กรุงเทพฯ--16 พ.ย.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
วันนี้ (๑๓ พ.ย. ๕๘) เวลา ๐๘.๓๐ น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ศปก.พม.) ครั้งที่๒๘๒/๒๕๕๗-๒๕๕๘ เพื่อรับทราบปัญหาทางสังคมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และร่วมหาแนวทางการแก้ไขและการป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยมีผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานในกระทรวงฯ เข้าร่วมประชุม
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้มอบหมายกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้เป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาขอทานอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม ตั้งแต่ต้นเหตุถึงปลายเหตุ ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม และสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการของรัฐ สำหรับปี ๒๕๕๙ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้เตรียมจัดทำแผนปฏิบัติการจัดระเบียบขอทาน โดยยึดหลัก ๓ p ได้แก่ ๑) การบังคับใช้กฎหมาย (Policy) เช่น การปรับปรุงกฎหมาย จัดระเบียบจัดทำทะเบียนข้อมูล พัฒนาฐานข้อมูล และขยายผลดำเนินคดีกับขบวนการ ค้ามนุษย์ ๒) การคุ้มครองช่วยเหลือ (Protection) เช่น การจัดทำบันทึกความร่วมมือเพื่อความมั่นคงทางอาชีพและรายได้ คัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการคุ้มครองสวัสดิภาพ ฟื้นฟู พัฒนาศักยภาพในสถานสงเคราะห์ และ ๓) การป้องกัน (Prevention) ให้มีการศึกษาวิจัยพัฒนาระบบการคุ้มครองทางสังคม รณรงค์ประชาสัมพันธ์ต่อสาธารณะโดยให้ความรู้ ด้านกฎหมาย สิทธิการเข้าถึงบริการด้านกฎหมาย และสิทธิในการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน ส่งเสริมเครือข่ายกระทรวง การพัฒนาสังคมฯ เพื่อเป็นแกนนำในการเฝ้าระวังและทำความร่วมมือ MOU กับเครือข่ายแก้ปัญหาขอทานต่างด้าว ทั้งนี้ ล่าสุด พบว่ามีผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พุทธศักราช ๒๔๘๔ จำนวนทั้งสิ้น ๓,๒๒๑ คน เป็นขอทานไทย จำนวน ๒,๑๕๗ คน และขอทานต่างด้าว จำนวน ๑,๐๖๔ คน (ชาวกัมพูชามีจำนวนมากที่สุด ๘๗๒ คน) แบ่งเป็น ชาย ๑,๘๓๑ คน หญิง ๑,๐๙๕ คน เด็กชาย ๑๗๐ คน และเด็กหญิง ๑๒๕ คน (ข้อมูล ณ วันที่ ๑๒ พ.ย. ๕๘)
อย่างไรก็ตาม จากการถอดบทเรียนการจัดระเบียบขอทาน ปี ๒๕๕๘ พบปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน คือ ๑. การกลับมาขอทานซ้ำ ๒. คนขอทานไม่เข้าใจและหลบหนีการจัดระเบียบ ๓. ขาดแคลนล่ามภาษา ๔. ผู้ประสบปัญหาที่มีอาการทางจิต และ ๕. ความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ด้านจุดเด่นและข้อดี คือ ๑. นโยบายและรูปแบบการขับเคลื่อนงานที่ชัดเจน ๒. ประชาชนให้การตอบรับดีต่อการจัดระเบียบ และ ๓. รูปแบบการทำงานแบบบูรณาการ ด้านองค์ความรู้และ ข้อเสนอแนะ เช่น ๑. ควรให้บริการเชิงรุกมากขึ้น มีการปรับภาพลักษณ์ใหม่โดยให้คนขอทานสมัครใจเข้ามาขอความช่วยเหลือด้วยตนเอง และ ๒. ควรมีระบบป้องกันในชุมชน โดยให้อาสาสมัครชี้เป้า เฝ้าระวัง และส่งเสริมบทบาทชุมชนร่วมกันดูแล
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกรณีกลุ่มวัยรุ่นก่อเหตุทะเลาะวิวาทกันบริเวณริมถนนโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยกล้องวงจรปิดสามารถบันทึกภาพได้ ขณะนักศึกษา ๑๐ คน กำลังใช้อาวุธมีด ขวาน และท่อนไม้ รุมทำร้ายนักศึกษาต่างสถาบัน ๒ คน จนได้รับบาดเจ็บสาหัส ๒ คน อายุ ๑๗ - ๑๘ ปี ตนมีความห่วงใยปัญหาการใช้ ความรุนแรงในกลุ่มเยาวชน เนื่องจากเกิดขึ้นบ่อยครั้งในสังคม จึงฝากไปยังครอบครัวและผู้ปกครองให้อบรมดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด และส่งเสริมบุตรหลานใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ จัดหากิจกรรมทำร่วมกันในครอบครัว เพื่อเสริมสร้างความรักความอบอุ่น ซึ่งจะเป็นการป้องกันการใช้ความรุนแรงในกลุ่มเด็กและเยาวชนได้อีกทางหนึ่ง พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังและร่วมกันหามาตรการการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป