กรุงเทพฯ--19 พ.ย.--124 คอมมิวนิเคชั่นส คอนซัลติ้ง
เคเอฟซีสร้างร้านเป็นอาคารเขียวผ่านการออกแบบและก่อสร้างที่ใช้วัสดุช่วยลดการใช้พลังงานและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อร่วมกันพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน นำร่องเป็นเจ้าของธุรกิจร้านอาหารบริการด่วนเจ้าแรกของไทย ด้วยการนำมาตรฐาน LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) ซึ่งเป็นระบบการออกแบบและก่อสร้างอาคารที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการประหยัดพลังงานที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในระดับสากลมาใช้ โดยเคเอฟซีตั้งเป้าพัฒนาร้านเคเอฟซีที่สร้างใหม่ในปี 2559 ทุกร้านเป็นอาคารเขียว
มร. ซาเมียล์ อัคคาวอล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ – เคเอฟซี ประเทศไทย , บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "เคเอฟซี ภายใต้บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ได้เริ่มดำเนินการโครงการก่อสร้างร้านอาหารตามมาตรฐานLEED ตั้งแต่ต้นปี 2014 โดยได้เลือกโครงการนำร่องจำนวน 11 สาขา ณ ขณะนี้ทุกโครงการดำเนินการแล้วเสร็จและได้รับใบรับรอง (LEED Certificate) และเปิดการขายครบทุกสาขา ได้แก่ สาขาบิ๊กซี กาญจนบุรี, อยุธยา ซิตี้พาร์ค, เดอะ อัพ พระราม 3, เพียวเพลส ราชพฤกษ์, เพชรเกษม เพาเวอร์ เซ็นเตอร์, รามคำแหง, โลตัส พัฒนาการ, เทพารักษ์, ถนนมหิดล (เชียงใหม่), พาสิโอ กาญจนาภิเษก และสาขาเดอะมู๊ด นครชัยศรี" สำหรับมาตรฐาน LEED ในปัจจุบันมีอยู่ 4 ระดับ ซึ่งจะมีคะแนนตามมาตรฐานที่เพิ่มขึ้นตามลำดับ คือ ระดับที่ 1 Certified, ระดับที่ 2 Silver, ระดับที่ 3 Gold และระดับที่ 4 Platinum โดยร้านเคเอฟซีได้รับ LEED Certificate ระดับ LEED Gold มีถึง 8 สาขาได้แก่ เคเอฟซี เพียวเพลส ราชพฤกษ์, เคเอฟซี เพชรเกษม เพาเวอร์ เซ็นเตอร์, เคเอฟซี รามคำแหง,เคเอฟซี โลตัส พัฒนาการ, เคเอฟซี เทพารักษ์, เคเอฟซี ถนนมหิดล (เชียงใหม่), เคเอฟซี พาซิโอ กาญจนาภิเษก และ เคเอฟซี เดอะมู๊ด นครชัยศรี ส่วนที่เหลืออีก 3 สาขาได้รับการรับรองในระดับ LEED Certified โดยเคเอฟซีเป็นแบรนด์ร้านอาหารรายแรกของไทยที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานนี้
"ร้านเคเอฟซีที่ได้ออกแบบและก่อสร้างตามแนวทางอาคารสีเขียวของ LEED ส่วนใหญ่จะเป็นร้านในรูปแบบไดร์ฟทรู สแตนด์อะโลน ที่มีศักยภาพในการออกแบบได้ตามมาตรฐานของ LEED ซึ่งเคเอฟซีเลือกใช้วัสดุ และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ช่วยลดการใช้พลังงานและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาทิเช่น หลอดไฟ LED ทั้งไฟสว่างในร้านและป้ายร้าน วัสดุตกแต่ง สี กาว ที่มีส่วนประกอบสารระเหยต่ำ ใช้สุขภัณฑ์รวมทั้งอุปกรณ์ที่ประหยัดน้ำ มีที่แยกทิ้งขยะและเตรียมพื้นที่คัดแยกขยะเพื่อการรีไซเคิล ใช้กระจก Low-E ช่วยลดความร้อนจากภายนอกเข้ามาภายในอาคาร ใช้เครื่องปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพสูง และใช้แผ่นหลังคาที่ลดการสะท้อนของรังสีโซลาร์
ผลที่ได้จากการพัฒนาร้านเป็นอาคารเขียวดังกล่าวได้แก่
1) ลดการใช้พลังงานในอาคารได้ 40% (เทียบกับเกณฑ์เฉลี่ยสากลของอาคารประเภทเดียวกัน)
2) ลดการใช้น้ำได้ 60%
3) ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 40%
4) ลดขยะจากการก่อสร้างได้ 75%
5) คุณภาพอากาศภายในอาคารที่ดีต่อสุขภาพของผู้ใช้อาคาร
และ 6) ลดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในระหว่างการก่อสร้าง" มร.ซาเมียล์ กล่าว
มร.ซาเมียล์ กล่าวด้วยว่า นอกเหนือจากมาตรฐาน LEED แล้ว บริษัท ยัม แบรนด์ อิงค์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์เคเอฟซี ได้นำองค์ความรู้ที่ได้จากการสร้างอาคารเขียวด้วยมาตรฐาน LEED ของร้านอาหารในสังกัดทั่วโลก มาพัฒนาเป็นมาตรฐานอาคารเขียวที่มีชื่อเรียกว่า'Blueline' โดยใช้หลักการและแนวทางเดียวกันกับ LEED แต่ได้ปรับให้เฉพาะเจาะจงเข้ากับร้านอาหาร สำหรับมาตรฐาน Blueline จะเน้นไปที่ 6 องค์ประกอบหลักของการออกแบบและก่อสร้างได้แก่ สถานที่ตั้งร้านต้องเอื้อต่อสิ่งแวดล้อม (Site Sensitivity), การประหยัดพลังงาน (Energy Savings), การประหยัดและอนุรักษ์น้ำ (Water Conservation), การใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Sensible Materials), การติดตามผลและตรวจสอบหลังเปิดใช้อาคาร (Quality Assurance), และการให้ความสำคัญกับผู้ใช้อาคาร (People First) ทั้งนี้ร้านที่จะผ่านมาตรฐาน Blueline ต้องผ่านเกณฑ์ข้อบังคับ 27ข้อ (27 Must Haves) และเกณฑ์ที่สามารถเลือกได้อีกอย่างน้อย 20 ข้อ (20 Options) ณ ขณะนี้ ร้านเคเอฟซี ในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Blueline แล้ว มีจำนวน 3 สาขา คือ เคเอฟซี โลตัส คลองหลวง, เคเอฟซี อัศวรรณ 2 (หนองคาย), และเคเอฟซี เดอะวัน บางใหญ่, ส่วนอีก 1 สาขาคือ เคเอฟซี สุวินทวงศ์ กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณา