กรุงเทพฯ--18 พ.ย.--กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
พพ. เดินหน้าส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ ตามแผน AEDP 2015 ชูปี 59 เกิดการผลักดันมาตรฐานไบโอดีเซล B10 และเริ่มนำร่องใช้ B20 ในภาคขนส่งรถบรรทุกขนาดใหญ่ ด้านแผนงานระยะกลาง เพิ่มความความมั่นคงวัตถุดิบผลิตเอทานอลไบโอดีเซล สร้างทางเลือกการแปรรูปขยะพลาสติกเป็นน้ำมัน และก๊าซชีวภาพอัดจากของเสีย เสริมศักยภาพพลังงานทดแทนในอนาคต
นายธรรมยศ ศรีช่วย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า ในแผนพัฒนาพลังงงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2015) พพ. ได้มีนโยบายส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพต่อเนื่อง แม้ปัจจุบันสถานการณ์น้ำมันเชื้อเพลิงมีราคาต่ำลงก็ตาม เพราะเป็นการส่งเสริมใช้ผลผลิตการเกษตรภายในประเทศ ลดผลกระทบจากปัญหาพืชผลทางการเกษตร เช่น ปาล์มน้ำมัน อ้อยและมันสำปะหลัง สร้างงานกระจายรายได้ให้กับประชาชน และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดย พพ. ได้วางแนวทางการขับเคลื่อนเชื้อเพลิงชีวภาพ ที่สำคัญ ๆ ได้แก่
ระยะสั้น ในปี 2559 ที่จะถึงนี้ พพ. จะเดินหน้าส่งเสริมการผลิตและใช้ไบโอดีเซล B7 อย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการจัดเตรียมมาตรฐานน้ำมันไบโอดีเซล B10 และการดำเนินโครงการนำร่องการใช้ไบโอดีเซล B20 ในรถบรรทุกขนาดใหญ่ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้ปาล์มน้ำมันในประเทศ สร้างเสถียรภาพด้านราคาและช่วยลดผลกระทบต่อเกษตรกร ส่วนแผนงานระยะกลางปี 2560-2564 ของการผลิตและใช้เชื้อเพลิงชีวภาพนี้ ในด้านความมั่นคงทางวัตถุดิบในการผลิตเอทานอลและไบโอดีเซลจะอ้างอิงตามตามยุทธศาสตร์พืช 4 สินค้า ซึ่งได้รวมพืชวัตถุดิบทั้งอ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง และน้ำมันปาล์ม
นอกจากนี้ พพ. ยังได้เตรียมการในการแปรรูปขยะเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง และการปลูกพืชพลังงานเพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับก๊าซชีวภาพอัดหรือ CBG ซึ่งสามารถผลิตได้จากน้ำเสียโรงงาน เพื่อจะเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกหนึ่งในภาคขนส่ง ทดแทนการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคขนส่ง (NGV) และจะช่วยให้พื้นที่ซึ่งอยู่ห่างจากปลายท่อส่งก๊าซ ได้มีทางเลือกในการเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น รวมทั้งเป็นการสร้างมูลค่าจากของเสียให้สามารถผลิตพลังงาน เพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการ รวมไปถึงการส่งเสริมน้ำมันจากกระบวนการไพโรไลซิสและก๊าซชีวภาพอัด ซึ่ง พพ. จะเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้เชื้อเพลิงอย่างต่อเนื่อง
นายธรรมยศ กล่าวเพิ่มว่า ในส่วนของการส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ ตามแผน AEDP 2015 ดังกล่าว จากนี้ พพ. จะได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อเร่งเดินหน้าวิจัยเชื้อเพลิงชีวภาพ ทั้งในส่วนของเอทานอล และ ไบโอดีเซล ให้สามารถเพิ่มผลผลิต (yield) มากยิ่งขึ้น ลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วย รวมไปถึงการวิจัยพัฒนาปรับปรุงคุณภาพน้ำมันจากขยะพลาสติก เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตพลังงานทดแทน และสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในประเทศ ในอนาคตต่อไป