กรุงเทพฯ--19 พ.ย.--กรรมการกำกับกิจการพลังงาน
"เรกูเลเตอร์" สรุปยอดโซลาร์ฟาร์ม สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตรเฟสแรก กว่า 600 ราย กว่า 2,900 เมกะวัตต์ สูงกว่าเป้าหมายรับซื้อเกือบ 5 เท่า
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า การยื่นคำขอรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการ และสหกรณ์ภาคการเกษตร หรือโซลาร์ฟาร์ม ตั้งแต่วันที่ 1-10 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา มีผู้ยื่นคำขอขายไฟฟ้า รวมจำนวนทั้งสิ้น 618 ราย และคิดเป็นปริมาณการเสนอขายไฟฟ้ารวมทุกเขตพื้นที่ (ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้) เป็นจำนวน 2,905.50 เมกะวัตต์ และเมื่อเทียบกับเป้าหมายที่วางไว้ในเฟสแรกจำนวน 600 เมกะวัตต์ ยังคงสูงกว่าเป้าหมาย โดยแบ่งประเภทผู้ยื่นคำขอได้ดังนี้
หน่วยงาน จำนวน : ราย รวมจำนวนเสนอขายไฟฟ้า : เมกะวัตต์ (MWp)
หน่วยงานราชการ
ส่วนราชการ 114 1,778.03
มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ 11
องค์การที่รัฐจัดตั้งขึ้น 71
(ไม่รวมองค์การมหาชนและรัฐวิสาหกิจ)
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 188
รวม 384
สหกรณ์ภาคการเกษตร
สหกรณ์การเกษตร/สหกรณ์นิคม/สหกรณ์ประมง 234 1,127.47
รวมทั้งสิ้น 618 2,905.50
ส่วนการยื่นคำขอขายไฟฟ้า สำหรับปริมาณเสนอขายในเขตพื้นที่ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่ยื่นมาในครั้งนี้ มีปริมาณการเสนอขายไฟฟ้ารวม 2,709.20 เมกะวัตต์ สูงจากเป้าหมายรับซื้อ 389 เมกะวัตต์ เกือบ 7 เท่า โดยมีรายละเอียดเป้าหมายรับซื้อและยอดรวมเสนอขาย ได้ดังนี้
พื้นที่ สรุปจำนวน สรุปจำนวนเสนอขายไฟฟ้า เป้าหมายรับซื้อ ระยะที่ 1
ผู้ยื่นคำขอขายไฟฟ้า :ราย : เมกะวัตต์ (MWp) : เมกะวัตต์ (MWp)
1) การไฟฟ้านครหลวง 40 180.30 200
2) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 574 2,709.20 389
3) กิจการไฟฟ้า สวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ 4 16.00 11
รวม 618 2,905.50 600
อย่างไรก็ตาม สำนักงาน กกพ. ยังเปิดรับเอกสารประกอบแบบคำขอเข้าร่วมโครงการ (เพิ่มเติม) จนถึงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2558 ณ ชั้น 19 อาคารจัตุรัสจามจุรี ถนนพญาไท กรุงเทพฯ ต่อจากนั้นจึงเริ่มพิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่ยื่นแบบคำขอ เพื่อประกาศรายชื่อโครงการที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติได้ในวันที่ 11 ธันวาคม 2558 ที่ทางสำนักงาน หรือ www.erc.or.th และเข้าสู่กระบวนการจับฉลากในวันที่ 15 ธันวาคม 2558 และจะประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกอย่างเป็นทางการภายในวันที่ 24 ธันวาคม2558 เพื่อให้ ผู้ที่ได้รับเลือกเข้าร่วมโครงการไปทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายและจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ได้ภายในเดือนกันยายน 2559 ก่อนที่จะประกาศรับซื้อไฟฟ้าในเฟสที่สองและพื้นที่ที่เหลือภายในปี 2559 และกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในปี 2561 (ม.ค. – มิ.ย.)
"ดังนั้น ในระยะนี้หากพบว่ามีการแอบอ้างขายสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ขอให้อย่าหลงเชื่อ เพราะว่า ในระเบียบรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร ข้อ 27 ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า ห้ามมิให้มีการโอนสิทธิและหน้าที่ในคำขอขายไฟฟ้าหรือในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้กับผู้อื่น รวมทั้งห้ามมิให้ผู้สนับสนุนโครงการที่เป็นนิติบุคคล เปลี่ยนแปลงจำนวนผู้ถือหุ้นจนเป็นเหตุให้ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าน้อยกว่ากึ่งหนึ่ง และเปลี่ยนแปลงจำนวนหุ้นที่ถือเหลือน้อยกว่าร้อยละ 51 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดจนกว่าโครงการจะได้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์เป็นระยะเวลา 3 ปี"นายวีระพลฯ ได้กล่าวย้ำ