กรุงเทพฯ--16 พ.ย.--คาร์ล บายร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์
วิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เปรียบเสมือน "ยาขม" สำหรับนักเรียนหลายๆ คน ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากผลการทดสอบทางการศึกษาวิชาเหล่านี้ในระดับประเทศที่นักเรียนไทยยังทำได้ไม่ดีนักโดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิทางการเรียนในวิชาดังกล่าว การพัฒนาครูผู้สอนจึงเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากเป็นผู้มีส่วนสำคัญยิ่งที่จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจในบทเรียน และที่สำคัญไปกว่านั้นคือช่วยให้นักเรียนเกิดทัศนคติที่ดีในวิชาเหล่านี้ เกิดความสนใจอยากเรียนรู้เพิ่มเติม และเลือกที่จะศึกษาต่อและประกอบอาชีพในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถของประเทศในที่สุด
ด้วยเหตุนี้ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จึงร่วมกับสถาบันคีนันแห่งเอเซีย จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ในโครงการ "Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต" เพื่อให้แนวทางและเทคนิคในการจัดการเรียนการสอนแบบสืบเสาะ (inquiry-based learning) ซึ่งเป็นวิธีการเรียนการสอนแบบใหม่ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และจะช่วยพัฒนาการเรียนรู้แของนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยจัดกิจกรรมนำร่องที่จังหวัดสมุทรปราการ ขอนแก่น และสงขลา โดยมีครูทั้งหมด 818 คน จาก 233 โรงเรียนเข้าร่วม ก่อนที่จะขยายผลสู่โรงเรียนอื่นๆ ทั่วประเทศต่อไป โดยตั้งเป้าหมายฝึกอบรมครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์รวม 10,000 คน ภายในระยะเวลา 5 ปี
นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า "เชฟรอน ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือสะเต็ม (STEM) มาอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างมั่นคง โดยในโครงการ 'Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต' เชฟรอนได้ร่วมมือกับพันธมิตรภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคม เพื่อพัฒนาการศึกษาในสาขา STEM ตลอดทั้งระบบ รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของครูในระดับปฏิบัติการ ซึ่งเป็นบุคคลที่มีส่วนสำคัญในการช่วยให้นักเรียนมีความเข้าใจในบทเรียน มีทัศนคติที่ดี และเกิดแรงบันดาลใจที่จะศึกษาต่อในสาขานี้ต่อไปในอนาคต โดยเน้นการมีส่วนร่วมของนักเรียน ทั้งการคิด วิเคราะห์ ตั้งคำถาม แก้ไขปัญหา และหาคำตอบได้ด้วยตนเอง มากกว่าการท่องจำเพียงเนื้อหาแต่อย่างเดียว ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นทักษะที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 ที่บุคลากรของประเทศไม่ว่าจะในสาขาอาชีพใดพึงมี เพื่อตอบรับกับการแข่งขันที่สูงขึ้นในทุกด้าน"
