กรุงเทพฯ--19 พ.ย.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จัดงานสัมมนา "ปลดล็อค SME จับตลาดวัยซีเนียร์ (Aging Society)" เมื่อวันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา ณ ห้อง Meeting room 1-4 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พร้อมผนึกกำลัง เพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบการ SME ไทย ในการก้าวสู่โอกาสและความท้าทายในยุคสังคมผู้สูงอายุ หรือ Aging Society
นายเจน นำชัยศิริ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยนับเป็น 1 ใน 2 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน ที่ได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือ Aging Society อย่างสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว (อีกประเทศ คือ สิงคโปร์) ซึ่งนั้นหมายถึงประเทศไทยเป็นประเทศที่มีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 14 ของประชากรทั้งประเทศ โดยปี 2557 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 10,014,699 คน หรือประมาณร้อยละ 15 ของประชากรทั้งประเทศ และจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นประมาณ 6 แสนคนต่อปี ทำให้คาดว่าในปี 2564 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ และคาดว่าในอีก 20 ปี ประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็นร้อยละ 30
อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยถือเป็นความท้าทายที่สำคัญของภาคเอกชน ในการพัฒนาและปรับปรุงรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้มีความทันสมัย และสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของกลุ่มตลาดผู้สูงอายุ ซึ่งผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าวจะกลายเป็นกำลังซื้อสำคัญในอนาคต ที่มีสัดส่วนการใช้จ่ายประมาณ 1 ใน 4 ของการใช้จ่ายของประชากรในประเทศ และมีความต้องการที่หลากหลาย อาทิ ความต้องการด้านสุขภาพพลานามัย การมีส่วนร่วมต่อสังคม รวมถึงความมั่นคงทางการเงิน ฯลฯ เป็นต้น
"การเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) นับเป็นโอกาสและความท้าทายที่สำคัญของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมอย่างยิ่ง โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ที่สามารถสร้างโอกาสให้แก่ธุรกิจด้วยการออกแบบกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการเฉพาะด้านของกลุ่มลูกค้าผู้สูงอายุควบคู่ไปกับการเจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน ตัวอักษรให้มีความเป็นอารยสถาปัตย์ (Universal Design) ที่เหมาะสมกับทุกชนชาติ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่จะได้รับอานิสงส์จากการที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คือ อุตสาหกรรมภายใต้คลัสเตอร์อาหาร คลัสเตอร์ผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม และคลัสเตอร์แฟชั่นและไลฟ์สไตล์ ฯลฯ เป็นต้น โดยกลุ่มสินค้าที่มีแนวโน้มในตอบสนองความต้องการของสังคมผู้สูงอายุในระดับสูง 5 อุตสาหกรรม ได้แก่ 1.อาหารแปรรูปเพื่อสุขภาพและอาหารจากธรรมชาติ เช่น อาหารไขมันต่ำไม่มีคอเลสเตอรอล วิตามิน และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 2.เฟอร์นิเจอร์ เช่น เตียงนอนปรับระดับ ที่นอนยางพารา เก้าอี้ไม้ที่มีพนักพิง และหมอนเพื่อผู้สูงอายุ 3.แฟชั่นและไลฟ์สไตล์ เช่น เครื่องสำอางออร์แกนิกส์ (Organics) ผลิตจากธรรมชาติที่มีสรรพคุณต่อต้านริ้วรอย (Anti-Aging) 4.วัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างสำหรับผู้สูงอายุ ถือเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากมีผลต่อความปลอดภัยในการใช้ชีวิตภายในบ้าน เช่น ก๊อกน้ำ ลูกบิดประตู กลอนประตูที่มีการออกแบบให้ใช้งานง่ายและ และ 5.เครื่องมือที่ใช้ทางการแพทย์ ที่มีผลิตภัณฑ์ที่ค่อนข้างตรงต่อความต้องการของผู้บริโภคอย่างมาก เช่น ถุงมือยาง ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ เลนส์แว่นตาทำจากวัสดุที่ไม่ใช่แก้ว ไม้เท้า และรถเข็น เป็นต้น" นายเจน กล่าว
นายเจน ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ตลาดกลุ่มผู้สูงอายุ เป็นตลาดที่ผู้บริโภคมีอำนาจในการซื้อที่ค่อนข้างสูง ด้วยเหตุนี้การเจาะตลาดในกลุ่มดังกล่าว ผู้ผลิตจะต้องมีการนำเสนอสินค้าที่มุ่งเน้นเรื่องคุณภาพ และความปลอดภัยเป็นสำคัญ รวมไปถึงการพัฒนานวัตกรรมให้สามารถอำนวยความสะดวก หรือสร้างความแปลก แตกต่างมากกว่าสินค้าที่มีวางจำหน่ายในท้องตลาดทั่วได้ ภายใต้ระดับราคาที่เหมาะสมและคุ้มค่า ซึ่งเชื่อว่าจะได้รับการตอบสนองจากผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าวอย่างมาก
ด้าน นายวิพล วรเสาหฤท รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "ขณะนี้สังคมไทย กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว โดยได้มีการวิเคราะห์กันไว้ว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า อัตราส่วนของประชากร 1 ใน 5 ของประเทศไทยจะเป็นกลุ่มประชากรสูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ส่งผลให้เกิดกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มใหม่ที่มีกำลังซื้อและมีความต้องการสินค้าและบริการที่ต่างออกไปจากเดิม โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับความเป็นอยู่ อาหาร สุขภาพ อิเลคทรอนิคส์ หรือแม้แต่ด้านการบริการทางการเงิน ที่ต่างก็ต้องการนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อมาตอบโจทย์ในการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งการจัดสัมมนาในครั้งนี้เป็นการเปิดโอกาสทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการ SME ไทยได้รู้ เทรนด์ใหม่ๆ ในการจับตลาดผู้สูงอายุ และยังเป็นการสะท้อนความมุ่งมั่นของธนาคารและสภาอุตสาหรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นพันธมิตรที่ดีต่อกันมายาวนาน ทั้งด้านการสนับสนุนข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ แหล่งเงินทุน รวมถึงการสร้าง Network ซึ่งช่วยให้อุตสาหกรรมไทยเติบโตและแข่งขันได้อีกด้วย"
ทั้งนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์พร้อมสนับสนุน และช่วยเหลือผู้ประกอบการSME เสมอมา โดยให้การสนับสนุนทางการเงินด้วยตัวเลือกสินเชื่อที่หลากหลาย อาทิ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 4% ผ่อนยาวสูงสุด 7ปี ลูกค้าที่มีความสนใจในบริการดังกล่าวสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ SCB SME Call Center 0-2722-2222 หรือธนาคารไทยพาณิชย์ทุกสาขาทั่วประเทศ