กรุงเทพฯ--18 พ.ย.--
เมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว ธุรกิจการประมูลยังเป็นของใหม่สำหรับคนไทยมากๆ แต่สำหรับในยุโรป หรือ อเมริกา มีมานานมากแล้ว พัฒนาเป็นแบบเปิด ที่เราคุ้นตาประเภทยกมือ ยกธง สู้กันซึ่งๆ หน้าไม่มีหลังไมค์!! กระทั่งในปี 2534 เมื่อนักธุรกิจคนไทยได้ไปท่องเที่ยวและพบเจอกับบรรยกาศการประมูลแบบเปิด เพียงเท่านี้ก็พลันไอเดียคิดที่จะนำระบบการประมูลเข้ามา นักธุรกิจคนนั้นชื่อ "เทพทัย ศิลา" ต้องบอกว่าเขาทำให้ตลาดซื้อ-ขายรถยนต์เมืองไทย คึกคักมากขึ้น และรูปแบบการประมูลแบบเปิด(Open Auction)กลายเป็นที่รู้จักแพร่หลายสำหรับคนไทย
ในวันนี้คุณเทพทัย วางบทบาทตัวเองเป็นที่ปรึกษาฯ ปล่อยให้ทายาท "คุณวรัญญู ศิลา" นั่งแท่นรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สหการประมูล จำกัด (มหาชน) พร้อมนโยบายสำคัญ รุกหนักตลาดการประมูล อัดงบปรับระบบเล็งขยายฐานลูกค้าใหม่ เท่ากับว่าต่อไปนี้ จะเห็น สหการประมูล ปรับโฉมครั้งใหญ่ เริ่มจากเทงบลงทุนพัฒนาระบบไอทีภายใน สร้างฐานข้อมูลที่แข็งแรง เพิ่มความมั่นใจลูกค้า พร้อมเตรียมขยายพอร์ตสินค้า นอกเหนือจากรถยนต์ และจักรยานยนต์ ไปมุ่งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และสินทรัพย์อื่นๆ มากขึ้น เล็งขยายฐานลูกค้าจากบรรดาไฟแนนซ์ เต๊นท์รถ สู่หน่วยงานราชการ และ ผู้บริโภคทางตรง โดยชูจุดแข็งความเป็นมืออาชีพที่โปร่งใส เป็นกลาง กับระบบการประมูลแบบเปิด
มีโอกาสจึงนัดผู้บริหารรุ่นใหม่ มาให้สัมภาษณ์ เรียกว่าเป็นครั้งแรกในการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ สู่สังเวียนธุรกิจเลยทีเดียว
อยากให้นิยาม ธุรกิจประมูล (Auction) คืออะไร ?
การประมูล (Auction) ถือเป็นยุทธวิธีทางการตลาดประเภทหนึ่ง มันคือ รูปแบบการซื้อ-ขายสินค้าที่มีคนทำหน้าที่เป็นตัวกลาง ไปรับสินค้าที่ต้องการขาย มาตั้งราคากลาง แจกแจงรายละเอียดของสินค้า ทั้งข้อดีและข้อเสียอย่างชัดเจนถูกต้อง แล้วเปิดให้ผู้สนใจเสนอราคาแข่งกัน ใครให้ราคาที่ดีที่สุด ก็จะได้สินค้าชิ้นนั้นไป ซึ่งกาปรระมูลในต่างประเทศ ไม่ได้มีเพียงรถยนต์ แต่มีสินค้าที่หลากหลาย แล้วแต่ผู้ต้องการเสนอขาย
ข้อมูลของสินค้าที่เป็นจริง คือ การแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใส กับระบบการเคาะที่ตรงไปตรงมาเป็นกลาง จะทำให้ผู้ทำหน้าที่คนกลางได้รับความเชื่อถือจากทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ และในจังหวะที่ คุณพ่อ(เทพทัย) นำระบบการประมูลแบบเปิดกลับมาเมืองไทย ก็เป็นจังหวะเดียวกับที่รัฐบาลประกาศปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่ และการปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์นี่เอง ที่เป็นตัวเร่งทำให้เขาเปิดธุรกิจนี้เร็วขึ้น เพราะท่านเชื่อมั่นว่า นี่เป็นช่วงจังหวะที่เหมาะสม ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น เพราะทำให้บริษัท "สหการประมูล" เติบโตได้อย่างรวดเร็ว
