บีโอไอเฟ้นหาอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ประเดิมเชิญผู้ประกอบถุงมือยาง-เครื่องสุขภัณฑ์ร่วมหารือ

ข่าวทั่วไป Tuesday September 18, 2001 15:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ก.ย.--บีโอไอ
บีโอไอลุยรับบทบาทใหม่ เฟ้นหาอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เชิญผู้ประกอบการจาก 7 กลุ่ม ครอบคลุมอุตสาหกรรมเกือบทุกประเภทเข้าหารือเพื่อระดมความคิดเห็นพัฒนาอุตสาหกรรมไทย ประเดิมพบปะผู้ประกอบการกลุ่มถุงมือยาง ถุงยางอนามัย และเครื่องสุขภัณฑ์ ก่อนเชิญกิจการอื่นเข้าพบตามลำดับจนถึงปลายปีนี้
นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่าบีโอไอได้เชิญผู้ประกอบการจากภาคอุตสาหกรรมของไทยเข้าพบ เพื่อรับทราบถึงภาวะและสถานภาพทางการตลาดของอุตสาหกรรมแต่ละประเภทจากผู้ประกอบการโดยตรง รวมทั้งร่วมวิเคราะห์แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมแต่ละประเภท เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยการดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องกับการปรับบทบาทการส่งเสริมการลงทุนการลงทุนของบีโอไอในอนาคต ในการเป็นหน่วยงาน Intelligence Investment Agency โดยบีโอไอจะเป็นศูนย์กลางข้อมูลทางด้านเศรษฐกิจและการลงทุน ตลอดจนมีการศึกษาและวางแผนการจัดกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในการให้การส่งเสริมการลงทุนต่อไป
นายจักรมณฑ์กล่าวว่า บีโอไอได้เชิญบริษัทผู้ผลิตถุงมือยาง และถุงยางอนามัย เข้าหารือประกอบด้วยบริษัท แอนเชลล์ จำกัด บริษัท สยามเชมเพอร์เมต จำกัด บริษัท ไทยนิปปอนรับเบอร์ อินดัสตรีส์ จำกัด และบริษัท ชัวร์เท็กซ์ จำกัด โดยแม้ภาคการผลิตถุงมือยางและถุงยางอนามัย จะใช้วัตถุดิบในประเทศถึง 90% แต่เป็นการใช้ยางธรรมชาติ 10% ของกำลังการผลิตในประเทศ หากจะเพิ่มการใช้ยางธรรมชาติที่ผลิตในประเทศไทยมากขึ้น ก็ต้องมีการลงทุนในอุตสาหกรรมยางรถยนต์และเส้นยางยืดเพื่อรองรับ
ส่วนการหารือกับผู้ประกอบการเครื่องสุขภัณฑ์ บีโอไอได้เชิญผู้ผลิตเครื่องสุขภัณฑ์รายใหญ่ในประเทศ 8 รายเข้าร่วมหารือ ประกอบด้วย บริษัท กะรัตสุขภัณฑ์จำกัด บริษัท เครื่องสุขภัณฑ์อเมริกันแสตนดาร์ด จำกัด บริษัท สยามชานิทารีแวร์อินดัสตรี้ จำกัด บริษัท ยูเอ็มไอ เลาเฟนเครื่องสุขภัณฑ์ จำกัด บริษัท ไทยอุตสาหกรรมเครื่องดินเผา จำกัด บริษัท ผลิตภัณฑ์เครื่องดินเผา จำกัด บริษัท ซิกม่าเซรามิค จำกัด และบริษัทสตาร์ชานิทารีแวร์ จำกัด โดยอุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์ของไทย เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงมาก มีประโยชน์ต่อท้องถิ่น ทั้งการจ้างงานและการใช้วัตถุดิบ รวมทั้งยังเป็นสินค้าที่ทำรายได้เข้าประเทศปีละหลายพันล้านบาท โดยในปี 2543 ที่ผ่านมาทำรายได้ถึง 3,446 ล้านบาท เลขาธิการ บีโอไอกล่าว
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์เครื่องสุขภัณฑ์ของไทยมีคุณภาพดี เป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในเอเชียและยุโรป โดยเฉพาะตลาดในไต้หวัน เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร และแคนาดา มีการส่งออก เครื่องสุขภัณฑ์ของไทยเพิ่มขึ้นมาก แต่การส่งออกในตลาดสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และฮ่องกงปรับลดลง ทำให้ภาพรวมของการส่งออกเครื่องสุขภัณฑ์ไทยในปีนี้เพิ่มขึ้นเพียง 1%
นายจักรมณฑ์กล่าวว่า ผู้ประกอบการต้องการให้ภาครัฐสบับสนุนการสร้างยี่ห้อสินค้าเครื่องสุขภัณฑ์ของไทย เนื่องจากยังไม่เป็นที่รู้จักในตลาดต่างประเทศทำให้ไม่สามารถเจาะตลาดใหม่ๆ ได้ รวมทั้งตัวสินค้าซึ่งยังขาดเรื่องการออกแบบ ดังนั้น บีโอไอจะช่วยผลักดันอุตสาหกรรมนี้ในเชิงพัฒนา โดยเฉพาะในเรื่องการพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีความสามารถในการออกแบบตลอดจนการให้ความช่วยเหลือในการหาตลาดและเจาะเข้าไปในตลาดเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง
นายจักรมณฑ์กล่าวด้วยว่า การเชิญภาคเอกชนจากกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆเข้าร่วมหารือจะดำเนินการไปจนถึงปลายปี 2544 นี้ เพื่อรวบรวมข้อมูลของแต่ละอุตสาหกรรมมาพิจารณา เพื่อจัดทำรายงานการศึกษาในเรื่องอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ก่อนที่จะนำเสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน--จบ--
-วว-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