นายไพโรจน์ กล่าวต่อไปว่า "การพัฒนาการเรียนการสอนในสาขา STEM อย่างยั่งยืน จะต้องทำอย่างเป็นระบบและอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเชฟรอนและสถาบันคีนันได้ทำงานร่วมกับภาคีการศึกษาทั้งในระดับประเทศในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงแรงงาน รวมถึงหน่วยงานในระดับจังหวัด ระดับภูมิภาค และโรงเรียน เพื่อจัดการอบรมให้กับผู้บริหารสถานศึกษา และครูในระดับปฏิบัติการ โดยในส่วนของการอบรมกระบวนการเรียนการสอนแบบสืบเสาะแก่ครูนั้น เราจะจัดอย่างต่อเนื่องก่อนการเปิดสอนในทุกภาคเรียน และภายหลังเสร็จสิ้นการอบรม ยังมีระบบพี่เลี้ยงทางวิชาการคอยให้คำแนะนำแก่ครู เพื่อให้สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในชั้นเรียนของตนได้อย่างเหมาะสม โดยจะขยายความร่วมมือและการอบรมสู่โรงเรียนอื่นๆ ทั่วประเทศต่อไป"
นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการ สถาบันคีนันแห่งเอเชีย กล่าวว่า "ภายใต้โครงการเชฟรอนสนุกวิทย์ สถาบันคีนันได้ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจาก Teachers College มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา เพื่อนำวิธีการจัดการเรียนการสอนแบบสืบเสาะ ซึ่งได้รับการพิสูจน์จากนานาชาติแล้วว่าส่งผลดีต่อเรียนรู้ในระยะยาวของเยาวชนมาปรับใช้กับประเทศไทย โดยวิธีนี้ครูจะไม่แสดงวิธีทำหรือให้คำตอบแก่เด็กโดยทันที แต่จะใช้การตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นให้นักเรียนได้คิดสืบเสาะต่อ ซึ่งจะช่วยให้เด็กได้พัฒนาความรู้ขณะที่กำลังคิดหาคำตอบของคำถามนั้น อันไม่เพียงช่วยให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจในบทเรียนได้ดีขึ้นและมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนวิทยาศาสตร์ แต่ยังช่วยให้ครูสามารถสังเกตพฤติกรรมของนักเรียนเพื่อนำมาพัฒนาการเรียนการสอนให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย การเรียนการสอนโดยวิธีนี้จึงช่วยพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ในสาขา STEM ได้อย่างมีประสิทธิภาพ"
นางสาวพรนภา ราชรองเมือง จากโรงเรียนบ้านหนองม่วงหลุบคา จังหวัดขอนแก่น ครูวิทยากรในการอบรมวิชาคณิตศาสตร์ กล่าวว่า "ก่อนหน้านี้ดิฉันได้เข้าอบรมเพื่อเป็นครูวิทยากรในโครงการเชฟรอนสนุกวิทย์ และได้นำวิธีการเรียนการสอนแบบสืบเสาะไปใช้ในห้องเรียน และพบว่าการเรียนการสอนวิธีนี้แตกต่างไปจากการสอนวิชาคณิตศาสตร์แบบดั้งเดิม ที่ครูจะทำตัวเป็น 'ครูตัวอย่าง' กล่าวคือให้ทฤษฎีและทำโจทย์ให้เด็กนักเรียนดูแล้วทำตาม ขณะที่การสอนแบบสืบเสาะ ครูจะให้นักเรียนคิดหาคำตอบด้วยตัวเอง โดยครูจะกระตุ้นความคิดของนักเรียนด้วยคำถาม ส่งผลให้การเรียนวิชาคณิตศาสตร์สนุกขึ้น ทั้งยังช่วยให้นักเรียนมีมโนภาพและความเข้าใจบทเรียนอย่างลึกซึ้งทั้งในส่วนของทฤษฎีและวิธีการทำ จึงสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์และใช้กับโจทย์ปัญหารูปแบบอื่นๆ ที่ซับซ้อนขึ้นได้อีกด้วย"
นายไชยา รัชนีย์ ครูวิชาวิทยาศาสตร์ โรงเรียนสทิงพระวิทยา จังหวัดสงขลา กล่าวถึงความประทับใจที่มีต่อการอบรมในครั้งนี้ว่า "การอบรมนี้มีความพิเศษเนื่องจากแบ่งผู้เข้ารับการอบรมเป็นกลุ่มเล็กๆ ทำให้ได้ลงมือปฏิบัติจริง และมีครูวิทยากรซึ่งมีความเชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำและเทคนิกการสอนอย่างใกล้ชิด ทำให้เกิดความเข้าใจว่าจะสามารถนำวิธีการเรียนการสอนแบบสืบเสาะไปปรับใช้ในห้องเรียนของตนเองได้อย่างไร ทั้งนี้แนวทางการสอนแบบสืบเสาะจะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ในวิชาวิทยาศาสตร์ได้เป็นอย่างมาก