กลับมาเริ่มต้นทำธุรกิจด้านการประมูล หลังจดทะเบียนบริษัท "สหการประมูล" ก็ไปเช่าพื้นที่ในซอยลาดพร้าว 87 ขนาดพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ ค่าเช่าเดือนละ 350,000 บาท ซึ่งตอนนั้นถือว่าแพงมาก แต่ข้อดีคือไม่ต้องลงทุนสร้างอาคาร เพราะสามารถใช้โรงแบตมินตัน เป็นสถานที่เปิดประมูล ถือเป็นธุรกิจที่ใหม่มากๆ สำหรับคนไทย ในช่วงต้นๆ การดำเนินธุรกิจค่อนข้างลำบาก แต่ด้วยคอนเน็คชั่นที่เขาเคยทำธุรกิจเต๊นท์รถยนต์มือสองมาก่อน ทั้งที่ แกรนคาร์ พาเลซ ถนนรัชดาภิเษก และศูนย์กลางรถยนต์อินเตอร์ ลาดพร้าว ที่เขาเลิกกิจการไปเมื่อปี 2532 ประกอบกับอีกหนึ่งธุรกิจที่เขาเริ่มทำ คือ การร่วมมือกับพาร์ทเนอร์จับธุรกิจพัฒนาที่ดินที่เขาค้อ หลังเลิกกิจการเต๊นท์รถ ทำให้เขารู้จักกับสถาบันการเงินหลายแห่ง และนั่นก็คือช่องทางที่ทำให้เขาได้รับความเชื่อถือจากสถาบันการเงิน จนสามารถรับรถจากสถาบันการเงินเหล่านั้น มาทำการประมูลได้
"วรัญญู ศิลา" เล่าว่า การที่เทพทัยซึ่งเป็นพ่อของเขา ตั้งชื่อบริษัทว่า "สหการประมูล" เพราะเจตนาตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ได้จำกัดสินค้าที่นำมาประมูลอยู่เพียงแค่รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์เพียงเท่านั้น แต่หมายถึงสินค้าอะไรก็ได้ ไม่จำกัด รวมไปถึงการรับจัดการประมูลธุรกิจ หรือสินค้าทุกประเภทที่ทำการประมูลได้ โดยมีรถเป็นธุรกิจหลัก
"สหการประมูล" เริ่มต้นเปิดการประมูลครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2534 เป็นการจัดการประมูลรถยนต์ ซึ่งรถทั้งหมดประมาณ 90-95% ของรถที่นำเข้าประมูล เป็นรถยนต์ที่สถาบันการเงินหรือไฟแนนซ์ยึดมาจากลูกค้าที่ขาดการผ่อนชำระ ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทไฟแนนซื หรือลิซซิ่ง รวมทั้ง พวกเช่าซื้อรถ พวกปล่อยสินเชื่อรถ หลายแห่งเป็นผู้ป้อนรถให้ ส่วนที่เหลือเป็นลูกค้าภายนอก เช่น กลุ่ม ที่ต้องการนำรถมาขาย รวมทั้งบริษัทที่ขายรถใช้แล้วบางแห่งก็นำรถยนต์มาเข้าร่วมประมูลด้วย
การยอมรับของเหล่าผู้ซื้อ-ผู้ขาย เกิดจากนโยบายของบริษัท ที่เน้นความโปร่งใส ซื่อสัตย์ เป็นกลาง และเงื่อนไขที่ทุกคนยอมรับ คือ ราคาที่เหมาะสม รถทุกคันที่เสนอเข้ามาร่วมประมูลจะเข้าที่ประชุมฝ่ายวิเคราะห์ราคาของบริษัท เพื่อดูว่าเป็นราคาที่เหมาะสมหรือไม่ ถ้าเหมาะสมบริษัทจึงจะรับทำการตลาดหรือการประมูลให้ ตรงนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจของสหการประมูล พร้อมทั้งบริการและความรับผิดชอบของสหการประมูล ที่เริ่มต้นตั้งแต่การรับรถมาจากไฟแนนซ์แต่ละแห่งมา ดูแลในระหว่างที่รถจอดรอการประมูลที่บริษัท รถทุกคันที่จะเข้าทำการประมูล จะผ่านการล้างทำความสะอาดให้เห็นสภาพที่ชัดเจน ตรวจเช็คสภาพเครื่องยนต์ก่อนประมูล และหลังจากการประมูล จะมีเจ้าหน้าที่ให้บริการด้านการชำระเงิน รวมทั้งประสานงานกับสถาบันการเงินให้ด้วย พร้อมรับประกันทะเบียนรถทุกคันถูกต้องตามกฎหมาย
จากความโปร่งใสได้มาตรฐาน ทำให้ "สหการประมูล" ได้รับเลือกเป็นสมาชิกองค์กรผู้ประมูลระดับสากล (NAAA) ตั้งแต่ปี 2542 ซึ่งนับเป็นผู้ประกอบการประมูลรายแรกในประเทศไทย และ "เทพทัย" ได้นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เมื่อปี 2556
ปัจจุบัน ด้วยระบบการประมูลที่โปร่งใสได้มาตรฐานประกอบกับประสบการณ์อันยาวนาน ทำให้บริษัท สหการประมูล จำกัด (มหาชน) ได้รับการยอมรับและไว้วางใจจากสถาบันการเงินที่มอบหมายให้เป็นบริษัทที่ประมูล รถยนต์แบบขายทอดตลาดเป็นผู้สร้างระบบและ ช่วยรองรับปัญหาอันเกิดจากกระบวนการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินนั้นๆ ตลอดจนเป็นตัวกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายสำหรับภาคเอกชนทั้งในรูปแบบบริษัท ห้างร้าน หรือประชาชนทั่วไป รวมไปถึงภาครัฐ โดยมีสินค้าที่นำเข้าประมูลหลากหลาย นอกเหนือจากรถยนต์ และจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นสินค้าหลัก ยังมีอสังหาริมทรัพย์ และของแบรนด์เนม ล่าสุด ยังเป็นผู้ได้รับเลือกจาก คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)ให้เป็นผู้พัฒนาระบบการประมูล ทั้งคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz
รวมไปถึงการรับประมูลสินทรัพย์จาก สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และกรมศุลกากร ที่มีทรัพย์สินหลากหลายรูปแบบมาก การประมูลทรัพย์สินของโรงแรมที่ปิดกิจการ และอนาคตจะเข้าไปเป็นพันธมิตรกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนเพิ่มมากขึ้น
ส่วนในปีหน้า 2559 วรัญญู ศิลา เผยถึงทิศทางการบริหารองค์กรว่า "ขณะนี้ บริษัทฯ เดินหน้าพัฒนาระบบการให้บริการภายใน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำชัดเจน โดยใช้งบลงทุน ในการพัฒนาระบบไอทีภายในองค์กรโดยบุคลากรของบริษัท ที่มีความพร้อม ซึ่งระบบทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในปีหน้า หลังจากนั้น จะเดินหน้าปรับปรุงระบบการให้บริการหลังการขาย รวมทั้งขยายงานในส่วนอื่นให้เพิ่มขึ้น
ระบบไอทีที่พัฒนาขึ้นเอง เป็นการเพิ่มความสะดวกเร็วของการทำงานให้มากขึ้น และยังสามารถลดต้นทุน จากเดิมที่บริษัทใช้ระบบจากประเทศแคนาดา ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการเดือนละหลายแสนบาท แต่เมื่อพัฒนาขึ้นมาเองแล้ว จะสามารถลดต้นทุนเหล่านั้นลงได้ รวมทั้งสามารถปรับปรุงแก้ไขโปรแกรมได้ตรงความความต้องการของลูกค้าและการใช้งานของบริษัทฯ โดยเป้าหมายของการพัฒนาระบบขึ้นใช้เองในครั้งนี้ ถือเป็นการสร้างระบบฐานข้อมูลของบริษัทฯ เพื่อบริหารระบบการทำงาน ลดความซ้ำซ้อนของงานเอกสาร และเพิ่มมูลค่าให้กับฐานข้อมูล ซึ่งจะใช้ควบคู่ไปกับระบบ e - Auction ที่ทำให้ผู้เข้าร่วมประมูลหน้าลาน และผู้เข้าร่วมประมูลออนไลน์ สามารถประมูลพร้อมกัน แบบ real time
ปีนี้ บริษัทฯ ได้รับเลือกให้เป็นผู้ดำเนินการประมูล ทั้งคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz แสดงให้เห็นว่าระบบการทำงานของสหการประมูลมีความโปร่งใส เชื่อถือได้ ตอกย้ำภาพลักษณ์ความเป็นมืออาชีพ มีความพร้อมในการพัฒนาโปรแกรมการประมูล เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ได้อย่างตรงจุด อีกทั้งยังสามารถสร้างมาตรฐานใหม่ในการประมูล ที่มีการการแข่งขันเพื่อสินค้าไปสู่ราคาที่เหมาะสมได้อย่างแท้จริง ในปีหน้ามีแผนขยายพอร์ตการให้บริการจากเดิมที่ได้รับความไว้วางใจจากสถาบันการเงิน มอบหมายให้เป็นบริษัทที่ประมูล รถยนต์, รถจักรยานยนต์, อสังหาริมทรัพย์, สินค้าแบรนด์เนม และทรัพย์สินประเภทอื่นๆ มาแล้ว
"ที่ผ่านมา ธุรกิจของสหการประมูล จะเติบโตโดยอิงกับเศรษฐกิจขาลง เพราะฐานลูกค้าส่วนใหญ่ คือไฟแนนซ์ ที่ทำการยึดรถมาจากผู้ใช้ที่ขาดการผ่อนจ่าย ต่อไปเราต้องดีในธุรกิจขาขึ้นด้วย โดยการต่อจิ๊กซอไปถึงผู้ใช้ที่เป็น End-user ที่สามารถมาซื้อขายผ่านเราได้" นายวรัญญูกล่าวและว่า สหการประมูล จะใช้จุดแข็งที่มี ทั้งระบบการให้บริการที่เป็นธรรม และโปร่งใส ผนวกกับจำนวนคลังสินค้าเก็บทรัพย์สินประมูล ทุกภูมิภาค 26 แห่ง ใน 24 จังหวัด มีสาขาของบรัษัทฯกระจายอยู่ตามหัวมืองใหญ่ 14 จังหวัด เพื่อครอบคลุม และอำนวยความสะดวกให้ลูกค้า และที่สำคัญเป็นการลดต้นทุนในการเดินทางอีกด้วย และปีหน้าจะเปิดเพิ่มอีก 1-2 สาขา สร้างตลาดใหม่ๆ ในการประมูล โดยบริษัทมีแผนที่จะเปิดอีกหน่วยงานใหม่ภายใต้ชื่อ "เพื่อนประมูล" ขึ้นมาทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา และช่วยเหลือในการซื้อขายให้กับ ผู้บริโภคทางตรง
"ลูกค้ารายใหญ่ของสหการประมูล คือ บรรดาไฟแนนซ์ บริษัทลิสซิ่ง พวกเช่าซื้อรถ พวกปล่อยสินเชื่อรถ รถแลกเงิน โดยสินทรัพย์ที่บริษัทจัดทำการประมูล แยกเป็น 3 ประเภทหลัก ได้แก่ 1. รถยนต์ การให้บริการประมูลรถยนต์ถือเป็นรายได้หลักของบริษัทฯ 2. รถจักรยานยนต์ มี ซึ่งสัดส่วนของรถยนต์และรถจักรยานยนต์ หากนับเป็นจำนวนคัน จะมีสัดส่วนใกล้เคียงกัน คือ ประมาณ 60:50 แต่เนื่องจากมูลค่าของรถนยนต์สูงกว่า จึงทำให้สร้างรายได้ให้กับบริษัทมากกว่า และ 3. ทรัพย์สินประเภทอื่นๆ อาทิ บ้าน,ที่ดิน, สินค้าแบรนด์เนม, แฟชั่นลัคชัวรี่, รถซูเปอร์คาร์ ฯลฯ รวมไปถึงโปรเจคพิเศษจากหน่วยงานรัฐ เช่น การได้รับเลือกจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หรือ National Broadcasting and Telecommunication Commission (NBTC) ให้เป็นผู้ดำเนินการประมูล 4G
ก่อนหน้านี้ สหการประมูล มีการประมูลทรัพย์สินอสังหาริมทรัพย์ และสินค้าแบรนด์เนมอยู่แล้ว ต่อไปจะมีประมูลทรัพย์สินอื่นๆ โดยไม่ได้จำกัด ตัวสินทรัพย์อาจจะเป็นอะไรก็ได้ เช่นที่ผ่านมา เคยทำหน้าที่ประมูลทรัพย์สินของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และกรมศุลกากร ที่มีทรัพย์สินหลากหลายรูปแบบมาก การประมูลทรัพย์สินของโรงแรมที่ปิดกิจการ และอนาคตจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างความโปร่งใส ในการซื้อขายสินทรัพย์ทั้งภาครัฐ และเอกชนให้มากขึ้น ส่วนตลาดเออีซีหรืออาเซียน จะช่วยขยายตลาด จะทำให้การเปลี่ยนมือของทรัพย์สินสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีกับสหการประมูล อนาคตอาจมีต่างชาติที่ต้องซื้ออสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย ถ้าบริษัทสามารถบริหารจัดการระบบต่างๆ ให้คงที่ เมื่อตลาดเปิด และมีความพร้อม ก็สามารถหิ้วกระเป๋าเข้าไปเปิดทำการในประเทศต่างๆ เหล่านี้ได้ทันที
นายวรัญญู กล่าวอีกว่า ปีที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้หลังหักภาษีแล้ว ประมาณ 200 ล้านบาท ส่วนปีนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยตัวเลขการเติบโตได้ เนื่องจากสภาพตลาดโดยรวมผันผวน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมารายได้รวมของบริษัทเติบโตต่อเนื่อง และเติบโตอย่างก้าวกระโดดในบางปี โดยบริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดของบริษัทประมูล มากกว่า 50% ในขณะที่จำนวนรถยนต์มือสองจากบริษัทไฟแนนซ์ต่างๆ มีประมาณมากกว่า 2 แสนคันต่อปี จากจำนวนการหมุนเวียนของรถยนต์มือสองในตลาดมีประมาณ 3 ล้านคันต่อปี ดังนั้นตลาดนี้จึงยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก
ข้อมูลครบถ้วน ที่เหลือคงต้องจับตามอง ที่แน่ๆ คุณเทพทัย ผู้ก่อตั้ง คงวางใจได้!!!