กรุงเทพฯ--18 พ.ย.--กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เผยกลุ่มวัยทำงานเติมน้ำตาลในอาหารมากกว่ามาตรฐานกำหนด เสี่ยงเกิดโรคเบาหวาน เน้นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้เป็นต้นแบบ และกระตุ้นประชาชน ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ลดความเสี่ยงตั้งเป้าไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า จากผลสำรวจพฤติกรรมสุขภาพ ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปภาพรวมทั้งประเทศ จำนวน 3,578 คน (ช่วงเวลาสำรวจข้อมูลเดือนเมษายน - มิถุนายน 2558) พบว่าพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เช่น น้ำอัดลม น้ำผลไม้สำเร็จรูป น้ำหวาน ชานม ชาไข่มุก กาแฟ หรืออื่นๆ พบว่าร้อยละ 33.7 บริโภค 2-4 วันต่อสัปดาห์ รองลงมาร้อยละ 19.8 บริโภคทุกวัน ร้อยละ16.5 บริโภค 5-6 วันต่อสัปดาห์ และร้อยละ 30.1 หนึ่งวันต่อสัปดาห์หรือไม่เคยปฏิบัติ และจากการสำรวจพฤติกรรมการเติมน้ำตาลเพิ่มในอาหารแต่ละมื้อ พบว่า ร้อยละ 49.3 ทำเป็นส่วนน้อย รองลงมาคือ ร้อยละ 32.7 ไม่ทำเลย ร้อยละ 12.7 ทำเป็นส่วนใหญ่ และร้อยละ 5.2 ทำทุกครั้ง ซึ่งพบว่าคนไทยรับประทานน้ำตาลสูงมากเฉลี่ยถึงปีละ 30 กิโลกรัมต่อคน หรือวันละ 20 ช้อนชา ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกแนะนำกว่า 3 เท่าตัว ทำให้เกิดปัญหาโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้นในกลุ่มอายุ 15 ปีขึ้นไปถึง 1 ใน 10 มีแนวโน้มทำให้ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เป็นต้น กรม สบส.ได้ตระหนักถึงผลกระทบด้านสุขภาพ จึงได้ให้สำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพทั้ง 12 เขตทั่วประเทศ เน้นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้เป็นต้นแบบ เฝ้าระวัง ป้องกัน สร้างสุขภาพเชิงรุกในชุมชน ให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้อง สามารถลดภาระโรคและภัยคุกคาม ตลอดจนได้รับการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพในระดับชุมชนให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ลดเสี่ยง ลดโรค ลดหวาน โดยตั้งเป้าหมายให้ประชาชนสามารถลดการรับประทานน้ำตาลเหลือไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน
ด้าน นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้เน้นย้ำว่า อาสาสมัครสาธารณสุข ประจำหมู่บ้าน เป็นต้นแบบการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านสุขภาพ และให้คำแนะนำ กระตุ้นเตือนประชาชน ให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ถูกต้อง ลดเสี่ยง ลดโรค มีสุขภาพแข็งแรงได้อย่างยั่งยืน ดังนี้ 1.กินน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชาหรือ 24 กรัมใน 1 วัน และรับประทานผลไม้สดน้ำตาลน้อย เช่น ฝรั่ง มะละกอ ส้ม แอปเปิล และผลไม้จำพวก มะม่วงดิบ ส้มโอแทนขนมหวานหลังมื้ออาหารจะทำให้ลดความอยากน้ำตาลลดลง ยังได้รับประโยชน์จากเส้นใยอาหารที่ช่วยดูดซับน้ำตาลในร่างกายและช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงขึ้นเร็วเกินไป ควรเลี่ยงผลไม้ที่มีรสหวานจัด เช่น ทุเรียน ลำไย ละมุด น้อยหน่า 2.ลดเครื่องดื่มประเภท ชา กาแฟ หากดื่มควรเลือกใช้น้ำตาลเทียมในการเติมเครื่องดื่ม 3.งดน้ำอัดลมและขนมหวานทุกชนิด หากเลี่ยงไม่ได้ควรทานเพียงสัปดาห์ละครั้ง 4.บริโภคอาหารคาร์โบไฮเดรตไม่ขัดสี มีกากใยสูง เช่น ถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ ข้าวซ้อมมือ ธัญพืช 5.แปรงฟันหรือบ้วนปากทันที เพื่อลดความอยากของหวานหลังกินอาหาร 6.ออกกำลังกายให้ร่างกายเผาผลาญน้ำตาลส่วนเกินที่สะสมอยู่ในร่างกาย 7.ตรวจสุขภาพดูปริมาณน้ำตาลในเลือดทุกปี เพื่อป้องกันการเป็นโรคเบาหวาน และ8. อ่านฉลากเพื่อให้ทราบปริมาณที่แน่นอนของน้ำตาลในผลิตภัณฑ์นั้นๆ เพื่อหลีกเลี่ยงหรือเปรียบเทียบในการเลือกซื้อได้อย่างเหมาะสมต่อไป