อาทิ เทคนิก 'group of 4' ที่แบ่งนักเรียนออกเป็นสี่คนซึ่งมีหน้าที่แตกต่างกัน ประกอบด้วย หน้าที่จัดเตรียมอุปกรณ์การทดลอง วางแผนการทดลอง จดรวบรวมข้อมูลการทดลองตลอดจนการอภิปรายในกลุ่ม และนำเสนอผลการศึกษาต่อเพื่อนๆ โดยจะเปลี่ยนหน้าที่กันไปในแต่ละครั้ง ซึ่งการเรียนรู้เป็นกลุ่มจะช่วยให้นักเรียนทุกคนได้เรียนรู้และมีความเข้าใจในบทเรียนมากขึ้นทั้งจากการทำงานร่วมกันภายในกลุ่ม และการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกลุ่ม จากเดิมที่อาจจะมีเพียงแค่เด็กที่เรียนเก่งที่สุดในกลุ่มเป็นคนทำทุกอย่าง แต่วิธีนี้จะช่วยให้เด็ก ๆ ทุกคนรู้สึกภูมิใจที่มีส่วนในการหาคำตอบ และสนุกกับการเรียนวิทยาศาสตร์"
นางสาวสุพัตรา เกิดทรัพย์ ครูวิชาคณิตศาสตร์ โรงเรียนสตรีสมุทรปราการ ซึ่งเข้าร่วมการอบรมเป็นครั้งที่สอง และได้นำวิธีการสอนแบบสืบเสาะไปใช้ในชั้นเรียนของตน กล่าวว่า "ต้องยอมรับว่าสำหรับเด็กหลายๆ คน คณิตศาสตร์เป็นวิชาที่น่าเบื่อ แต่เมื่อนำวิธีการนี้มาใช้ สิ่งที่เห็นได้ชัดคือบรรยากาศในห้องเรียนสนุกสนาน นักเรียนมีความเข้าใจในบทเรียนและทัศนคติต่อวิชาคณิตศาสตร์ดียิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น ในการเรียนครั้งหนึ่งได้ลองเอารูปภาพให้นักเรียนดู และถามว่าเกี่ยวข้องกับบทเรียนอย่างไร ซึ่งเด็กๆ ต่างบอกว่ารูปนี้ไม่เกี่ยวกับวิชาคณิตศาสตร์เลย แต่แทนที่ครูจะเฉลยคำตอบ ก็จะใช้วิธีการตั้งคำถามเพื่อให้เด็กได้ใช้ความคิด และเชื่อมโยงรูปดังกล่าวเข้ากับบทเรียน ซึ่งทำให้เด็กๆ สนุกและตื่นเต้นไปกับการเรียนการสอนมาก"
ดร. บุญเลี้ยง จอดนอก จากโรงเรียนบ้านหัวบึง จังหวัดอุดรธานี ครูวิทยากรในการอบรมวิชาวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า "การจะนำวิธีการเรียนการสอนแบบสืบเสาะไปใช้ในห้องเรียนให้เกิดผลสำเร็จได้นั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือและการเรียนรู้ร่วมกันของครูและนักเรียน โดยครูเองก็ต้องมีความกระตือรือร้นและเปิดใจที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการสอนของตน เพราะครูคือผู้ฉายภาพของกระบวนการนี้ให้เด็กได้เรียนรู้และปฏิบัติตาม นอกจากนั้น ครูยังต้องเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความคิดเห็นต่อการสอนของครู เพื่อที่ครูจะได้พัฒนาการสอนให้เหมาะสมกับชั้นเรียนของตน และที่สำคัญการเรียนรู้แบบสืบเสาะอาจไม่เห็นผลสัมฤทธิ์ได้ในทันที ครูจึงต้องมีความอดทน เพื่อให้เด็กได้พัฒนากระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์และมีมโนมติทางวิทยาศาสตร์ที่มากขึ้น แล้วผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก็ตามมาเอง และนั่นคือรางวัลที่ยิ่งใหญ่ของคนที่เป็นครูทุกคน"
"Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต" เป็นโครงการระยะยาว 5 ปี ด้วยงบประมาณรวมกว่า 1,000 ล้านบาท ที่เชฟรอน ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ การศึกษา สังคม และเอกเชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับการเรียนการสอนในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือ STEM ตลอดทั้งระบบ ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยจะมีผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ทั้งสิ้นกว่า 500,000 คน