosa Petrocheical Corp. (FPC) ของไต้หวันเดินเครื่องหน่วย RFCC (84,000 บาร์เรลต่อวัน) ทั้ง 2 หน่วยที่โรงกลั่น Mailiao เต็มกำลัง (แต่ละหน่วยสามารถผลิตน้ำมันเบนซินได้ 45,000 -50,000 บาร์เรลต่อวัน) ซึ่งเป็นครั้งแรกของปี FPC จำเป็นต้องขาย น้ำมันเบนซิน 93 RON ที่ราคา discount MOPS 92 RON - 0.50 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล บ่งบอกปริมาณอุปทานน้ำมันเบนซิน ในเอเชียเหนือเริ่มล้นตลาด อย่างไรก็ตาม Platts รายงานหน่วย RFCC (84,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่โรงกลั่น Yanbu (กำลังการกลั่น 400,000 บาร์เรลต่อวัน) ยังคงปิดดำเนินการจากเหตุขัดข้องทางเทคนิค ส่งผลให้Unipec บริษัท Joint Venture ออกประมูลขายน้ำมันเบนซิน Octane ต่ำอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดบริษัทออกประมูลขายน้ำมันเบนซิน 71 RON ปริมาณ 450,000 บาร์เรล ส่งมอบ 16 พ.ย. 58 ประกอบกับ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 7 พ.ย. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 10,000 บาร์เรล หรือ 0.1 % อยู่ที่ 10.5 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 58.5-63.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลปรับลดลงจาก Bapco ของบาห์เรน ออกประมูลขายน้ำมันดีเซล0.001%S ปริมาณ 298,000 – 447,000 บาร์เรล ส่งมอบ 17-20 พ.ย. 58 อนึ่ง เป็นครั้งแรกที่ Bapco ออกประมูลขายน้ำมันดีเซล 0.001%S หลังเข้าร่วมกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางในการลดการใช้น้ำมันดีเซล 0.05%S และหันมาใช้พลังงานที่สะอาดกว่า ขณะที่ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด7 พ.ย. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 100,000 บาร์เรล หรือ 1.0 % อยู่ที่ 9.6 ล้านบาร์เรลอย่างไรก็ตาม บริษัทCosmo Oil ในญี่ปุ่นหยุดเดินเครื่องหน่วยกลั่นน้ำมันดิบ CDU หมายเลข 6 (กำลังการกลั่น 69,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่โรงกลั่น Yokkaichi เพื่อซ่อมบำรุงตามแผน เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 58 คาดว่าจะใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ อีกทั้งผู้ค้าน้ำมันคาดอุปสงค์น้ำมันดีเซล 0.001 %S จากฟิลิปปินส์ในปี 2559 จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากรัฐบาลมีแผนปรับปรุงมาตรฐานคุณภาพเชื้อเพลิง สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 58.00-62.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล